กฎหมายกับการปีนเขา การเดินป่าและทิศทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวธรรมชาติ
จากความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทยในด้านของการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการเดินป่า เดินเขา (Trekking) หรือการปีนเขา (Hiking) ได้รับความนิยมอย่างมาก และสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับการท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ยังคงให้ความสนใจการท่องเที่ยวในรูปแบบดังกล่าวในพื้นที่ป่าชุมชน และพื้นที่ป่าเขตอุทยาน หรือภูเขาและแนวสันเขา ซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเชิงของการบังคับใช้กฎหมายและบทบัญญัติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ในทุกฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น ป่าฝนเขตร้อนหรือการเดินเขาสูงในฤดูหนาวนั่นเอง เพื่อให้สอดรับกับหลักการของแผนพัฒนาเศรษฐกิจในยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยเอง สนับสนุนการเติบโตของการท่องเที่ยวในรูปแบบดังกล่าวเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างเช่นความร่วมมือกับ Youtuber หรือ Influencer ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในรูปแบบดังกล่าว
นอกจากนี้เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ในการปกป้องทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และการเรียนรู้เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนในเวลาเดียวกัน อาจจำเป็นต้องกำหนดแนวนโยบายและมาตรการทางกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เพิ่มขึ้น โดยให้ทันสมัยและครอบคลุมกิจกรรมท่องเที่ยวเดินป่าและปีนเขา ซึ่งอาจมีรูปแบบใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นกรอบในการพัฒนาก้าวต่อไป
ในที่นี้จะขอหยิบยกประเด็นทางกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจหรือการดำเนินกิจกรรมนำเที่ยวของมัคคุเทศก์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการเดินป่า เดินเขาและการปีนเขาในประเทศไทย โดยเปรียบเทียบและยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่เอเชียใต้ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการท่องเที่ยวเดินเขา
กล่าวคือ ประเทศเนปาล แม้จะมีความเหมือนกันในด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ แต่ยังมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างในด้านของสภาพภูมิประเทศของภูเขาสูง ความยากง่ายในการเดินทางท่องเที่ยวในเส้นทางต่างๆ ของแหล่งท่องเที่ยวเดินเขา โดยส่วนใหญ่แล้วสามารถที่จะเลือกเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเอง หรือใช้บริการมัคคุเทศก์ที่มีความเชี่ยวชาญได้
พื้นที่ป่าและแนวเขาในประเทศไทยนั้น จะพบบริการของมัคคุเทศก์หรือไกด์นำทาง ไม่ว่าจะเป็น ภายใต้การประกอบธุรกิจ การเป็นมัคคุเทศก์อาสา มัคคุเทศก์ท้องถิ่นในชุมชน มัคคุเทศก์เยาวชน หรือในบางกรณีเป็นการบริการประชาชนในการแนะนำเส้นทางโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน
เมื่อพิจารณาระบบการทำงานของมัคคุเทศก์หรือไกด์นำทางการเดินป่า เดินเขาหรือปีนเขาในประเทศไทย ประการแรก ไม่พบว่ามีการกำหนดรูปแบบหรือบังคับไว้อย่างตายตัวด้วยแนวนโยบายหรือมาตรการทางกฎหมาย
ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันหากเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบดังกล่าวเป็นหมู่คณะ เป็นกลุ่มใหญ่และเดินทางท่องเที่ยวเป็นระยะเวลาหลายวัน อาจนัดหมายและว่าจ้างล่วงหน้าเฉพาะกลุ่ม และยังสามารถว่าจ้างหรือติดต่อการนำเที่ยวโดยมัคคุเทศก์หรือไกด์ผู้นำทางในรูปแบบต่างๆ เมื่อเข้าสู่พื้นที่ท่องเที่ยวแล้วก็สามารถทำได้
กิจกรรมนำเที่ยวของมัคคุเทศก์และไกด์นำทางในการเดินป่า เดินเขา และปีนเขา ในประเทศไทยถูกกำกับด้วย พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 และแก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เป็นเขตอุทยาน อาจต้องมีการปรับใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ร่วมด้วย
ทั้งนี้ไม่มีการกำหนดในข้อบังคับทางกฎหมายใดว่าต้องมีการว่าจ้างมัคคุเทศก์หรือไกด์นำทาง จึงจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวเดินป่า เดินเขาและปีนเขาได้
ในแง่ของความอิสระของนักท่องเที่ยวเป็นข้อที่มีความยืดหยุ่น เพราะสามารถชำระค่าอุทยานและเข้าสู่พื้นที่เดินป่า เดินเขาและปีนเขาสูงได้ด้วยตนเองเลย แต่หากมองในด้านของความปลอดภัย และมาตรการในการสนับสนุนมัคคุเทศก์ผู้เชี่ยวชาญ ชำนาญเส้นทาง ธุรกิจและรายได้ในชุมชนท้องถิ่นอาจมีข้อที่ต้องพิจารณากันต่อไป
ประเทศเนปาลเองนั้นในอดีตนั้น ไม่มีมาตรการบังคับทางกฎหมายสำหรับนักเดินเขาหรือนักปีนเขาที่มีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเอง (Solo/Independent Trekker) ในการว่าจ้างมัคคุเทศก์หรือไกด์นำทางในเส้นทางการเดินเขาและปีนเขาทั้ง 12 อุทยานแห่งชาติและ 6 พื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติ รวมถึงเส้นทาง Everest Base Camp Annapurna และ Manaslu circuits ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
แต่ภายหลังที่มีการตรากฎหมายในประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในช่วงเดือน เม.ย.2566 นักท่องเที่ยวจะต้องว่าจ้างมัคคุเทศก์และไกด์นำทางเท่านั้น
โดยมีรายละเอียดของหลักเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับ กล่าวคือ การให้ข้อมูลของนักท่องเที่ยวหรือระบบ Trekkers’ Information Management System (TIMS) จะต้องถูกดำเนินการโดยมัคคุเทศก์หรือไกด์นำทางเท่านั้น
เช่นเดียวกับการซื้อบัตรและชำระราคาค่าเข้าอุทยาน (Permit Document) การติดต่อที่พัก (Tea House) อาหารและการกำหนดเส้นทางการเดินเขา (Trekking Route Management)
เหตุผลเบื้องหลังที่รัฐบาลเนปาลกำหนดมาตรการบังคับเช่นนี้ เพื่อรับรองความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเดินเขาในด้านของสุขภาพและความคุ้นเคยในเส้นทาง รวมถึงป้องกันการหลงทาง อุบัติเหตุ และการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวเดินเขา อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นในการจำหน่ายอาหารและห้องพักอีกด้วย
กฎหมาย ระเบียบ วิธีปฏิบัติและข้อบังคับในประเทศเนปาลจึงเปลี่ยนไป และอาจถือได้ว่าเป็นการจัดระเบียบธุรกิจการนำเที่ยวเดินเขาครั้งใหญ่หลังจากการท่องเที่ยวเดินเขากลับมาได้รับความนิยมอย่างมากอีกครั้งในประเทศเนปาล
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับการจัดการกิจกรรมนำเที่ยวเดินป่าในประเทศไทย ยังมีการปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรการทางกฎหมายที่มาสนับสนุนแตกต่างกันอยู่พอสมควร อาจเป็นประเด็นที่น่าสนใจนำมาพิจารณาว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นหรือความเหมาะสมที่จะต้องปรับใช้มาตรการดังกล่าวบ้างหรือไม่.