สวนรุกขชาติน้ำพอง (โสกแต้) ...ดีเกินกว่าที่คาด
สวนรุกขชาติน้ำพอง (โสกแต้) หน่วยพิทักษ์อุทยานฯน้ำพอง (หินช้างสี) สถานที่ ที่ถูกใจทั้งคน ‘รักธรรมชาติ’ และถูกใจทั้งคนรัก ‘ประวัติศาสตร์’ ผ่านไป ‘เที่ยวขอนแก่น’ อย่าลืมแวะชม
เป็นอีกที่หนึ่งที่ผมต้องปรับมุมมองใหม่ในการเดินทาง เพราะผมเดินทางบนถนนสายนี้ สายที่แล่นผ่าน สวนรุกขชาติน้ำพอง (โสกแต้) นี้หลายครั้งมาก เคยเห็นก็เคย แต่ไม่เคยแวะและไม่เคยคิดจะแวะ ด้วยคิดว่าคงไม่มีอะไร แต่ที่ไหนได้ พอได้แวะไปจริงๆ ต้องมาถามตัวเองว่า เรามัวไปไหนมา จึงผ่านสถานที่แห่งนี้ไปได้ตั้งนาน
ผมว่าท่านผู้อ่านคงเคยไป หินช้างสี หรือเคยได้ยินชื่อบ้าง จะเห็นว่าภูเขาอันเป็นที่ตั้งของหินช้างสีนั้นจะขนานแนวไปกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ด้านล่างก็จะเป็นถนนสาย 2063 ซึ่งจะแล่นเลียบริมน้ำ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ไปจนถึงอำเภออุบลรัตน์ ซึ่งถนนสาย 2063 นี้ก็จะต่อมาจากถนนสาย 4064 ที่แยกมาจากถนนสายหลัก สายขอนแก่น-ชุมแพ (หมายเลข 12) สวนรุกขชาติน้ำพอง(โสกแต้) ก็อยู่ปลายภูเขาลูกเดียวกับที่ตั้งของ หินช้างสี นี่ละครับ อยู่ติดถนนเลย
เวลาที่เรามาจากขอนแก่นจะมา หินช้างสี เราจะใช้ถนนหมายเลข 12 ที่จะมุ่งหน้าไปชุมแพ จะผ่านอำเภอบ้านฝาง อำเภอหนองเรือ แล้วไปชุมแพใช่ไหมครับ ถ้าเราจะไปหินช้างสี เราก็จะแยกขวาตรงย่าน ‘อำเภอบ้านฝาง’ แล้วไปตามทาง ผ่าน ‘ตำบลโคกงาม’ และไปถึงแยกใหญ่ ‘คำหญ้าแดง’ แยกนี้ละครับที่ถ้าตรงไป ก็จะค่อยๆขึ้นเขา ทางคดโค้งไปมา จนไปถึง
หน่วยพิทักษ์อุทยานฯน้ำพอง(หินช้างสี) แล้วขากลับ ถ้าเราจะไปเขื่อนอุบลรัตน์ ไปภูเก้า-ภูพานคำ หรือจะไปอุดร ก็ไม่ต้องย้อนทางเดิม สามารถตัดลัดตรงแยกคำหญ้าแดงนี่ละครับ ไปแล่นเลียบอ่างเก็บน้ำ ซึ่งถ้าผมไปหินช้างสีแล้วจะไป เขื่อนอุบลรัตน์ ต่อ จะใช้ทางเส้นนี้บ่อยมาก
ถนนช่วงนี้ละครับ ที่มันจะผ่านด้านหน้า สวนรุกขชาติน้ำพอง ซึ่งผมก็เห็นทุกครั้ง แต่ไม่เคยแวะเลยอย่างที่บอกไปแต่ต้น ซึ่งนับว่าพลาดโอกาสอย่างมาก คราวนี้ลองแวะเข้าไปเลยครับ
สวนหิน ทางลงไปภาพเขียนสี
สวนรุกขชาตินี้ ขึ้นอยู่กับสำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีเนื้อที่ในการดูแลแค่ 337 ไร่แค่นั้น พื้นที่เขาส่วนใหญ่จะเป็นป่าเต็งรัง ภาระหน้าที่เขาก็อย่างกับชื่อสำนักที่เขาสังกัด คือเป็นแหล่งศึกษาวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ ให้ความรู้ในเรื่องต้นไม้ใบหญ้าแก่สาธารณะ และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
พอเข้ามาในพื้นที่เขาซึ่งสองทางถนนทางเข้า จะร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ ให้ความร่มรื่นอย่างมาก เข้าไปนิดเดียว ท่านผู้อ่านจะเห็นอาคารให้ความรู้ อาคารจัดแสดง ที่ทำการของสวน ส่วนลานจอดรถจะอยู่ใกล้ๆทางเดินไปที่ทำการนะแหละ
ทิวทัศน์ด้านหน้าผาโสกแต้
แค่เปิดประตูรถลงมา มองไปทางทิศตะวันตก ผมก็ต้องอุทานว่า...
“เฮ้ย...นี่มันจุดชมวิวนี่หว่า”
ใช่แล้วครับ เพราะแนวภูเขาด้านทิศตะวันตก จะเป็นแนวหน้าผาหินทราย ที่ทิวทัศน์ด้านล่างคือทุ่งนา ชุมชน และชายน้ำของ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ นั่นเอง หน้าผาจะเป็นแนวยาวเลย ซึ่งจะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมาก ตอนผมไปนั้นฝนตกพรำๆตลอด เลยอดดูพระอาทิตย์ตก มาค้นดูรูปของสถานที่เขาที่เป็นรูปพระอาทิตย์ตกแล้วสวยมาก
นอกจากนั้นเขายังทำสวนเด็กเล่น มีเครื่องเล่นที่เสริมทักษะเด็กๆ มีการทำเป็นเฉลียงยื่นออกไปนอกแนวหน้าผา ให้เรามานั่งชิลๆ รับลมเย็นๆ ดูทิวทัศน์ได้ นอกจากนั้น เขายังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติซึ่งเสียดายที่ผมไปในช่วงมีฝนตลอดเวลา เลยไม่ชวนให้เดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
อีกทั้งมีลานหินกว้าง มีศาลาให้นั่งพักผ่อน ทุกจุดที่ผมว่ามานี้นะครับ คนพิการที่นั่งรถแข็น สามารถไปถึงได้ทุกจุด นี่ไงที่ผมถึงบอกว่าน่าไปเที่ยวชมอย่างมาก
ที่นี่เขายังมีบ้านพักไว้บริการ และที่สำคัญ มีลานกางเต็นท์ใกล้หน้าผา น่านำรถบ้านไปจอดนอนรับบรรยากาศของป่า หรือไปตั้งแคมป์อย่างมาก เพราะเป็นบรรยากาศป่าๆที่รายล้อมร่มรื่น อากาศเย็นสบายติดหน้าผาชมวิว เดินทางสะดวกมาก
จุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม
แนวหน้าผาโสกแต้
และไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผาฝ่ามือแดง ซึ่งอยู่ในเพิงหินทรายด้านล่าง เขาทำเป็นทางเดินลงอย่างดีทางไม่ชันนัก เป็นเพิงหินสูงราว 3 เมตร มีชะง่อนหนยื่นออกมานิดเดียว
ภาพฝ่ามือแดง
สิ่งที่ปรากฏคือภาพเขียนก่อน ประวัติศาสตร์ เป็นรูปฝ่ามือ ทึบ เขียนด้วยสีแดงเลือดนก จำนวน 2 ภาพ อย่างชัดเจน และมีร่องรอย เขียนที่บ่งบอกไม่ได้ว่าเป็นรูปอะไร เพราะเลือนราง และหินกระเทาะไปบางส่วน จนคาดเดาภาพไม่ได้อีกจำนวนหนึ่ง แต่เขามีป้ายอธิบายความไว้ด้วนด้านหน้าเพื่อให้ความรู้อยู่
อย่างที่ผมเคยเขียนเล่าไปแล้วในเรื่องภาพเขียนสมัยก่อน ประวัติศาสตร์ ว่า เราพอจะอนุมานอายุเอาจากภาพเขียนที่ผาแต้มได้ คือมีอายุราว 2,000-3,500 ปี ล่วงมาแล้ว เขียนด้วยแร่ธาตุจากดินหรือหิน ผสมยางไม้บางชนิด มักเขียนบนผนังของเพิงหินผาที่มีลักษณะพื้นผิวค่อนข้างเรียบ
ป้ายอธิบายความฝ่ามือแดง
ถ้าภาพเขียนเป็นช่วงก่อนประวัตศาสตร์ คนที่เขียนก็ต้องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งลักษณะรอยฝ่ามือนี้มักจะพบเห็นได้มากทางแถบผาแต้ม อุบลราชธานี
แล้วเขียนทำไม ในเพิงถ้ำที่มีเพิงคุ้มแดด คุ้มฝนได้นั้น ก็คาดกันว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของคนในสมัยก่อน แต่เพิงถ้ำแต่ละแห่ง ไม่ใช่ที่อยู่ถาวร เขาจะย้ายไปเรื่อยตามแหล่งอาหารที่หาได้จากธรรมชาติ (คนเริ่มจะอยู่เป็นที่เป็นทางก็เมื่อเข้าสู่ยุคการทำการเกษตรมีการเพาะปลูกนี่เอง)
เพิงรูปรอยฝ่ามือแดง
ในระหว่างที่อยู่ในถ้ำ ก็มีการวาด วาดเพื่อเป็นการบันทึกเรื่องราว วาดเพื่อบ่งบอกอาณาเขต วาดเพื่อแสดงตัวตน หลายเหตุผล ที่นักโบราณคดีเขาสันนิษฐาน ผมก็จำขี้ปากนักวิชาการมาเล่าต่อครับ บางที่เพิงมันเล็กจนไม่น่าอยู่อาศัยได้ อย่างเช่นที่โสกแต้แห่งนี้ก็มีการวาดภาพไว้ หรืออย่างบางที่ก็อยู่ห่างจากแหล่งน้ำมากเกินไป เช่น อยู่บนภูเขาสูง ห่างแหล่งน้ำ ก็มีภาพวาด อย่างถ้ำตาด้วง ที่เมืองกาญจน์ หรือเขาปลาร้าที่อุทัยธานี เป็นต้น
แต่รูปภาพบางแห่ง มีการเขียนภาพคล้ายการประกอบพิธีกรรม มีเครื่องแต่งกาย มีอุปกรณ์ที่คาดว่าเป็นกลองมโหระทึกในภาพ หรือมีการวาดภาพสัตว์เลี้ยง นั่นแสดงว่าอาจจะมีการรวมกลุ่มของคนแล้ว อาจอยู่เป็นชุมชนแล้ว อย่าลืมนะครับว่า วัฒนธรรมบ้านเชียง ที่อุดรฯ ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 5,600 ปี ก็มีการรวมกลุ่ม ตั้งชุมชน มีความสามารถปั้นหม้อ ปั้นไหใช้แล้ว ดังนั้นไม่ใช่การอยู่อาศัยในถ้ำแน่
หรือจากการขุดค้นโครงกระดูกโบราณ ทั้งที่บ้านปราสาท โคราช หรือที่โนนเมือง ชุมแพ ขอนแก่น ที่มีอายุราว 3,000 ปี ก็เป็นวัฒนธรรมการฝังศพ มีเครื่องประดับ มีประเพณีแล้ว ไม่ใช่ช่วงมนุษย์เร่ร่อน นอนตามถ้ำแน่ ถ้ามีกลองสำริดในภาพ อย่างน้อยก็ยุคสำริด (4,000-2,700 ปี)
ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่เขียนตามเพิงถ้ำอย่างเดียวนะ เขาอาจจะมีการเขียนตามผนังสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เพียงแต่สิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นมันพังทลายลงไป แต่เพิงถ้ำ ยังอยู่ เราเลยเห็นแต่ที่อยู่ตามผนังเพิงถ้ำ ก็อาจจะเป็นไปได้
ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านสนใจใคร่รู้เรื่องภาพเขียนก่อนประวัตศาสตร์เหล่านี้ มีหนังสือ ตำรา หรือความรู้ที่เผยแพร่มากมาย เข้าไปศึกษา ไปหาอ่านกันได้ครับ อ่านหลายๆท่านผู้รู้ แล้วเราก็มาวิเคราะห์เองบ้างก็ได้ เรื่องราวในอดีต ไม่มีใครไปผูกขาดหรอกครับ ถ้าเรามีเหตุผล มีหลักฐานที่มาสนับสนุนดีๆ เราจะเสนอข้อสันนิษฐานใหม่ก็ได้ ก็ดูแต่เดี๋ยวนี้ มีนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์เสนอสมมุติฐานใหม่ๆ ออกเยอะแยะ
อย่างที่ผมเล่ามา จะเห็นว่า สวนรุกขชาติน้ำพอง (โสกแต้) แห่งนี้ เป็นทั้งที่พักผ่อนแบบมาแค่ชั่วครู่ หรือจะมากางเต็นท์พักแรมนอน 2-3 วัน ก็ได้ ถูกใจทั้งคน รักธรรมชาติ และถูกใจทั้งคนรักประวัติศาสตร์ สมกับที่นี่ถูกเลือกให้เป็นป่าในเมือง ป่าที่คนเมือง หรือคนไหนๆ ก็สามารถใช้พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ศึกษาหาความรู้ได้
มีดีใกล้ตัว มีดีในบ้าน ผ่านไปก็อย่าลืมมาลองแวะดูครับ.....