เที่ยวงานกาชาด 2566 ย้อนรอย ๑๐๐ ปี จากอดีตสู่ปัจจุบัน ณ สวนลุมพินี-ออนไลน์
เที่ยวงานกาชาด 2566 ย้อนรอยวันกาชาด ๑๐๐ ปี จากอดีตสู่ปัจจุบัน ระหว่างวันที่ 8-18 ธันวาคม 2566 ณ สวนลุมพินี และออนไลน์บนเว็บไซต์ www.redcrossfair.com
ชวนออเจ้าเที่ยว งานกาชาด 2566 หรือ งานกาชาดประจำปี 2566 ย้อนรอย วันกาชาด ๑๐๐ ปี จากอดีตสู่ปัจจุบัน ภายใต้คอนเซ็ปต์ "กาลก่อน • กาลนี้ • กาลหน้า - สำราญใจในวันวานกับงานวันกาชาด 100 ปี" เชิญชวนร่วมย้อนวันวานไปกับมหรสพรื่นเริงการกุศลคู่คนไทยที่กำลังหวนกลับมาอีกครั้งให้หายคิดถึงที่ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานรื่นรมย์และความสุขจากการได้มาเที่ยวงานกาชาด และพบกับศิลปินและนักแสดง อาทิ คุณแป้งร่ำ ศิวนารี และคุณอิสร์ อิสรพงศ์ ศิลปินจาก GMM Music ร่วมด้วย คุณหลุยส์ เฮส และคุณโอ๊ต รัฐธีร์ นักแสดง ช่อง 7HD
และแฟชั่นโชว์จากนายแบบนางแบบกิตติมศักดิ์ ชุด "นุ่งโจงห่มไทยเที่ยวงานวันกาชาด" ได้รับการสนับสนุนฝีมือการดีไซน์และตัดเย็บจากแบรนด์พิมตะวัน จังหวัดปทุมธานี จบท้ายด้วยการแสดง "รำวงมรดกไทย" จากกระทรวงวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ 8-18 ธันวาคม 2566 ณ สวนลุมพินี และออนไลน์บนเว็บไซต์ www.redcrossfair.com
- ย้อนรอย ๑๐๐ ปี งานวันกาชาด จากอดีตสู่ปัจจุบัน
งานวันกาชาดจัดขึ้นครั้งแรกใช้ชื่อว่า “การรับประชาสมาชิก พุทธศักราช ๒๔๖๖” ณ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2465 ถึง วันที่ 8 เมษายน 2466 ซึ่งสมัยนั้นใช้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อหาประชาสมาชิก โดยเสียค่าบำรุง 1 บาทต่อปี มีผู้สมัครถึง 13,436 คน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมหรสพรื่นเริงการกุศล และจัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อหารายได้บำรุงสภากาชาดไทย
จากศรัทธาใหญ่หลวงของปวงชน ทำให้สนามหลวง “ท้องพระโรงกลางแจ้ง” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กลายเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ได้แสดงถึงความผูกพันอันแน่นแฟ้น ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับพสกนิกรไทยมาทุกยุคทุกสมัย เป็นสถานที่ที่ใช้จัดงานสำคัญของชาติ ทั้งพระราชพิธี รัฐพิธี และประชาพิธีมาโดยตลอด รวมทั้งยังเป็นจุดกำเนิดของการจัด “งานวันกาชาด” ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับประเทศเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
ใน พ.ศ.2465-2466 มีการจัดกระบวนแห่รถ กิมมิกเด็ดในงานวันกาชาดยุคแรก เป็นของแปลกใหม่ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งยังเพื่อหาประชาสมาชิกบำรุงสภากาชาดสยาม ณ ท้องสนามหลวง ในครั้งนั้น มีกระบวนรถยนต์ กระบวนรถม้า และ กระบวนจักรยาน ประมาณ 30 คัน มาร่วมในกิจกรรม ทำให้ประชาชนให้ความสนใจกับการแสดงอย่างคึกคักทำให้มีประชาชนหลั่นไหลมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2467 มีการจัดงานวันกาชาดครั้งที่ 2 ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ใช้ชื่องานว่า “การแห่กาชาดและการรับประชาสมาชิก” และยังมีการจัดแสดงโชว์กระบวนรถแห่ดังเข่นในงานครั้งแรก ทำให้มีประชาชนให้ความสนใจมาเที่ยวชมงานหนาแน่นเหมือนเช่นเดิม
พ.ศ.2467 “การแข่งขันว่าว” ครั้งแรก โดยมีพระยาภิรมย์ภักดีเป็นนายสนามว่าว ณ ท้องสนามหลวง มีผู้นำว่าวจุฬาและว่าวปักเป้าเข้าแข่งขันเป็นจำนวนมาก เก็บเงินบำรุงได้ถึง 3,443 บาท 67 สตางค์ โดยเงินจำนวนนี้พระยาภิรมย์ภักดีได้แสดงเจตจำนงบริจาคไว้ เป็นทุนสำหรับเตียงคนไข้ 1 เตียง 3,000 บาท
ถัดมาในพ.ศ. 2470 ได้กำหนดให้วันที่ 6 เมษายนเป็น “วันงานกาชาด” แทนและเพิ่มวันจัดงานเป็น 2 วันเต็ม คือวันที่ 6 – 7 เมษายน พ.ศ. 2470 นอกจากนั้นยังมี กิจกรรม “นางอนามัยทายน้ำหนักตัว” ที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากโดยให้นางอนามัยทายน้ำหนักตัวผู้เล่น มีกติกา ว่า....ผู้ใหญ่จ่ายเงิน 25 สตางค์ เด็กจ่ายเงิน 10 สตางค์ จากนั้นนางอนามัยจะทายน้ำหนักตัว หากทายผิดไปกว่า 5 ปอนด์ ผู้เข้าร่วมก็จะได้รับรางวัลไป แต่ถ้าทายถูก เงินนั้นจะนำไปสมทบทุนอนามัยต่อไป ซึ่งในปีนั้นมีสมาชิกใหม่ในกรุงเทพฯมากถึง 19,589 ราย
- ควานสนุกสนานของงานวันกาชาด ณ พระราชอุทยานสราญรมย์
ในปี พ.ศ. 2471 จากการจัดงานที่ท้องสนามหลวง เติบโตสู่พระราชอุทยานสราญรมย์ และได้เพิ่มการจัดงานขึ้นเป็น 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 – 8 เมษายน พ.ศ. 2471 และกำหนดชื่อของงานอย่างเป็นทางการว่า “งานวันกาชาด”
โดยนิตยสารนิสิตนักศึกษา ฉบับพิเศษวันกาชาด พ.ศ. 2512 เล่าถึงการวางระเบียบงานวันกาชาดไว้ว่า
“ผู้ที่จะผ่านประตูเข้าไปในงานได้ จะต้องประดับเข็มเครื่องหมายของสภากาชาดอย่างใด อย่างหนึ่งเท่านั้น เฉพาะประชาสมาชิกต้องประดับเข็มปี 2471...”
การตั้งกฎเช่นนี้เป็นกุศโลบายในการหาสมาชิกเพิ่ม เพราะผู้ที่เป็นสมาชิกเท่านั้น จึงจะมีเข็มเครื่องหมายของสภากาชาดสยาม ทำให้งานในปีนั้น มีผู้สมัครเป็นประชาสมาชิกในกรุงเทพฯ จำนวนมากถึง 18,016 ราย
งานวันกาชาด ได้พยายามหาสิ่งแปลกใหม่ที่น่าสนใจมาจัดแสดงเพิ่มขึ้นทุกปีที่นับว่าแปลกใหม่และน่าตื่นเต้น ในช่วงเวลานั้นอีกอย่าง คือ “การสอยผลกัลปพฤกษ์” ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสอยดาวในปัจจุบัน
เนื่องจากความเชื่อที่มีมาแต่โบราณว่า สมัยพระศรีอาริย์ มีต้นกัลปพฤกษ์ขึ้นทั้งสี่มุมเมือง ใครปรารถนาสิ่งใดก็ไปขอได้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า แพรพรรณ ฯลฯ ประเพณีงานหลวงสมัยก่อนจึงมีต้นกัลปพฤกษ์สำหรับทิ้งทาน โดยผลกัลปพฤกษ์นั้นทำจากผลไม้จำพวกมะกรูด มะนาว หมาก และมีเงินบรรจุไว้ข้างใน
โดยค่าสอยกัลปพฤกษ์ ไม่ได้กำหนดราคาแน่นอน เป็นเรื่องของศรัทธา เพราะทุกคนทราบดีว่าเงินที่ได้จะนำไปใช้ในการกุศลของรางวัลในสมัยนั้น ได้แก่ เครื่องยา เครื่องเวชภัณฑ์ เครื่องบรรเทาทุกข์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ทว่าบางรายเมื่อสอยได้แล้ว ก็ไม่ขอรับรางวัลกลับไป โดยคืนให้ใช้เป็นรางวัลต่อไป ถึงเป็นการร่วมสนุกและสร้างกุศลไปด้วย
เรียกได้ว่า ภายในงานมีกิจกรรม ที่สนุกสนานบันเทิงเพิ่มขึ้นหลายอย่าง เช่น ละครของอนุสภากาชาด การแสดงงิ้ว 3 โรง การฉายภาพยนตร์ของบริษัทพัฒนากรและกรมสาธารณสุข การแสดงพิณพาทย์ของวังบางขุนพรหมและกระทรวงวัง รวมทั้งแตรวงทหารบก ทหารเรือ ที่ยังคงได้รับความนิยมเช่นเคย และที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ การแสดงมอเตอร์ไซค์ไต่ถังเหล็ก ซึ่งเรียกเสียงฮือฮา จากประชาชนได้เป็นอย่างมากของ คือ การแสดงของ “นายเลื่อน พงษ์โสภณ” หรือ “เลื่อน กระดูกเหล็ก”
นอกจากนี้ยังมีการแสดงประเภทศิลปะการต่อสู้ให้ประชาชนได้ชมมากมาย อาทิ การแสดงกระบี่ กระบอง ที่สร้างเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างยิ่ง
และอีกหนึ่งการแสดงกลางแจ้งที่สนุกสนานไม่แพ้กัน คือ การแสดงมวยตับจาก เป็นกีฬาพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยก่อนทำการชก นักมวยทั้งคู่จะต้องผูกตาด้วยผ้าและจับให้อยู่คนละมุมมีกรรมการอยู่กลางเวที 1 คน จากนั้น เมื่อสัญญาณเริ่มชก นักมวยจะเดินออกจากมุมเพื่อหาคู่ต่อสู้และต่อยกัน โดยจะฟังเสียงคู่ต่อสู้ จากฝีเท้าที่ดังกรอบๆแกรบๆ ของใบจากที่ปูไว้เพื่อจับทิศทางของคู่ต่อสู้ตนเอง
พ.ศ. 2461 กรมพระนครบาลและคณะกรรมการจัดงานฤดูหนาวที่จัดขึ้นในสวนจิตรลดา เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ออกลอตเตอรี่เพื่อเก็บเงินบำรุงสภากาชาดสยาม และกองเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรก และได้เว้นว่างไป 10 ปี จนมาถึง พ.ศ. 2476 ได้มีการออกลอตเตอรี่อีกครั้งเพื่อเก็บเงินบำรุงการกุศลและเป็นค่าใช้จ่ายในการสาธารณประโยชน์แก่สภากาชาดสยาม และทำการประกาศผลการออกรางวัลสลากต่อหน้าคณะกรรมการและประชาชนในงานวันกาชาด ณ พระราชอุทยาสราญรมย์ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก และกลายเป็นอีกหนึ่งช่องหนึ่งที่ทำให้ได้เงินเข้ามาบำรุงสภากาชาดสยามเป็นจำนวนมากเช่นกัน
อ้างอิง : งานกาชาด Red Cross Fair