บริหารแผนน้ำแล้ง 64/65 สำเร็จ แม้ปลูกเกินแผนเกือบเท่าตัว

บริหารแผนน้ำแล้ง 64/65 สำเร็จ แม้ปลูกเกินแผนเกือบเท่าตัว

กรมชลประทาน จับมือประชาชน บริหารแผนน้ำแล้ง 64/65 สำเร็จ แม้ปลูกเกินแผนเกือบเท่าตัว

แผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปีเพาะปลูก 2564/65 เริ่ม 1 พ.ย. 64 จะครบกำหนด 30 เม.ย. 65  โดยแต่ละปีจะมีการวางแผนเพาะปลูกของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งในปีนี้จากสถานการณ์โควิด 19 ประชาชนกลับภูมิลำเนาและทำอาชีพเกษตรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการปลูกข้าวนาปรังในปีนี้ที่เกินแผนส่งเสริมเท่าตัว แต่ทางกลับกันพบว่ามีการใช้น้ำเกินแผนไปเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1-2 เท่านั้น

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานพอใจกับผลสัมฤทธิ์ของผลการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2564/65   เนื่องจากมีการใช้น้ำเกินแผนประมาณร้อยละ 1-2 ของแผนที่วางไว้เท่านั้นซึ่งไม่ส่งผลต่อปริมาณน้ำสำรองแต่อย่างใด  ในขณะที่การเพาะปลูกเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากแผนที่วางไว้ โดยทั่วประเทศกำหนดแผน 6.41 ล้านไร่  มีการปลูกจริง 8.07 ล้านไร่หรือร้อยละ 125.75 ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้ว3.96ล้านไร่    จึงถือเป็นสำเร็จจากความร่วมมือของภาคประชาชน เกษตรกร ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองท้องถิ่น  ร่วมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้ใช้น้ำอย่างยอดเยี่ยมที่ได้ร่วมกันประหยัดน้ำในการทำการเกษตรจนทำให้ผลการใช้น้ำออกตามที่กล่าว

“ในการบริหารน้ำครั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามแผนฤดูแล้งที่คณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ(กนช.)กำหนด และให้มีการใช้แหล่งน้ำในแก้มลิงที่กักเก็บไว้ หรือใช้น้ำในพื้นที่เป็นสำคัญ ขณะที่น้ำจากเขื่อนที่ระบายออกมานั้นได้ขอให้เกษตรกรใช้ตามรอบเวรที่หารือร่วมกัน  จากความร่วมมือครั้งนี้จะเห็นว่าการเกษตรปีนี้ไม่ขาดแคลนน้ำ  แม่น้ำทุกสายไม่มีปัญหาน้ำเค็ม  ซึ่งดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ย้ำให้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่อย่าให้ผลผลิตเสียหายเพราะเกษตรกรเป็นพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน”

สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี2564/2565( 30 พ.ย.64-30 เม.ย. 65) และผลการปลูกข้าวนาปรัง ณ  วันที่ 18 เม.ย. 65 พบว่า จากปริมาณน้ำตามแผนที่จะจัดสรร 22,280  ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกไปแล้ว 21,137 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 95 ของแผน คงเหลือปริมาณตามแผนอีก 1,143 ล้านลบ.ม. โดยในลุ่มเจ้าพระยามีแผนจัดสรรน้ำ 5,700 ล้าน ลบ.ม.  มีการจัดสรรแล้ว  5,840 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 102  ลุ่มน้ำแม่กลองแผนจัดสรร 5,500 ล้าน ลบ.ม. มีการจัดสรรแล้ว 3,356 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 61 คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีก 2,144 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 39  

ทั้งนี้ ผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2564/65 ข้อมูล ณ วันที่ 12 เม.ย. 65 รายงานว่าแผนการเพาะปลูกนาปรังที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดไว้คือ 6.41 ล้านไร่  มีการปลูกจริง 8.07 ล้านไร่ หรือร้อยละ 125.75 ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้ว 3.96 ล้านไร่  แบ่งเป็นลุ่มเจ้าพระยา แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2.81 ล้านไร่ ปลูกจริง 4.41 ล้านไร่ หรือร้อยละ 156.75 เก็บเกี่ยวแล้ว 2.99 ล้านไร่  ลุ่มน้ำแม่กลองแผนปลูก 8.4 แสนไร่ ปลูกจริง 7.8 แสนไร่  หรือร้อยละ 95.08 เก็บเกี่ยวแล้ว 4 หมื่นไร่

นอกจากนั้นในปี 2565  มีการคาดการณ์เรื่องสถานการณ์ลานีญา และสภาพอากาศที่แปรปรวนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานจึงได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.)ปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อป้องกันความเสียหายทางการเกษตร   ซึ่งในปี65 ทั้ง 11 ทุ่งลุ่มต่ำนั้น กรมชลฯได้กำหนดให้ทุ่งบางระกำหนดปลูกข้าว 1 เม.ย. กรมชลฯจะส่งน้ำวันที่ 15 มี.ค.  และในส่วนของทุ่งเจ้าพระยาจะเริ่มปลูก 1พ.ค.   จะเริ่มส่งน้ำได้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน เป็นต้นไป และได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้แข็งแรงพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด  และติดตาม วิเคราะห์สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ  อย่างใกล้ชิด  พร้อมทั้งทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง