สุวัจน์ เปิดงาน มหัศจรรย์ 100 ไร่ ราชภัฏโคราช ชู Destination การท่องเที่ยวอีสาน

สุวัจน์ เปิดงาน มหัศจรรย์ 100 ไร่ ราชภัฏโคราช ชู Destination การท่องเที่ยวอีสาน

'สุวัจน์' เปิดงานท่องเที่ยวศูนย์เรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุข ครั้งที่ 8 พื้นที่ 100 ไร่ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.66 - 7 ม.ค.67

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานเปิดงานโครงการท่องเที่ยวศูนย์เรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างมีความสุข ครั้งที่ 8 'สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา ต่อการพัฒนาความมั่นคงทางด้านอาหาร' ประจำปี 2566 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 

 

 

โดยมี ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา และผู้มีเกียรติร่วมพิธี ในบรรยากาศทุ่งดอกไม้ที่เนรมิตรพื้นที่ 100 ไร่ ณ ศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยทางการเกษตร (100 ไร่) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ตำบลไชยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

 

นายสุวัจน์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดโครงการท่องเที่ยวเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ เพื่อความสุขขึ้นเป็นปีที่ 8 โดยใช้พื้นที่ของศูนย์อบรมและวิจัยทางการเกษตร 100 ไร่ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ดําเนินการต่อเนื่องมาถึง 8 ปี และการดําเนินการนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง เพราะเป็นเรื่องของงานทางด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ใหญ่ ตั้งอยู่กลางเมืองแล้วใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมวิจัยของด้านการเกษตร

 

ฉะนั้นนอกจากจะได้เป็นประโยชน์ทางด้านวิชาการแล้ว ยังได้ประโยชน์ในเรื่องของการท่องเที่ยว ถือว่าเป็น Destination การท่องเที่ยวอีสาน ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ประกาศรับรอง เพราะการจัดงานแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเป็นจํานวนมากทั้งคนโคราช และจังหวัดอื่น

 

การท่องเที่ยววันนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสําคัญ ฉะนั้นการที่เราได้มีการพัฒนาทางด้านวิชาการด้วย และเป็นเรื่องของการต่อยอดทางวิชาการให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์

 

สุวัจน์ เปิดงาน มหัศจรรย์ 100 ไร่ ราชภัฏโคราช ชู Destination การท่องเที่ยวอีสาน

 

 

นายสุวัจน์ กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลให้ความสําคัญในเรื่องของการต่อยอดในเรื่องของ soft power เพราะจะเป็นประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยว เป็นประโยชน์ทางด้านในเรื่องของอุตสาหกรรม ในเรื่องเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมาถือว่าเป็นจังหวัดที่มีจุดแข็ง ในเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เรียกว่า soft power อาทิ เรามีภาษาโคราช , อาหารโคราช , ผ้าไหมโคราช , เพลงโคราช และมวยไทยโคราช เป็นจังหวัดเดียวที่เป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ที่ชัดเจน สามารถที่จะนํามาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเรื่องทางเศรษฐกิจในเรื่องของอุตสาหกรรม

 

ถ้าสถาบันมหาวิทยาลัยราชภัฏ จะใช้สถานที่แห่งนี้ ซึ่งเป็นสถานที่ใหญ่มาก ก็สามารถจะต่อยอดในเรื่องของ soft power ต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งตนได้เห็นการพัฒนาของมหาวิทยาลัย ในเรื่องของเนื้อแพะ ที่จะมาเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

 

จากเดิมที่มี เนื้อโคราชวากิว ที่มีชื่อเสียงแล้ว ต่อไปอาจจะเป็นเนื้อแพะโคราช ที่จะมีชื่อเสียง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเป็นอีกอาหารหนึ่งที่นักท่องเที่ยวมาโคราชต้องอยากมาชิมเนื้อแพะโคราช สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และตรงกับเจตนารมณ์ของการจัดตั้งมหาลัยราชภัฏนครราชสีมา 

 

นอกจากงานวิชาการ ก็เป็นเรื่องของการพัฒนาท้องถิ่น และสถานที่อย่างนี้ ก็เป็นแบบอย่างหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย เพราะว่าเป็นสถานที่ที่เราต้องการให้ท่านผู้มาเยือนได้รู้ถึงการใช้ชีวิตที่จะอยู่กับธรรมชาติ ให้มีความสุข

 

'วันนี้เป็นเทรนด์ของโลกในเรื่องโลกร้อน ในเรื่องกรีน (Green) ในเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ในเรื่องความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ ฉะนั้น สถานที่แห่งนี้สามารถที่จะเป็นภาพลักษณ์ เป็นตัวแทนของวิชั่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ต่อการพัฒนาประเทศ ในสภาวะสถานการณ์ในปัจจุบัน ต้องขอบคุณท่านผู้บริหารทุกท่าน ที่ได้จัดงานอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาความเติบโตขึ้นทุกปีก็ขอให้การจัดงานได้ประสบความสำเร็จ' นายสุวัจน์ กล่าว 

 

โครงการ 'งานเกษตร 100 ไร่ ราชภัฏโคราช 66' จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2566 - วันที่ 7 มกราคม 2567 ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจัดทำแปลงไม้ดอกไม้ประดับนานาพันธุ์ การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร นักท่องเที่ยวจะได้รับชมสวนผักตามฤดูกาล โซนเห็ดเศรษฐกิจ สนุกสนานกับโซน มหัศจรรย์แพะแกะ Goat and Sheep Land และมหกรรมแพะอีสาน ชิมผลิตภัณฑ์จากแพะ และการจัดตู้ปลาสวยงาม

 

สุวัจน์ เปิดงาน มหัศจรรย์ 100 ไร่ ราชภัฏโคราช ชู Destination การท่องเที่ยวอีสาน

 

สุวัจน์ เปิดงาน มหัศจรรย์ 100 ไร่ ราชภัฏโคราช ชู Destination การท่องเที่ยวอีสาน