การท่องเที่ยวไทยยังแข่งขันได้จริงหรือ?
ภาคท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนโควิด สะท้อนจากรายได้โดยตรงจากนักท่องเที่ยวที่คิดเป็นประมาณ 18% ของ GDP และยังไม่นับ GDP โดยอ้อมจากการบริโภคของแรงงานเกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวกว่า 8 ล้านคน
ทุกภาคส่วนจึงหวังว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี หลังไทยเปิดให้เดินทางระหว่างประเทศตามปกติมาแล้วเกือบปีครึ่ง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าสุดยังกลับมาได้เพียงแค่ 78%
จึงเกิดคำถามว่า แม้ในช่วงก่อนโควิด ไทยเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอันดับที่ 13 ของโลก ที่ 3 ของเอเชีย เป็นรองแค่จีนและฮ่องกง และเป็นที่ 1 ของอาเซียน
แต่หลังโควิด ไทยยังแข่งขันในด้านการท่องเที่ยวได้ดีเหมือนเดิมหรือไม่? ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายประเทศต่างก็เร่งพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยว โดยหวังให้ภาคท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นเดียวกับไทย
บทความนี้จะวิเคราะห์โจทย์ดังกล่าวด้วยข้อมูลดัชนี Travel & Tourism Development (TTDI) ที่จัดทำโดย World Economic Forum ตั้งแต่ปี 2550
TTDI เป็นมาตรวัดความสามารถในการแข่งขันของภาคท่องเที่ยว ซึ่งการสำรวจล่าสุดในปี 2564 ครอบคลุม 117 ประเทศ และเครื่องชี้ย่อย 112 ตัว ในหมวดหมู่ต่างๆ ของภาคท่องเที่ยว ประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐาน นโยบายและปัจจัยส่งเสริมการท่องเที่ยว สภาพแวดล้อม ความยั่งยืน และแรงขับเคลื่อนอุปสงค์ เช่น วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ
เมื่อพิจารณาดัชนีดังกล่าว ความสามารถของภาคท่องเที่ยวไทยปรับดีขึ้นเล็กน้อย 0.2% เทียบกับก่อนโควิด จากพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านอุปสงค์ และความยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจและสังคมที่ยืดหยุ่น
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับคู่แข่งในอาเซียนแล้ว กล่าวได้ว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยกำลังอยู่ในทิศทางแย่ลง
เพราะเวียดนามและอินโดนีเซียพัฒนาภาคท่องเที่ยวขึ้นมาได้อย่างก้าวกระโดด โดยมีดัชนี TTDI เพิ่มขึ้น 4.7% และ 3.4% ตามลำดับ
ทำให้เวียดนามมีดัชนี TTDI เติบโตที่สุดในโลก ขณะที่อินโดนีเซียมีอันดับเลื่อนขึ้นมากที่สุดในโลก และแซงหน้าไทยขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนแล้ว
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังเป็นผู้นำที่ไทยไม่เคยตามทัน โดยขีดความสามารถอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก ห่างจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนพอสมควร จากมิติความสามารถด้านนโยบายส่งเสริมภาคท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก กอปรกับมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเยี่ยม โดยเฉพาะสนามบินชางงี ซึ่ง Skytrax จัดอันดับให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลกในปี 2566
สำหรับเวียดนามและอินโดนีเซีย พัฒนาการด้านขีดความสามารถที่โดดเด่นคือนโยบายและปัจจัยส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัยส่งเสริมหรือดึงดูดด้านราคาจาก ภาษีสนามบิน ราคาโรงแรม ค่าครองชีพ และราคาน้ำมัน พบว่าดัชนีการแข่งขันด้านราคาของอินโดนีเซียและเวียดนามปรับดีขึ้นจากก่อนโควิดราว 10% ทำให้ทั้งสองประเทศอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก เช่นเดียวกันกับมาเลเซีย
ขณะที่ไทยอยู่อันดับ 39 ของโลก และเป็นอันดับรองสุดท้ายของกลุ่มอาเซียนในการแข่งขันด้านราคา โดยการท่องเที่ยวในไทยถูกกว่าสิงคโปร์แค่เพียงประเทศเดียว
นอกจากนี้ ความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานของเวียดนามและอินโดนีเซียยังพัฒนาขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากดัชนีด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและทางน้ำที่ขยายตัวสูงมาก โดยเวียดนามได้พัฒนาการขนส่งทางรางที่มีอยู่เดิม 7 สาย รวมถึงวางแผนขยายอีก 9 สาย ภายในปี 2573
รวมถึงวางแผนขยายสนามบินเพิ่มขึ้นจาก 22 แห่ง เป็น 29 แห่ง ภายในปี 2593 โดยได้เริ่มก่อสร้างสนามบินนานาชาติ Long Thanh และขยายสนามบิน Tan Son Nhat เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ที่พัฒนาการขนส่งทางรางโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงหรือกึ่งความเร็วสูงร่วมกับจีนและญี่ปุ่น เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่หลายจังหวัดเข้าด้วยกัน รวมถึงวางแผนสร้างสนามบินเพิ่มขึ้นอีก 21 แห่ง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางทั้งในและระหว่างประเทศ
สำหรับไทย แม้ว่าอันดับโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมจะปรับดีขึ้นจากที่ 31 เป็นที่ 28 ของโลก โดยดัชนีด้านโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศอยู่อันดับ 13 ของโลก แต่ค่าดัชนีกลับปรับลดลงถึง 8.8% เทียบกับก่อนโควิด
สะท้อนว่านอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ การดูแลโครงสร้างพื้นฐานเดิมเพื่อรักษาขีดความสามารถที่มีอยู่ก็สำคัญไม่แพ้กัน
ความปลอดภัยและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีก 2 ประเด็นที่ไทยยังพัฒนาได้อีกมาก เนื่องจากค่าดัชนีทั้ง 2 ด้านนี้ของไทยอยู่ในอันดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ดัชนีด้านความปลอดภัยของไทยล่าสุดปรับแย่ลงจากที่ 88 เป็นที่ 92 จาก 117 ประเทศ โดยอันดับแย่ที่สุดในอาเซียน ยกเว้นฟิลิปปินส์
สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดของ Dragon Trail ซึ่งพบว่าคนจีนกังวลการเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 28% ในปี 2565 เป็น 51% ในปี 2566 และมีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยฟื้นตัวได้ช้า
ส่วนอันดับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของไทยล่าสุดอยู่ที่ 98 สะท้อนว่าภาคท่องเที่ยวของไทยที่ผ่านมาใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนเสื่อมโทรม และเป็นต้นทุนที่ไทยยังไม่ได้จ่ายเพื่อรักษาให้ภาคท่องเที่ยวไทยอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
โดยสรุป ขีดความสามารถภาคท่องเที่ยวของไทยปรับดีขึ้นบ้าง แต่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะช่องว่างความสามารถในการแข่งขันที่แคบลงในด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของไทยกับคู่แข่ง กอปรกับได้เปรียบในด้านราคา ขณะที่ไทยยังมีจุดอ่อนด้านความปลอดภัย และการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ยั่งยืน
สุดท้าย หากภาคท่องเที่ยวไทยยังต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขัน โจทย์สำคัญลำดับต้นๆ ที่ทุกภาคส่วนต้องทำร่วมกัน ได้แก่
(1) เร่งแก้ปัญหาความปลอดภัยในการท่องเที่ยวไทย
(2) บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานเดิมอย่างดี รวมถึงยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพและครบครัน
(3) อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับหลัก ESG เพื่อให้ธรรมชาติที่งดงามยังคงอยู่ และสร้างขีดความสามารถให้ภาคท่องเที่ยวของไทยยังแข่งขันได้ในอนาคต
*บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด
คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
จิรัฐ เจนพึ่งพร และ วรัญญา มหาวนากูล