‘เที่ยวธรรมชาติ’ ต้องเข้าใจ ‘ผมไม่ใช่ภูเขาไฟ หรือ หลุมอุกาบาต’
‘เที่ยวชมธรรมชาติ’ บางครั้งต้องมีความรู้ ก่อน จินตนาการ หลายสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย หลายแห่งมองไปคล้าย ‘ภูเขาไฟ’ หรือ บางทีก็คล้าย ‘หลุมอุกาบาต’ วันนี้จะมาให้ความรู้ ไขข้อข้องใจ เกี่ยวกับเรื่องนี้สักหน่อย
ถ้าท่านผู้อ่านสังเกต จะเห็นว่าผมพยายามเขียนอธิบายปรากฏการณ์ทางธรณีต่างๆ ที่ถูก จินตนาการนำความรู้ มาบอกเล่าอยู่บ่อยๆ ล่าสุดไปเห็นคลิปของเจ้าหน้าที่อุทยานฯแห่งหนึ่งทางอีสาน ซึ่งก็เป็นพรรคพวกกัน รู้จักกัน เขาไปเดินตรวจป่ากันเป็นปกติ แล้วก็ไปเจออย่างในรูปที่เอามาให้ดูนี่แหละ
แล้วเจ้าหน้าที่เขาถ่ายคลิปแล้วเอามาโพสต์ในเฟสบุ๊คบอกว่าพบเจอ ปากปล่องภูเขาไฟ เข้าให้แล้ว ผมก็เลยทักไปแล้วอธิบายให้เขาฟังก่อนที่เขาจะลบคลิปไป ทีนี้ก็มีอีก เป็นคลิปที่คนเดินทาง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นคนทางแถวๆนั้น เขาไปถ่ายทำบ่อหินที่ วัดรอยพระพุทธบาทดงหลวง ต.พังแดง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร
โดยในคลิปเขาจะบอกว่ามันเป็น ปากปล่องภูเขาไฟ แล้วก็มีคนเชื่อตาม มีคนไปถ่ายทำต่อๆ มา ก็ย้ำความเชื่อเข้าไปอีกว่ามันคือปากปล่องภูเขาไฟ บ้างก็บอกว่าเป็น หลุมอุกาบาต ซึ่งเกรงว่าจะเข้าใจผิดกันไปกันใหญ่ เลยรีบเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังก่อน
การไม่รู้ไม่ใช่เรื่องผิด ผมเองสมัยที่ยังไม่มีครูอาจารย์ทางธรณีมาเทรนด์ มาถ่ายทอดความรู้ให้ ยังปล่อยไก่ เห็นหินมันมีรอยพับไปพับมา ก็ฟันธงเลยว่านี่ไงนี่มันคือลาวานั่นเอง ไม่งั้นมันจะพับเป็นริ้วแบบนี้ได้อย่างไร มันต้องโดนความร้อนแล้วไหลออกมา
ดังนั้นมันต้องเป็นลาวามาก่อนแน่ๆ นี่เราก็คิดเอาตามประสาเรานะครับ จนกระทั่งมาถูกบรรดาปรมาจารย์ในทางธรณีอย่าง ‘อาจารย์นเรศ สัตยารักษ์’ อาจารย์ชัยพร สิริพรไพบูลย์ ผอ.นิวัติ บุญนพ หรือ ดร.ประดิษย์ นูแล แห่งธรณีเขต 2 และนักธรณีอีกหลายท่าน ที่ให้ความรู้
อุตส่าห์อธิบายตั้งแต่ให้รู้ว่าโลกเรามีหินอะไรบ้าง แล้วหินแต่ละแบบมันมาจากไหน จึงต่อยอดไปเรื่องปรากฏการณ์ต่างๆทางธรณีได้ แล้วเวลาออกต่างจังหวัดด้วยกัน ก็ยังถ่ายทอดความรู้ในพื้นที่จริงด้วย นั่นแหละผมจึงพอมีแนวทางอยู่บ้าง
ภาพที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯเข้าใจว่าเป็น 'ปากปล่องถูเขาไฟ'
ถ้าเป็นเรา เห็นบริเวณที่มีรูปลักษณ์อย่างในภาพเหล่านี้ ใครก็ต้องบอกว่านี่คือ ภูเขาไฟ เพราะเรามีภาพจำของ ภูเขาไฟฟูจิ เป็นตัวต้นแบบ ว่าภูเขาไฟมันจะต้องมีรูปทรงแบบนี้ แต่จริงๆแล้ว ภูเขาไฟคือสิ่งที่ลาวามันสร้างรูปทรงไว้ หินหนืดที่อยู่ในโลกเราเรียกแมกมา
ลักษณะบ่อหินที่ดงหลวง ที่คนคิดว่าเป็นปากปล่องภูเขาไฟ หรือหลุมอุกาบาต
แต่พอมันหาทางดันออกมานอกโลกได้เราเรียกลาวา อันนี้เข้าใจตรงกันนะ แมกมาที่จะปะทุออกมาไม่จำเป็นว่าจะต้องดันออกมาตรงที่มีทรงเป็นภูเขาไฟอยู่ก่อน พื้นดินธรรมดา ที่เราเดินไปเดินมานี่ ก็อาจจะมีลาวาปะทุขึ้นมาสักวันก็ได้ (ถ้าเราอยู่ในเขตของภูเขาไฟ หรือวงแหวนแห่งไฟ โชคดีที่ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในแนวภูเขาไฟ)
บ่อหินที่ดงหลวงที่คนเข้าใจผิด
มีคลิปต่างๆมากมาย ที่ลาวามันไม่ได้พ่นออกมาจากปากปล่องภูเขาไฟเหมือนอย่างที่เราเคยเห็นกัน ทะลักออกมาจากพื้นดินปกตินี่แหละ มันดันออกมาจากรอยแตกบนพื้นดินเลย แล้วมันก็ไหล ตรงบริเวณที่ลาวามันออกมาได้ มันก็จะพอกๆ กันจนขอบสูงขึ้นๆ เป็นปากปล่อง ซึ่งมันยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้ภูเขาไฟเหล่านั้น เป็นภูเขาที่มีรูปทรงอย่างที่เราคุ้นตา
การแตกเป็นเกล็ด ก็เป็นรูปแบบหนึ่งบนหินทราย
แต่ท่านผู้อ่านไม่ต้องตกใจ ว่ามันจะปะทุมาใต้ถุนบ้านเราหรือเปล่า มันจะมีแนวของมันอยู่ครับ ทำเลที่ตั้งประเทศไทยนี่โชคดีไม่มีแนวภูเขาไฟ บ้านเราเคยมีภูเขาไฟมาในอดีต สมัยที่โลกยังคงปรับตัวเมื่อเป็นร้อยๆล้านปีก่อน
การแตกเป็นเกร็ดนูน เป็นอีกรูปแบบของหินทราย
บ้านเราก็ไม่เว้น มีภูเขาไฟอยู่ทั่วไปเหมือนกัน แต่ที่เห็นเป็นภูเขา เป็นปากปล่องชัดเจนที่สุด ก็อย่างที่เขากระโดง บุรีรัมย์ หรือดอยผาคอกหินฟูที่แม่เมาะ ลำปาง ที่บอกว่าชัดที่สุด แต่ก็ไม่ได้ชัดจนเป็นทรงภูเขาไฟแบบ ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ สิ่งที่จะบอกว่ามันเคยเป็นภูเขาไฟหรือลาวามาก่อนหรือไม่ก็คือ หิน ในบริเวณนั้น
เราไปติดภาพว่าภูเขาไฟจะต้องเป็นทรงแบบนี้
ซึ่งอย่างที่เรารู้ว่า แมกม่าจะเป็นหินหนืดที่ถูกความร้อนใต้โลกทำให้เหลว พอมีองค์ประกอบที่เหมาะสม มันก็จะปะทุออกมาในรูปของลาวา หินที่ออกมากับลาวา ซึ่งเรียกกันว่าหินภูเขาไฟ ก็มีหลายอย่าง เป็นหินอัคนีทั้งหลาย อย่าง แกรนิต หินไรโอไลต์
แอนดีไซต์ หินทัฟฟ์ หินออบซิเดียน อะไรพวกนี้ จริงๆมันก็หินอัคนีทั้งหมดนี่แหละ แต่เขาก็มีเกณฑ์ของเขาท่านผู้อ่านไปต้องไปสนใจอะไรมาก เพราะเราไม่ใช่นักธรณี รู้ไว้ว่าพวกนี้ออกมาจากใต้โลกออกมาในรูปของลาวา แต่หินภูเขาไฟที่เราคุ้นกันมากก็คือบะซอลต์ เพราะหินนี้ที่เรารู้คือมันจะมีรูพรุน สีดำๆ บางทีบีบยังแตกเลย
บางแห่งไม่ได้มีรูปร่างอะไรที่จะบ่งบอกว่าเป็นภูเขาไปเลย แต่มันคือภูเขาไฟมาก่อน เพราะมีหนภูเขาไฟทั้งนั้น ในภาพคือม่อนหนพิศวง ที่วังชิ้น จ.เแพร่
แต่บะซอลต์ไม่ได้เป็นสีดำ มีรูพรุนอย่างเดียว แข็งแน่น ตันเป็นสีเทาหม่นก็มี บะซอลต์ที่มีรูพรุนๆสีดำนี่คือส่วนของลาวาที่อยู่นอกๆ สัมผัสกับอากาศ จึงมีอากาศเข้าไปปะปน พวกเพชร พลอย อัญมณี ก็จะออกมากับลาวาเช่นกัน พูดง่ายๆคือมันเป็นอัญมณีอยู่ในโลกแล้ว แล้วพอแมกมาจะออกมาพบพื้นโลก ก็พ่วงเอาอัญมณีพวกนี้ออกมาด้วย
ทีนี้รูปทรงในรูปที่เอามาให้ดูที่เจ้าหน้าที่ว่าเป็นภูเขาไฟนั้นหรือแม้กระทั่งที่วัดรอยพระบาทดงหลวง จริงๆ เราไปติดรูปทรงของฟูจิ พอเราเห็นว่ารูปทรงมันคล้ายเราเลยทึกทักไปว่านี่คือปากปล่องภูเขาไฟ แท้จริงมันเป็นปรากฏการณ์หินทราย ที่เราเรียกว่า กุมภลักษ์ ปกตินี่เอง
ปากปล่องภูเขาไฟที่อินโดนีเซีย ที่เป็นหินบะซอลต์ชัดเจน
ซึ่งกุมภลักษณ์นี้ ผมเขียนบอก เขียนเล่าหลายครั้งแล้ว ซึ่งจะว่าไป ปรากฏการณ์บนหินทรายนี่ ล้วนเป็นผลที่มาจากการกระทำของน้ำและการผุสลายยาก-ง่ายทั้งนั้น มีลมมาช่วยบ้าง เพราะอะไร?
ก็เพราะหินทรายมันเป็นหินตะกอนยังไงละครับ หินตะกอนหรือหินชั้นนี้ เกิดจากการทับถมของตะกอนดิน หินต่างๆเป็นชั้นๆ และมาสะสมบนพื้นผิวโลก ไม่ได้เกิดใต้โลก เกิดเป็นหินตะกอน เกิดบนพื้นโลก ไม่ได้เกิดใต้โลกแล้วถูกพาออกมา แบบพวกหินอัคนีทั้งหลาย
ซึ่งหินพวกนี้มันทิ้งร่องรอยของน้ำที่พัดพามา หรือร่องรอยของการทับถมไว้เยอะมาก เพียงแต่เราไม่สังเกตแค่นั้นเอง
ภูเขาไฟโบรโม่ ที่ชวา ยังคงมีปฏิกริยา
เวลาเราบอกว่าเป็นกุมภลักษณ์ อย่าไปคิดว่ามันจะต้องเป็นหลุมลงไปที่พื้นอย่างเดียว มันอาจจะตั้งอยู่ในผนังหินในแนวดิ่ง หรืออยู่บนเพดานเพิงถ้ำก็ยังมี นักธรณีสอนผมว่า เวลาคิดหาต้นกำเนิดของปรากฏการณ์ต่างๆทางธรณี อย่าดูแค่ในบริบทปัจจุบันแต่ให้คิดย้อนไปเป็นหมื่น-แสน-ล้านปีที่มันเกิดโน่นเลยทีเดียว กว่าที่ธรณีมันจะเป็นอย่างที่ราเห็นในปัจจุบัน มันเกิดปรากฏการณอะไรมาก่อนสารพัด
ปากปล่องภูเขาไฟที่บันดุง ดูไม่เหมือนภูเขาไฟ แต่มันก็คือภูเขาไฟ
การเกิดกุมภลักษณ์ เป็นปรากฏการณ์บนหินทราย ซึ่งเป็นหินที่เกิดจากตะกอนทับถมกันบนผิวโลก(หินตะกอนเกิดบนพื้นโลก แต่หินอัคนีคือหินที่ออกมาจากใต้โลก)ก็อย่างที่รู้กันว่าเป็นทางน้ำมาก่อนหรือปัจจุบันก็ได้ แล้วกรวดก็พัดพามาตกในหลุม ซึ่งอาจเริ่มจากรอยแตกเล็กๆ
แล้วน้ำไปผลักดันหินกรวดให้ขัดสีจนหลุมค่อยๆสึกและมีขนาดใหญ่ขึ้น กลายเป็นหลุมกลมๆ ลองสังเกตดูว่าในกุมภลักษณ์ที่เราเห็นตามหลุมในลานหินทรายทั่วไป จะมีก้อนกรวดอยู่ในนั้น กรวดพวกนี้เองที่เป็นผู้สร้างกุมภลักษณ์
กุมภลักษณ์บางแห่งมีขนาดใหญ่โต
บ่อหินขนาดเล็ก ซึ่งก็คือกุมภลักษณ์ที่มีขอบบ่อ
ทีนี้หินตรงปากหลุมนั้น ก็อาจจะมีธาตุเหล็กที่ละลายมาเคลือบไว้ บริเวณนั้นก็เลยแข็งกว่าหินทรายส่วนอื่นๆ ที่อยู่รอบข้าง ซึ่งจะผุกร่อนได้ง่ายกว่า
นานวันเข้าๆ หินทรายส่วนที่อยู่ด้านข้างที่ไม่ถูกเหล็กเคลือบ ก็ค่อยๆสึกลึกลงไป แต่ขอบบ่อ ที่มีธาตุเหล็กเคลือบ ยังคงทนถาวร มันจึงเหลือเป็นรูปทรงคล้ายบ่อน้ำที่มีคูหินกั้นโดยรอบอย่างในปัจจุบัน ปรากฏการณ์นี้นักธรณีบางคนเรียก ‘บ่อหิน’
กุมภลักษณ์มากมายในธารน้ำหินทราย เม็ดกรวดยังทำหน้าที่ขัดกุมภลักษณธตลอดเวลาที่น้ำขับเคลื่อนให้หมุนวน
บ่อหินบางแห่ง อาจเชื่อมโยงกับระบบน้ำใต้ดิน ซึ่งน้ำใต้ดินจะแทรกซึมมาตามรอยแตกของเม็ดกรวดเม็ดทราย แต่ด้วยว่ามีแรงดันไม่มาก น้ำจึงไม่ได้พุ่งขึ้นมาเหมือนน้ำพุ เพียงมีน้ำขังอยู่โดยไม่แห้ง อย่างเช่น ดอยขะม้อที่ลำพูน หรือบ่อหินพันขัน ที่ อ.หนองฮี จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นหลุมหินธรรมดา แต่มีน้ำซึมขังอยู่ตลอดชั่วนาตาปี
ที่ฟันธงได้ชัดเจนว่ามันไม่ใช่ปล่องภูเขาไฟ คือมันเป็น ‘หินทราย’ เป็น ‘หินตะกอน’ ไม่ใช่ ‘หินอัคนี’
ที่ดงหลวง ดูเหมือนภูเขาไฟ แต่ไม่ใช่ภูเขาไฟ
มีสถานที่บางแห่ง ที่ดูๆไป มันน่าจะเป็น ‘ปากปล่องภูเขาไฟ’ เพราะมันเป็นหลุมยุบไปอยู่บนยอดเขา อย่างเช่น ที่ ‘หล่มด้ง’ อุทยานแห่งชาติแม่ยม ที่เป็นบึงน้ำธรรมชาติบนยอดเขาที่เป็นดิน หรือที่หล่มภูเขียว ‘อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท’ ที่ลำปาง ที่เป็นบึงน้ำสีฟ้า กลางยอดภูเขาหินปูน ซึ่งทั้งสองอย่างก็ไม่ใช่ปากปล่องภูเขาไฟ แต่เป็นเพียงหลุมยุบธรรมดา
ซึ่งหลุมยุบ ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นรูยุบขนาดใหญ่ในนา ในเมือง อย่างที่เคยเห็นเป็นข่าว บนยอดเขา มันก็ยุบได้ พอยุบแล้ว มันก็ไม่เกี่ยวอะไรกะทางลาวาไหลออกมาแต่อย่างใด เพราะมันไม่มีหินใต้โลกมีแต่หินลนโลก (หินปูนก็เป็นหินตะกอน ที่มาเกิดบนโลกเช่นเดียวกับหินทราย แต่วัตถุที่มาสะสมตัวเป็นคนละอย่าง เนื้อหินจึงไม่เหมือนกัน)
กุมภลักษณ์จะเริ่มจากรอยเตกหรือหลุมเล็กๆ แล้วน้ำพัดพากรวดมาตกและหมุนวน นานนับร้อยพันปี เราจะเห็นเม็ดกรวดในหลุมหินทรายทั้งนั้น
หลุมอุกาบาต ก็ไม่ใช่ เพราะไม่เจอเศษซากของหินจากนอกโลกเลย แล้วลักษณะของหลุมที่โดนหินนอกโลกพุ่งใส่ ก็จะไม่ได้มีลักษณะหลุมแบบนี้ ดูลักษณะหลุมอุกาบาตได้จากในคลิปทั่วไปครับ ใช้อินเตอร์เนตให้เกิดความรู้ครับ
เวลาไปเที่ยวโดยเฉพาะบนลานหินทรายทางอีสาน เจออะไรแปลกๆ อยู่บนหิน เช่นเป็นรอยหยักเหมือนสมองคน เป็นเกล็ดๆคล้ายเกล็ดกระดองเต่า เป็นปมๆ แลดูเหมือนเกล็ดงู และอีกสารพัดรูปแบบ ก็ไม่ต้องไปตื่นเต้น หรือตกใจอะไร ล้วนเป็นปรากฏการณ์ของหินทรายธรรมดาๆ นี่เอง
เอาเป็นว่าถ้ามีจังหวะ มีเหตุการณ์อะไรที่เป็นข้อกังขาทางธรณี ผมจะไปตามเอาความรู้จากครูบาอาจารย์ผมมาบอกสู่ท่านผู้อ่านอีกที ถ้ามีอะไรที่ผมบอกแล้วตกหล่น ไม่ใช่ว่าอาจารย์ผมบอกผิดครับ เป็นที่ผมเก็บมาไม่หมดเอง...
หลุ่มภูเขียว เป็นหลุมยุบบนยอดเขาหินปูน
เรื่องทางธรณี มันสนุกครับ แต่ความรู้หาได้ อย่าให้จินตนาการมาบดบังความรู้จนเราไม่เสาะแสวงหาความจริง เชื่อจินตนาการได้ แต่ก็ต้องรู้ว่าจริงๆแล้วมันคืออะไรด้วย พอรู้ความจริงแล้ว จะเชื่ออะไรต่อ ก็ไม่ว่าละครับ.....