ทำความรู้จัก ทุ่งดอกไม้กินแมลง 'สาหร่ายข้าวเหนียว'

ทำความรู้จัก ทุ่งดอกไม้กินแมลง สาหร่ายข้าวเหนียว

ทุ่งดอกไม้กินแมลง "สาหร่ายข้าวเหนียว" ประเทศไทยพบเพียงสกุล "𝙐𝙩𝙧𝙞𝙘𝙪𝙡𝙖𝙧𝙞𝙖 L." 1 สกุล แพร่กระจายทั่วประเทศทั้งบนบกและแหล่งน้ำนิ่ง ลักษณะพิเศษ ถุงดักแมลง สุญญากาศ ที่พัฒนามาจากส่วนของใบ

สาหร่ายข้าวเหนียว (𝙐𝙩𝙧𝙞𝙘𝙪𝙡𝙖𝙧𝙞𝙖 𝙖𝙪𝙧𝙚𝙖 Lour.) จัดอยู่ในกลุ่มของพืชกินแมลง พบได้ทั่วไปตามแหล่งน้ำนิ่ง เป็นพืชในวงศ์สร้อยสุวรรณา (Lentibulariaceae)

ในประเทศไทยพบเพียง 1 สกุล คือสกุล 𝙐𝙩𝙧𝙞𝙘𝙪𝙡𝙖𝙧𝙞𝙖 L. ยี่สิบกว่าชนิด แพร่กระจายทั่วประเทศทั้งบนบกและในน้ำ

 

ทำความรู้จัก ทุ่งดอกไม้กินแมลง \'สาหร่ายข้าวเหนียว\'

ชนิดที่อยู่บนบกพบขึ้นเป็นกลุ่มหนาแน่นตามลานหินเปิดโล่งที่มีน้ำขัง เกิดเป็นทุ่งดอกไม้กินแมลงในลานหินทรายที่ชื้นแฉะช่วงปลายฝนต้นหนาวที่สวยงาม เช่น ดุสิตา สร้อยสุวรรณา ทิพเกสร เป็นต้น บางชนิดเป็นพืชอิงอาศัยเกาะอยู่บนต้นไม้ใหญ่หรือบนก้อนหิน 

ส่วนสาหร่ายข้าวเหนียวเป็นพรรณไม้น้ำหนึ่งในไม่กี่ชนิดที่เป็นพืชกินแมลงของไทย แต่ทุกชนิดที่พบล้วนมีโครงสร้างเหมือนกันคือถุงดักแมลง (bladder trap) หรือกับดักแบบถุงที่พัฒนามาจากส่วนของใบ

 

ทำความรู้จัก ทุ่งดอกไม้กินแมลง \'สาหร่ายข้าวเหนียว\'

ทำความรู้จัก ทุ่งดอกไม้กินแมลง \'สาหร่ายข้าวเหนียว\'

เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่มีอยู่ในพืชสกุลนี้เท่านั้นจึงมีชื่อสามัญว่า bladderwort โดยใบบางส่วนของสาหร่ายข้าวเหนียวจะเปลี่ยนเป็นกระเปาะหรือถุงขนาดเล็กรูปไข่เบี้ยวแทรกอยู่ที่บริเวณก้านใบเป็นระยะ ๆ

ใช้สำหรับดักจับแมลงหรือสัตว์น้ำตัวเล็ก ๆ เช่น โปรโตซัว หนอนน้ำ ไรน้ำ แมลงน้ำ และตัวอ่อนของแมลง เช่น ลูกน้ำของยุงชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร

กลไกการจับเหยื่อภายในถุงเป็นสุญญากาศ ตรงปากถุงมีส่วนที่ยื่นยาวออกมาคล้ายขนเส้นเล็ก ๆ ใช้สำหรับตรวจจับการเคลื่อนไหวของแมลงหรือสัตว์น้ำ เมื่อมีเหยื่ออยู่ใกล้ ๆ ปากถุงด้านนอกจะเปิดออกแล้วปล่อยสุญญากาศออกมาจากถุง

ทำให้สัตว์ขนาดเล็กนั้นถูกดูดเข้าไปในถุงอย่างรวดเร็ว จากนั้นปากถุงจะปิดตัวลงโดยอัตโนมัติ ภายในถุงนี้มีต่อมขนาดเล็กใช้ผลิตน้ำย่อยสำหรับย่อยเหยื่อที่จับได้ และดูดซึมสารอาหารเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์สำหรับการเจริญเติบโตต่อไป

จึงนับเป็นพืชน้ำที่มีส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างสมดุลต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำด้วยการดักจับแมลงหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก

 

ทำความรู้จัก ทุ่งดอกไม้กินแมลง \'สาหร่ายข้าวเหนียว\'

 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 

"สาหร่ายข้าวเหนียว" มีลำต้นทอดยาวได้ถึง 1 เมตร ใบเป็นเส้นเรียวเล็กเชื่อมกันเป็นพวง และมีใบที่เป็นรูปกระเปาะดักแมลงรูปไข่เบี้ยวแทรกอยู่เป็นระยะ

ดอกสีเหลืองสด ออกเป็นช่อ ช่อละ 4 - 8 ดอก ก้านช่อดอกเจริญขึ้นมาเหนือผิวน้ำยาว 5 – 25 เซนติเมตร กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีขนเล็ก ๆ ขึ้นปกคลุม

 

ทำความรู้จัก ทุ่งดอกไม้กินแมลง \'สาหร่ายข้าวเหนียว\'

ส่วนล่างยื่นเป็นจะงอย ตรงส่วนปลายแยกเป็น 2 ส่วน กลีบดอกส่วนด้านบนทรงค่อนข้างกลมและมีผิวเรียบ ตรงฐานดอกมีลายเส้นสีน้ำตาลแดง มีเกสรตัวผู้ 2 อันติดอยู่บริเวณกลีบดอก

ส่วนเกสรตัวเมียมีรังไข่ตั้งอยู่บนฐานดอก รังไข่ 1 ช่อง ท่อรังไข่เป็นรูปกรวย ผลเป็นผลเดี่ยว รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร

เมื่อผลแก่ได้ที่จะแห้งและแตกออก ภายในผลมีเมล็ดอยู่จำนวนมาก โดยเมล็ดมีสีน้ำตาลและแบนเป็นทรงห้าเหลี่ยม มีขนาดประมาณ 1.5 – 2 มิลลิเมตร 

 

ทำความรู้จัก ทุ่งดอกไม้กินแมลง \'สาหร่ายข้าวเหนียว\'

อ้างอิง-ภาพ : 

  • นายวุฒินันท์  พวงสาย หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด จังหวัดบุรีรัมย์ 
  • ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  • preserved-flower
  • wikipedia
  • ก่องกานดา ชยามฤต. 2549. ลักษณะประจำวงศ์พรรณไม้ 2. สำนักหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. บริษัท ประชาชน จำกัด. กรุงเทพฯ. 88 หน้า.
  • นิรันดร์  วิพันธุ์เงิน และ สุมน  มาสุธน. 2550. สัณฐานวิทยาเปรียบเทียบของพืชกินแมลงสกุล Utricularia L. ในเขตอุทยานแห่งชาติภูพาน จังหวัดสกลนคร. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 45: สาขาพืช. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 45. (หน้า 194 - 201). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.