ไหว้เจ้าแม่กวนอิม แขวนโคมขอพรวันเที่ยวรับตรุษจีน วิหารอี่ทงเทียนไท้
ไหว้เจ้าแม่กวนอิม วิหารอี่ทงเทียนไท้ กบินทร์บุรี วิหารองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาว สร้างจากพลังความศรัทธาและดำริของ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดสถาปัตยกรรมและสัญลักษณ์ความศักดิ์สิทธิ์ ของไหว้ วิธีขอพรเจ้าแม่กวนอิม
ตรุษจีน ปี 2567 หรือวันขึ้นปีใหม่ตามปีปฏิทินจีนปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ เป็น วันเที่ยว หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “วันชิวอิก” เป็นวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจีน เป็นวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ
โดยก่อนหน้านี้ วันที่ 8 ก.พ. เป็น “วันจ่าย” คือไปซื้อของมาเตรียมไหว้ทั้งของคาวหวานและผลไม้ โดยจะเลือกของกินที่มีความเป็นมงคล ของกินสำหรับการทำเมนูโปรดของบรรพบุรุษที่ล่วงลับ และวันที่ 9 ก.พ. เป็น “วันไหว้” ไหว้บรรพบุรุษในช่วงกลางวัน เพื่อแสดงถึงความกตัญญู และช่วงกลางคืนไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย เพื่อขอพรให้ชีวิตรุ่งเรือง
เมื่อถึง “วันเที่ยว” หรือวันขึ้นปีใหม่จีน นอกจากเดินทางไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่และขอพรด้วยการนำ ส้ม 4 ผล ไปอวยพรและรับซองอั่งเปาจากญาติผู้ใหญ่แล้ว
ยังเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวไทยเชื้อสายจีนที่มักจะนิยมเดินทางไป สักการะ ขอพร พระหรือเทพเจ้าตามวัดหรือศาลเจ้า เพื่อให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองรับ ตรุษจีน วันปีใหม่ของชาวจีน
เจ้าแม่กวนอิม เป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่เป็นที่เคารพนับถือของคนไทย คนจีน และคนไทยเชื้อสายจีน เป็นพระโพธิสัตว์ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนานิกายมหายาน เป็นองค์เดียวกันกับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
องค์พระโพธิสัตว์กวนอิม มีต้นกำเนิดมาจากพระสูตรมหายานในอินเดีย ตำนานความเชื่อของชาวจีนเชื่อกันว่า พระโพธิสัตว์กวนอิม เดิมเป็นเทพธิดาที่ต้องการช่วยปลดเปลื้องทุกข์ภัยแก่มวลมนุษย์ในชาติสุดท้าย จึงจุติลงมายังโลกมนุษย์ในนามของ เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ทรงเป็นพุทธมามกะที่รู้แจ้งในหลักธรรมอย่างลึกซึ้ง
ต่อมามีความขัดแย้งกับพระบิดาจนถึงกับถูกสั่งประหารชีวิต แต่มีเทวดามาช่วยไว้ และเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุมรรคผลสำเร็จธรรมในที่สุด
วิหารอี่ทงเทียนไท้
วิหารอี่ทงเทียนไท้ เป็นที่ประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาว หรือ เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งทำจาก “หยกขาว” วิหารแห่งนี้เกิดขึ้นจากพลังแห่งความศรัทธา ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เวลาอันยาวนานในการสั่งสมทรัพย์ทางโลกและทางธรรม การทำงานอันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและเต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อว่าจะทำได้สำเร็จของ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์
เพื่อให้สังคมและชุมชนได้มีศูนย์รวมจิตใจ เป็นที่พึ่งพาทางใจในวันที่ชีวิตประสบความทุกข์ และเป็นที่เผื่อแผ่เอื้อเฟื้อเมื่อชีวิตมีความสุขล้นมากพอที่จะแบ่งปันให้กับผู้อื่นรอบกาย
ตัววิหารเริ่มงานก่อสร้างเมื่อปีพ.ศ.2558 ถือฤกษ์ทำพิธีเสาเข็มต้นแรกวันที่ 14 ก.ค. และได้ดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมา
กระทั่งสร้างสำเร็จประกอบพิธีสมโภชใหญ่วิหารตามหลักศาสนา เปิดมณฑลพิธี อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีไหว้เทพ 24 ธรรมบาล พิธีเบิกเนตร พิธีบูชาดาวอายุวัฒนชันษา พิธีถวายข้าวพระพุทธและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีทิ้งกระจาดแจกทาน โดยคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ครบถ้วนเป็นเวลา 2 วันคือ 24-25 ธ.ค.2566
วิหารอี่ทงเทียนไท้ สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ในงานสถาปัตยกรรม
จุดเริ่มต้นในการออกแบบวิหารให้เหมาะสมกับการเป็นสถานที่ประดิษฐาน องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาว ได้รับแรงบันดาลใจเชิงสถาปัตยกรรมจาก “หอบูชาฟ้าเทียนถัน” ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่มีการวางผังอาคารแบบวงกลมและมีการซ้อนชั้นหลังคา 3 ชั้น
ภาพเปรียบเทียบอัตราส่วน 'หอบูชาฟ้าเทียนถัน' ในกรุงปักกิ่ง กับวิหารอี่ทงเทียนไท้
ท่านประธานบุณยสิทธิ์ ได้ให้แนวทางกับนักออกแบบโดยขอให้อาคารวิหาร “อี่ทงเทียนไท้” มีสัดส่วนใกล้เคียงราว 1 ใน 2 ส่วนของหอบูชาฟ้าเทียนถัน
ขณะที่อาณาบริเวณรอบวิหารอี่ทงเทียนไท้ ขอให้มีสัดส่วนใกล้เคียงราว 1 ใน 4 ของอาณาบริเวณของหอบูชาฟ้าเทียนถัน
การวางผังวิหารแบบวงกลม เป็นผลมาจากอิทธิพลการวางผังของ “คติภูมิจักรวาล” โดยมีวิหารเป็นดังเขาพระสุเมรุ เมื่อมองจากภายในวิหารจะเห็นเสาทั้งหมดจำนวน 24 ต้นรายล้อม โดยเป็นเสาชั้นในและชั้นนอก ชั้นละ 12 ต้น มีนัยหมายถึงปีนักษัตรทั้ง 12 ราศี
ผนังและคานภายนอก ตกแต่งด้วยภาพเขียนสีจิตรกรรมแบบจีน ประกอบด้วยสัญลักษณ์มงคล อาทิ ลายเมฆ ดอกบัว และมังกร
ภายในโถงประธานของวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม อี่ทงเทียนไท้ ประดับจิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องราว 11 ตำนานจากหลายสิบตำนานของพระโพธิสัตว์กวนอิม
บนฝ้าเพดานเป็นรูปเขียน “มันดาลา” สัญลักษณ์แห่งมณฑลศักดิ์สิทธิ์แห่งการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามคติพุทธวัชรยาน
อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของวิหารแห่งนี้คือ ราวกันตกระเบียง มีความหมายเชิงสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ โดยราวระเบียงกันตกทั้ง 3 ชั้น ได้รับการออกแบบให้เหมือน “วงกระเพื่อมของน้ำ” เปรียบได้กับภูมิจักรวาลในไตรภูมิกถา มีทางเข้าออกเชื่อมกันในแต่ละชั้น ชั้นละ 4 ด้าน เช่นเดียวกับหลักปฏิบัติ 4 ประการใน พรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
“แผงราวกันตกระเบียง” ทั้งสามชั้นประดับปูนปั้นลวดลายมังกรขนาบ 2 ข้าง ตรงกลางเป็นอักษรภาษาจีนความหมายมงคล แต่ละชั้นมีตัวอักษรต่างกัน อักษรของราวระเบียงชั้นล่างสุดหมายถึง “ความบริสุทธิ์” อักษรของราวระเบียงชั้นที่สองหมายถึง “ความเจริญ” และอักษรชั้นบนสุดหมายถึง “ความสุข”
ปูนปั้นลวดลายมังกรขนาบอักษรมงคลจีน สัญลักษณ์แสดงถึงผู้ปกป้องคุณงามความดี เป็นมงคลยิ่งแก่ผู้มาสักการะ
หลังคาวิหารแห่งนี้ นอกจากกระเบื้องหลังคาเซรามิกที่ผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญด้วยนวัตกรรมการผลิตร่วมสมัยและส่วนผสมนำเข้าจากเยอรมนี เพื่อให้ได้เซรามิกเนื้อเนียน ทนทาน สีชัดเจน และสวยได้นานหลายสิบปี
หลังคาอีกส่วนสั่งผลิตพิเศษ เป็น กระเบื้องหลังคาโซลาร์เซลล์ทรงกาบกล้วย เลียนแบบกระเบื้องหลังคาจีน วัสดุปิดผิวเป็นกระจกเทมเปอร์ ด้านในเป็นโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบาง เทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ได้รูปทรงของโซลาร์เซลล์แผ่นแบน
วิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม อี่ทงเทียนไท้ เป็นวิหารแรกที่นำกระเบื้องโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบางมาใช้เป็นวัสดุมุงหลังคาหลัก โดยใช้เป็นจำนวน 2,782 แผ่น ผลิตและเก็บไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ที่ห้องควบคุมใต้ดิน ใช้เป็นพลังงานสำหรับไฟฟ้าแสงสว่างบนยอดหลังคาและผืนหลังคายามค่ำ
องค์ประกอบต่างๆ ของวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาวแห่งนี้ ล้วนผ่านกระบวนการคิดและวางแผนอย่างถี่ถ้วน เพื่อแฝงความหมายลึกซึ้งไว้ให้ผู้มาสักการะได้สัมผัสถึง
ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์เชิงภูมิจักรวาล องค์ประกอบและ “สัญญะของทิเบต” ที่เป็นส่วนผสมของพุทธวัชรยาน และ พุทธมหายาน รวมทั้งสัญลักษณ์สิ่งมงคลต่างๆ ของจีน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานสถาปัตยกรรมเชิงวัฒนธรรมของจีน
เจ้าแม่กวนอิม วิหารอี่ทงเทียนไท้
เจ้าแม่กวนอิมที่วิหารแห่งนี้แกะสลักจาก “หยกขาวชิ้นเดียว” ที่ได้มาจากเหมืองในป่าลึกของเมือง “นับปีตรู” ประเทศเมียนมาร์ บริจาคโดย อุทิศ ชัยลือกิจ
เดือนมีนาคม 2557 ประธานเครือสหพัฒน์ได้จัดส่งหยกขาวชิ้นนี้ไปยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อให้ช่างซึ่งมีฝีมือด้านการแกะรูปสลักองค์เจ้าแม่กวนอิมโดยเฉพาะแกะสลักเป็นองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม และได้รับการเคลื่อนย้ายคืนกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557
ระหว่างรอการก่อสร้างวิหารอี่ทงเทียนไท้ ได้เชิญองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาวไปประดิษฐาน ณ พรหมสถาน สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ กบินทร์บุรี ก่อนเชิญเข้าประดิษฐานภายในวิหารเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566
เจ้าแม่กวนอิม หรือ องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาวองค์นี้มีความสูง 2.62 เมตร หนัก 2.8 ตัน ประทับยืนบนฐานดอกบัวบาน สูง 0.45 เมตร หนัก 0.78 ตัน
ฐานดอกบัวบาน วางอยู่บนประติมากรรมแกะสลักเป็นลวดลายพญามังกรเวียนว่ายกลางมหาสมุทร ซึ่งฐานมังกรนี้มีความสูง 1.02 เมตร หนัก 4.95 ตัน และมีฐานแปดเหลี่ยม สูง 0.91 เมตร หนัก 5.9 ตัน รองรับประติมากรรมมังกรไว้อีกชั้นหนึ่ง
ช่างฝีมือชาวจีนแกะสลักองค์เจ้าแม่กวนอิมในวิหารอี่ทงเทียนไท้ แสดงมุทราปางประทานพร และมีแจกันประทานน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ไว้คอยชะล้างขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยให้กับผู้กราบไหว้ขอพร และยังเป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมกายใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำพระทัยแห่งความเมตตา
พญามังกร(ที่แบกฐานดอกบัว)เปรียบได้กับความมั่งคั่ง ร่ำรวย สายน้ำเปรียบได้กับความลื่นไหล ราบรื่น สำเร็จ ดังนั้นผู้ซึ่งไปกราบไหว้บูชาอธิษฐานแล้ว อย่าลืมลูบพญามังกรด้วย เพื่อให้ได้ทั้งสมปรารถนาและร่ำรวย
ชุดเสริมเฮงขอพรตรุษจีน 2567 "วิหารอี่ทงเทียนไท้"
ในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน 2567 วิหารอี่ทงเทียนไท้ จัดงาน “แขวนโคม ขอพร ปีมังกร สุขสันต์” ด้วยการประดับโคมไฟโดยรอบวิหาร
ผู้เยี่ยมชมวิหารและสักการะ พระโพธิสัตว์กวนอิม สามารถเช่า ชุดบูชาชุดเสริมเฮง ที่ทางวิหารจัดเตรียมไว้ ซึ่งประกอบด้วย ส้ม 5 ผล สร้อยมุก(จำลอง) ดอกไม้ธูปเทียน โคม (สำหรับเขียนคำขอพร) ราคาชุดละ 299 บาท
เมื่อกราบสักการะเสร็จแล้ว ให้เขียนคำขอพรบนโคม จากนั้นนำโคมไปแขวนยังที่ที่จัดเตรียมไว้ รวมถึงกิจกรรมถ่ายรูป เช็คอิน รับฟรีของที่ระลึกจากทางวิหาร สามารถเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่ วันนี้ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2567 วิหารเปิดให้บริการระหว่างเวลา 07.00 - 19.00 น.
เฉพาะวันชิวอิก หรือ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 18.00 น. วิหารจัดกิจกรรมสวดมนต์นั่งสมาธิภาวนา และ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. มีพิธีไหว้รับเทพเจ้าเดินทางกลับจากสวรรค์
ของไหว้ วิธีไหว้ เจ้าแม่กวนอิม วิหารอี่ทงเทียนไท้
ของไหว้บูชาพระโพธิสัตว์กวนอิม
- น้ำสะอาด จัดเตรียมใสภาชนะที่ใหม่และสะอาด
- ดอกบัวสีชมพู/สีขาว หรือดอกมะลิ
- ผลไม้
- ธูป 5 ดอก
วีธีขอพรองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม
- ขอพรเกี่ยวกับเรื่อง โชคลาภ ให้อธิษฐานและสัมผัสที่ตัวพญามังกร
- ขอพรเกี่ยวกับเรื่อง หน้าที่การงานและครอบครัวให้มั่นคง ให้สัมผัสที่ฐานดอกบัว
- ขอพรเรื่อง สุขภาพ ให้อธิษฐานว่าท่านได้เทน้ำมนต์ลงจากคนโท(แจกัน)มาสู่ร่างกายของเรา
การเดินทางไปสักการะขอพร เจ้าแม่กวนอิม ณ วิหารอี่ทงเทียนไท้ ด้านหน้าสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
- เส้นทางนครนายก ทางถนนหมายเลข 33 เมื่อเข้าเขตกบินทร์บุรี วิหารจะอยู่ทางซ้ายมือ
- เส้นฉะเชิงเทรา จากถนนหมายเลข 304 เลี้ยวซ้ายที่แยกตัดถนนหมายเลข 33 ชิดซ้ายก่อนถึงแยกเพื่อมุ่งหน้าไปยังปราจีนบุรี วิหารตั้งอยู่ด้านหน้าสวนอุตสาหกรรมฯ ทางขวามือริมถนนใหญ่ มองเห็นได้อย่างชัดเจน
credit photo: มูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา