‘ประจวบคีรีขันธ์’ มี หินเทิน...ผู้มาจากใต้โลก
อีกแหล่งท่องเที่ยว ‘ประจวบคีรีขันธ์’ จังหวัดในภาคตะวันตกของไทย มีรูปร่างยาว และแคบ มี ร่องรอยของภูเขาไฟในอดีต มี ‘หินเทิน’ ที่สวยงาม เป็นที่ตั้งของ ‘พุทธอุทยานเขาหินเทิน’ นอกจากความสวยงาม ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีอีกด้วย
ก่อนเดินทางไปยัง ประจวบคีรีขันธ์ ชม หินเทิน หลายคนคงรู้จัก
ด่านสิงขร...ชื่อนี้หลายคนคุ้นหูอย่างแน่นอน เพราะเป็นช่องทางที่ไปมาหาสู่มาตั้งแต่สมัยโบราณ จากฝั่งอันดามันมายังฝั่งอ่าวไทย เป็นช่องทางการไปมาหาสู่จากประจวบฯฝั่งไทยไปยังตะนาวศรีและมะริด ทั้งช่องทางนี้ก็เป็นช่องทางการยกทัพมาตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนต้นรัตนโกสินทร์
ในปัจจุบันด่านสิงขร เป็นตลาดการค้าชายแดน ที่เกือบทั้งหมดเป็นคนพม่า ที่มาค้าขายในฝั่งไทย ร้านรวงทั้งหลายเป็นคนพม่าเสียส่วนใหญ่ เหมือนกับตลาดโรงเกลือที่คลองลึก แม้จะอยู่ฝั่งไทยแต่เจ้าของก็เป็นคนกัมพูชาเป็นส่วนใหญ่ ที่นี่ก็เช่นกัน สินค้าก็มีพวก หยก พลอย ผลิตภัณฑ์จากไม้ ของป่า พวกต้นไม้ น้ำผึ้ง อะไรพวกนี้
ว่ากันว่า ตรงด่านสิงขรนี้ เป็นบริเวณที่แผ่นดินไทยแคบที่สุด คือระยะทางจากด่านไปจนถึงทะเลประจวบฯ มีความกว้างเพียง 12 กิโลเมตร
แต่ถ้าจะว่ากันจริงๆผมว่า ที่บ้านโขดทราย อ.คลองลึก จ.ตราด ที่จะไปยังด่านหาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางไปยังจังหวัดเกาะกงของกัมพูชา น่าจะแคบกว่าเพราะวัดจากสันเขาที่แบ่งแดนไปจนถึงทะเล กว้างแค่ 450 เมตร เท่านั้นเอง
แต่ ด่านสิงขร ยังไม่ใช่จุดหมายปลายทางของการนำพาท่านผู้อ่านออกท่องเที่ยวในครั้งนี้ เพียงแต่สถานที่ที่เรากำลังจะพาไปนั้นมันอยู่ใกล้กัน ไปทางเดียวกัน แค่ไปแยกกันก่อนจะเข้าไปยังด่านสิงขรเท่านั้น เพราะจุดหมายปลายทางของเราในครั้งนี้
จะพาท่านผู้อ่านไปดูสถานที่ที่เป็นร่องรอยของ ภูเขาไฟ ในอดีต ที่ทิ้งร่องรอยไว้อย่างชัดเจน จนในปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ที่มีรูปลักษณ์อันโดดเด่นที่หนึ่งของประจวบฯ แต่ก็ยังคงเป็นร่องรอยของภูเขาไฟอย่างไม่อาจจะลบล้างไปได้ ที่นั่นคือ...หินเทิน
กองหินแกรนิตเนื้อดอกที่ซ้อนเกยกันจนเป็นที่มาของชื่อหินเทิน มีการดัดแปลงพื้นที่ใช้ประโยชน์
เพียงบอกชื่อ ท่านผู้อ่านคงพอนึกสภาพออก เพราะชื่อมันบอกรูปลักษณ์ไว้หมดแล้ว คือที่ที่มีหิน มา ‘เทิน’ หรือมาซ้อนทับๆกันนั่นเอง ที่ตรงนี้เป็น พุทธอุทยานเขาหินเทิน คือเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวของ ต.เกาะหลัก อ.เมือง ประจวบคีรีขันธ์ ด้วย และเป็นที่พำนักของสงฆ์ด้วย(มีพระสงฆ์อยู่ 1 รูป)
การเดินทาง ไปนั้นอย่างที่บอกว่าเข้าไปทางเดียวกันกับที่จะไป ด่านสิงขร นั่นเอง คือพอเรามุ่งหน้าลงใต้ เลยแยกเข้าตัวเมืองประจวบไปไม่ไกลนัก จะมีป้ายบอกทางเข้าด่านสิงขรทางขวามือ เข้าไปตามทางเรื่อยๆ
บรรยากาศของด่านสิงขร
แต่ยังไม่แคบจริง
จนจะถึงด่านสิงขร จะมีทางแยก ด้านหนึ่งจะเข้า ด่านสิงขร เราก็ไปอีกทางที่ไม่ใช่ไปด่านสิงขร วิ่งไปตามถนนลาดยางนั่นแหละ ขึ้นไปทางเหนือ(ทางเส้นนี้ก็จะมาบรรจบกับถนนเพชรเกษมอีก)ไปจนข้ามช่องทางน้ำ จะมีทางแยกซ้ายตรงคอสะพาน ลงไปตามถนนจะเป็นทางปูนที่ชำรุดบ้างเข้าไปจนสุดทางก็ถึง เขาหินเทิน พอดี
ก่อนเราจะเดินเที่ยวกัน เรามาคุยกันก่อนว่า ทำไมผมถึงบอกว่าเป็นร่องรอยของหินหนืด ?
เพราะหินที่ปรากฏบนเขาหินเทินแห่งนี้ เป็น หินแกรนิต ส่วนใหญ่จะเป็น หินแกรนิตเนื้อดอก ซึ่งถ้าเราสังเกตในเนื้อหิน จะเห็นว่าจะมีผลึกสีขาวๆ ขุ่นๆปะปน คือที่เราเห็นเป็นสีขาวขุ่น เป็นเหลี่ยมๆ นั่นคือ แร่เฟลสปาร์(feldspar) หรือที่เราเรียกกันว่า แร่(หรือหิน)ฟันม้านั่นเอง ถ้าสังเกตดีๆอีก
หินแกรนิตเนื้อดอกที่มีแร่เฟลสปาร์ แทรกปนในเนื้อหิน
จะมีแร่เป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ สีขาวใส ปะปนอยู่ อันนั้นคือควอตซ์ (qurtz)หรือที่เราเรียกว่าแร่(หรือหิน)เขี้ยวหนุมาน และเราจะเห็นว่ามันจะมีสีดำๆในเนื้อหิน จะเป็นแร่ 2 ชนิดคือ ไบโอไทต์(หรือไมก้าดำ)อันนี้จะเป็นแผ่นๆ และแร่ฮอร์นเบรนด์ อันนี้จะเป็นก้อนๆ เหล่านี้จะอยู่รวมกันเป็นหินแกรนิตที่เราจะเห็นที่นี่
อย่างที่เรารู้กันมาว่าหินบนโลกเรานี้มีที่มา 3 แบบ คือ หินที่มาจากใต้โลก พวกนี้เกิดจากความร้อนใต้โลกทำให้หลอมเหลวกลายเป็นหินหนืด หรืออัคนี หินหนืดพวกนี้ ส่วนหนึ่งถูกพ่นออกมาในรูปของลาวาออกมานอกผิวโลก พวกที่ถูกดันมาแล้วมาเย็นตัวบนผิวโลก พวกนี้จะเรียกว่าหินอัคนีพุ พวกนี้ก็อย่างเช่น หินบะซอลต์ หินไรโอไลต์ หินแอนดิไซต์ เป็นอาทิ
แอ่งน้ำเล็กๆที่กั้นขังน้ำในแอ่ง ปลูกบัวได้ด้วย
แต่หินหนืดใต้โลกพวกนี้ มันก็ไม่ได้ดันออกมานอกผิวโลกทั้งหมด บางส่วนมันก็ไม่ได้ถูกดันออกมานอกผิวโลก แค่ดันออกมาพ้นจากบริเวณที่ร้อนมากๆ พอพ้นออกมา ก็แทรกไปตามชั้นผิวโลกแล้วเย็นตัวลงซะก่อน ไม่ทันได้ออกมานอกผิวโลก พวกนี้จะเรียกว่า หินอัคนีแทรกซอน ก็อย่าง หินแกรนิต หินไดโอไรต์ เป็นต้น
หินเทิน
ซึ่งปรากฏการณ์ที่ภูเขาไฟระเบิด นำพาหินใต้โลกเหล่านี้ออกมา หรือพยายามจะแทรกขึ้นมา จะเกิดขึ้นอย่างมากในช่วงที่โลกเริ่มก่อตัว และปรับสมดุล ทั้งขยับเลื่อน เบียด ชนกัน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆบนพื้นโลก และยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน
นั่นคือหินจากใต้โลกที่ ภูเขาไฟ พ่นออกมาหรือนำพาออกมาพ้นจากจุดหลอมเหลวในโลก เราปฏิเสธไม่ได้เพราะมันก็ปรากฏให้เห็นอยู่ทนโท่ตรงไหนมี หินแกรนิต หินบะซอลต์ หินไรโอไลต์ มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกนี้เคยถูกหลอมเหลว เป็นหินหนืดมาก่อน
แต่มันก็จะมีหินอีกพวกหนึ่งที่มาสะสมตัวบนพื้นผิวโลก เกิดการทับถมกันเป็นชั้นๆ มีแรงกดดัน ใช้เวลานานนับล้านๆปี จนกลายเป็นหิน เรียกพวกนี้ว่าหินชั้นตามลักษณะการทับถมกันหรือหินตะกอนตามลักษณะสิ่งที่มาทับถมกัน พวกนี้ก็ได้แก่หินทราย(มักสะสมในธารน้ำโบราณ)
หินปูน(สะสมในทะเล ) เป็นต้น ง่ายๆก็คือ หินทราย หินปูนพวกนี้ไม่เคยได้สัมผัสในใจโลก พวกนี้มาเกิดบนพื้นโลกเรานี่เอง พวกนี้จึงไม่เกี่ยวอะไรกับแมกมา ลาวาหรือภูเขาไฟ แม้บางที่จะมีรูปทรงเป็นปล่อง เป็นหลุม เป็นรู ชวนให้จินตนาการไปเป็นภูเขาไฟ
แต่จริงๆ มันก็ไม่ใช่ภูเขาไฟ ไม่ใช่หินหนืด เพราะหินที่มันปรากฏมันไม่ใช่หินที่มากับภูขาไฟ ต่อให้เราอยากให้มันเป็นปล่องภูเขาไฟ แต่มันก็ไม่ใช่อยู่ดี
อย่างเช่นที่ วัดรอยพระพุทธบาท บ้านโพนสว่าง ต.พังแดง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ถึงเราจะจินตนาการว่ามันคือปล่องภูเขาไฟ แต่ในเมื่อมันมีแต่หินทราย มันไม่มีส่วนไหนเป็นหินหนืดหรือร่องรอยหินจากใต้โลกเลย มันก็ไม่เกี่ยวอะไรกับภูเขาไฟ
แต่มันจะมีบางที่ บางแห่ง ที่มีพวกหินตะกอนทับอยู่ด้านบน แต่พอขุดลึกลงไป ก็เจอหินอัคนีต่างๆ นั่นเป็นเพราะช่วงที่โลกปรับสมดุล ภูเขาไฟระเบิด พ่นลาวาออกมานั้นเกิดขึ้นมาก่อนที่หินตะกอนจะมาทับถมทับกันในภายหลังนั่นเอง
ยังมีหินประเภทที่สาม คือหินแปร ชื่อก็บอกแล้วว่า แปรมา ก็แปรมาทั้งจากหินอัคนีที่มาจากใต้โลก และหินตะกอนที่มาสะสมตัวบนพื้นโลกนี่แหละ โดยเมื่อหินเดิมๆได้รับความร้อนและแรงกดดันสูงเป็นเวลานาน ทำให้โครงสร้างของเนื้อหินและชนิดของแร่ประกอบหินเกิดการเปลี่ยนแปลงจนเกิดเป็นหินชนิดใหม่ อย่างเช่น หินอ่อน หินชนวน หินไนส์ ฯลฯ
สำหรับที่ หินเทินนี้ เป็น หินแกรนิต ซึ่งเป็นหินอัคนีแทรกซอน คือแต่ก่อนเคยหนืด ถูกดันออกมาไม่ทันพ้นผิวโลกก็เย็นตัวลงก่อน ต่อมาแผ่นเปลือกโลกก็ชนกัน ดันกันจนบรรดาหินอัคนีแทรกซอนที่เคยถูกฝังใต้โลกถูกดันตัวขึ้นมาอยู่บนพื้นโลก บางส่วนถูกดันขึ้นมาจนเป็นภูเขาหรือเป็นเนิน อย่างเช่นที่หินเทินนี้เอง
หนึ่งในเพิงหินแกรนิตในพื้นที่
หินอัคนีที่หินเทินนี้ จะเป็นหินอัคนีที่เรียกว่า ‘หินอัคนีเนื้อดอก’ ( porphyritic granite) คือที่มีแร่ชนิดอื่นๆปน ที่อธิบายไปแต่ต้นแล้ว แล้วมันก็ยังมีหินแกรนิตที่มีผลึกเท่ากันอีก(equi-granular granite) ท่านผู้อ่านไปเที่ยวตามภูเขาหินก็ลองสังเกตดู จะทำให้การท่องเที่ยวเราสนุกและมีจุดหมายมากขึ้นกว่าแค่การไปถ่ายรูป
สำหรับ เขาหินเทิน แห่งนี้ ทำเลที่ตั้งนั้นเป็นเนินสูงกว่าบริเวณโดยรอบ ที่เป็นไร่และที่ราบ อาจจะเพราะผุสลายลงช้ากว่าที่อื่นๆจึงยังคงเป็นเนินอยู่ สภาพจะเป็นกลุ่มหินแกรนิตขนาดใหญ่ ที่มีการผุพังทีละน้อยๆ จนบางจุด บางที่จะเห็นเป็นหินมันค้างคาอยู่บนหินก้อนอื่น
จนด้านล่างกลายเป็นเพิงถ้ำ (ซึ่งที่เขาหินเทินนี้ เพิงหินขนาดใหญ่ เป็นที่ที่พระท่านใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา) หรือเป็นช่อง เป็นหลืบถ้ำ
เส้นทางจะมาสิ้นสุดเมื่อมาบรรจบกับลานหน้าเพิงหินใหญ่อีกครั้ง
บางจุดจะเป็นหินก้อนกลมๆ ตั้งอยู่บนลานหินกว้างดูแล้วเป็นที่น่าอัศจรรย์ที่หินมันไม่กลิ้งหล่น ตกลงมา แต่ถ้าเราลองพิจารณาดีๆ จะเห็นว่าจุดที่หินตั้งอยู่นั้น จะเห็นว่ามันมีหินบางส่วน ร่อน แตก ออกมาจากหินก้อนใหญ่ แต่ยังค้ำหนุนหินก้อนนั้นไว้ ทำให้หินก้อนนั้นยังตั้งอยู่ได้
แต่สรรพสิ่งในโลกย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ไม่วันใดก็วันหนึ่ง หินที่แตกออกมาแล้วมาค้ำยันไว้ก็จะต้องผุสลาย แตกหัก หินที่เคยตั้งอยู่ก็อาจจะล้มลงก็ได้ เพียงแต่เรากำหนดวันไม่ได้แค่นั้นเอง
กองหินที่ว่านี้จะมีเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มด้านหน้า จะเป็นกองไม่ใหญ่นัก ถูกดัดแปลงและต่อเติมเป็นห้องพัก มีบันไดขึ้นไปชมทิวทัศน์ด้านบนได้
ส่วนที่เป็นกองใหญ่ คือทางด้านที่เป็นเพิงถ้ำขนาดใหญ่ ที่หินแกรนิตก้อนใหญ่มาซ้อนทับกันจนเป็นเพิงถ้ำนั้น บางพื้นที่ถูกปรับแต่ง เป็นลาน เป็นห้องที่พระท่านจำวัดอยู่ ในหินกลุ่มนี้ จะมีทางเดินเที่ยวชมไปยังจุดต่างๆในบริเวณ มีลูกศรชี้บอกทางไปยังจุดต่างๆ
บางจุดที่ต้องป่ายปีนขึ้นไปบนยอดหิน ก็จะมีการทำเป็นบันไดปูนให้ลองปีนขึ้นไป ขึ้นไปก็เห็นทิวทัศน์โดยรอบ ที่เป็นไร่สับปะรดบ้าง สวนยูคาบ้าง บางจุดก็เป็นเพิงหินแกรนิตขนาดใหญ่ ที่มีร่องรอยของการมาทำกิจกรรมทางศาสนา
ทางเดินนี้จะเริ่มต้นทางซ้ายมือของเพิงขนาดใหญ่ที่พระอยู่ แล้วจะอ้อมไปทางด้านหลัง ไปยังจุดต่างๆ แล้วขากลับก็จะวนกลับออกมาทางขวามือของเพิงถ้ำใหญ่นั่นอีกที เดินเที่ยวเองได้ ทางไม่ซับซ้อน มีลูกศรชี้บอกทางตลอดเส้นทาง ทางจะเดินเป็นวง จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดจะมาอยู่ที่เดียวกัน
การมาเที่ยวชมเขาหินเทินแห่งนี้ นอกจากจะเป็นการเดินเที่ยวชมความมหัศจรรย์ของธรรมชาติแล้วยังได้เดินดูหินที่เป็นร่องรอยของภูเขาไฟอีกด้วย การมาเที่ยวชมที่นี่นอกจากเพลิดเพลินแล้วจึงยังได้ความรู้อีกต่างหาก
ไปประจวบก็อย่าลืมแวะเข้าไปดูครับ แล้วจะรู้ว่าบ้านเมืองของเรานั้นมีที่เที่ยวที่ครบเครื่องจริงๆ. ......................................
ขอขอบคุณ ผอ.เลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ อดีตข้าราชการผู้ใหญ่ กรมทรัพยากรธรณี ที่กรุณาให้ความรู้ทางด้านธรณี ประกอบการเขียนในครั้งนี้