นักท่องเที่ยวเยอะดีจริงหรือ..เหตุใดภูฏานคิดต่าง?!

นักท่องเที่ยวเยอะดีจริงหรือ..เหตุใดภูฏานคิดต่าง?!

ภูฏาน...ดินแดนที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "แชงกรีลาแห่งสุดท้าย" จากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ การพัฒนาที่ยั่งยืน และมรดกทางวัฒนธรรม รายได้จากการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ

ก่อนการแพร่ระบาดของ Covid-19 รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในขณะที่หลายประเทศพยายามใช้ทุกวิถีทางดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภูฏานมีนโยบายจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว

เพราะแม้จะนำมาซึ่งรายได้ของประเทศ แต่อาจทำลายความเข้มแข็งของชาติ ไม่ว่าจะด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ

แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการพัฒนาของภูฏานที่วัดความเจริญผ่าน ดัชนีความสุขของประเทศ (Gross National Happiness: GNH) แทนการใช้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

นับแต่เปิดประเทศในปี พ.ศ. 2517 ภูฏานมีนโยบายการท่องเที่ยวแบบ High Value, Low Volume หมายถึง “เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ" โดยกำหนดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องจ่ายเงินอย่างน้อยวันละ 250 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9,000 บาทต่อวันล่วงหน้า

ซึ่งครอบคลุมค่าที่พัก อาหารที่จำเป็น ค่ามัคคุเทศก์ รวมถึง "ภาษีค่าธรรมเนียมการพัฒนาที่ยั่งยืน" จำนวน 65 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณ 2,400 บาทต่อวัน

ในปี พ.ศ. 2562 มีชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวภูฏานมากถึง 315,000 คน ส่งผลกระทบเชิงลบต่อชุมชนชาวภูฏาน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรมท้องถิ่น สถานที่ทางศาสนา วัดวาอารามมีความแออัด ประชาชนไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางศาสนา

ยิ่งไปกว่านั้น พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของนักท่องเที่ยวปรากฏแพร่หลาย อาทิ การเปิดเสียงเพลงดัง การทิ้งขยะไม่เป็นที่ ผลเสียทางสังคม ทำให้รัฐบาลของภูฏานได้กลับมาทบทวน ปรับปรุงนโยบายการคัดกรองนักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวเยอะดีจริงหรือ..เหตุใดภูฏานคิดต่าง?!

ปลายปี พ.ศ. 2565 รัฐสภาภูฏานได้ปรับเพิ่มภาษีค่าธรรมเนียมการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับผู้มาเยือนจากคนละ 65 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และต่อมาได้มีการปรับลดให้มีความเหมาะสม ณ ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นประมาณคนละ 3,600 บาทต่อวัน

เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปเป็นงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม กล่าวคือ

ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น จะถูกจัดสรรเป็นเงินทุนสำหรับการลงทุนระดับชาติในโครงการที่อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโครงการเพื่อความยั่งยืน อาทิ โครงการคาร์บอนติดลบ

แม้รัฐธรรมนูญของภูฏานบัญญัติให้ร้อยละ 60 ของผืนแผ่นดินต้องเป็นป่าไม้ อีกทั้งมีกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ  การเข้ามาของนักท่องเที่ยวส่งผลให้มีปริมาณคาร์บอนเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการปลูกต้นไม้จำนวนมากเพื่อชดเชย รวมถึงการพัฒนาระบบไฟฟ้าโดยอาศัยพลังงานน้ำ เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล

นักท่องเที่ยวเยอะดีจริงหรือ..เหตุใดภูฏานคิดต่าง?!

ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 ภูฏาน ปานามา และสุรินามา เป็นสามประเทศที่มีคาร์บอนติดลบ โดยภูฏานกักเก็บคาร์บอนได้ 9.4 ล้านตัน เทียบกับการปล่อยก๊าซที่ 3.8 ล้านตัน

รัฐบาลเชื่อว่า การเพิ่มภาษีค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาความยั่งยืนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่เพียงแต่สร้างประโยชน์ต่อประเทศในเชิงสังคม แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อภูฏานในด้านเศรษฐกิจ

Dorji Dhradhul ประธานสภาการท่องเที่ยวภูฏานให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “การท่องเที่ยวก็เหมือนกับแร่ธาตุที่จะต้องได้รับการอนุรักษ์สำหรับคนรุ่นต่อไป แม้ว่าคนรุ่นปัจจุบันอาจต้องเสียสละและสูญเสียกำไรบางส่วนในระยะสั้น แต่ระยะยาว ประชาชนของประเทศนี้ทุกคนจะได้รับประโยชน์ เราจะส่งต่อสิ่งที่ดี ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ให้กับคนรุ่นหลัง...”