จังหวะสะสมหุ้นไทย

จังหวะสะสมหุ้นไทย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือน มกราคม ผมมองว่ามีการฟื้นตัวบ้างการปรับตัวลงของราคาหุ้นก็ทำให้ในเชิงพื้นฐานมีความน่าสนใจมากขึ้น และก็จะเป็นจังหวะสะสมก่อนที่ผลการดำเนินงานประจำปี จะประกาศออกมา

ภาพรวมการลงทุนในเดือนที่ผ่านมา เริ่มเหมือนจะสดใส แต่ยังมีแรงขายของนักลงทุนทั้งสถาบันและต่างชาติ ด้านผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลก็เดินหน้าทำจุดต่ำสุดอย่างต่อเนื่อง ส่วนแรงซื้อที่มาจากกองทุนที่ได้ประโยชน์ทางภาษี เช่น RMF และ Thai ESG Fund ก็ดูค่อนข้างจะเบาบาง 

มาดูประเด็นหลักๆ กันบ้าง เริ่มจากกระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (Headline) ของไทยประจำเดือนพ.ย. ปรากฏว่าออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ และ ครม.อนุมัติมาตรการ Easy E-receipt เป็นของขวัญปีใหม่ 2568 เพื่อช่วยในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน วงเงิน 5 หมื่นบาท แต่วงเงินในการซื้อสินค้าทั่วไปจะลดลงเหลือไม่เกิน 3 หมื่นบาท 

และเรื่องที่ต้องขอกล่าวถึง คือ การเข้าถือหุ้นผ่านบริษัทย่อยเพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัทค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ของประเทศไทย ทำให้เกิดข้อสงสัยและความสับสนในกลุ่มนักลงทุนจนเป็นที่มาของแรงขายขนาดหนัก และทำให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมได้รับผลเสียหายอย่างหนัก มีผลทำให้ ดัชนีหุ้นไทยทรุดตัวลงมาเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 1,390 จุด 

ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่น่าสนใจที่ผ่านมา ได้แก่ ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ประจำเดือนพฤศจิกายน การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 227,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 220,000 ตำแหน่งเล็กน้อย ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงปรับสูงขึ้นหลังผู้นำระดับสูงของจีนวางแผนที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินและขยายการใช้จ่ายทางการคลังในปี 2568 ส่วนหนึ่ง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสงครามการค้ารอบที่สอง เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง ธนาคารกลางยุโรปมีมติปรับลดดอกเบี้ยสำคัญต่างๆลงอย่างละ 0.25% ตามคาด ถือเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่สี่ของปี และยังคงเปิดทางให้มีการผ่อนคลายเพิ่มเติม เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังคงอ่อนแอ 

ท้ายสุดต้องยกให้เป็นเรื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ( FED) ซึ่งมีมติลดดอกเบี้ย 0.25% เหลือระดับ 4.25-4.50% ตามคาด แต่ด้วยมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคือแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนจาก 4 ครั้งในปี 2568 ลดลงเหลือแค่ 2 ครั้ง และค่ากลางดอกเบี้ย ปีหน้าขยับขึ้นมา อยู่ที่ระดับ 3.75% - 4.00% สะท้อนถึงความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่อาจจะมาจากนโยบายประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ 

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ นโยบายหลักของประธานาธิบดีสหรัฐฯนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยแบ่งเป็น 3 นโยบายหลัก คือ การกีดกันผู้อพยพ สงครามการค้า ที่หาเสียงว่าจะปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจีน 60% สินค้าชาติอื่น 20% และ การกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯครั้งใหญ่ โดยเฉพาะแผนการลดภาษี แต่อาจจะต้องแลกกับการก่อหนี้รองรับขาดดุลการคลังที่เพิ่มสูงขึ้น น่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงในง่ลบต่อทิศทางเงินเฟ้อ และวงจรดอกเบี้ย ซึ่งตลาดเงินและตลาดทุนต่างก็สะท้อนภาพไประดับหนึ่งแล้ว 

ขณะนี้ภาพรวมของประเทศไทยในปีนี้ ผมมองว่าคงหวังพึ่งตัวช่วยจากการท่องเที่ยวให้มากไปกว่าปี 2567 ที่ผ่านมานั้นคงจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น ตัวหลักน่าจะมาจาก 2 เรื่อง คือการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะน่าจะเป็นปีที่เราสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ ตรงเวลา และน่าจะให้เม็ดเงินงบประมาณได้อย่างเต็มที่ ส่วนอีกเรื่องก็น่าจะมาจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรถไฟความเร็วสูง Entertainment Complex และ มาตรการ Easy E-Receipt เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชน

สำหรับ บรรยากาศตลาดหุ้นไทย ปีนี้การไถ่ถอนกองทุน LTF ที่เตรียมครบกำหนดอายุใหม่ประเมินว่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 5.5 พันล้านบาท ซึ่งผมมองว่าแรงไถ่ถอนนี้จะไม่ได้มีอิทธิพลกดดัน SET Index มากนัก ในภาวะที่สภาพคล่องของนักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง ดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือน มกราคม ผมมองว่ามีการฟื้นตัวบ้างการปรับตัวลงของราคาหุ้นก็ทำให้ในเชิงพื้นฐานมีความน่าสนใจมากขึ้น และก็จะเป็นจังหวะสะสมก่อนที่ผลการดำเนินงานประจำปี จะประกาศออกมา สำหรับตลาดตราสารหนี้ก็คงต้องบอกว่า Bond yield ยังคงเดินหน้าทำ จุดต่ำสุดต่อเนื่อง โดยรวมแล้วคาดว่าน่าจะดีกว่า เดือน ธันวาคม ที่ผ่านมา

สำหรับเดือนมกราคม 2568 ผมมองว่า SET Index อยู่ในระดับที่ต่ำและพร้อมที่จะฟื้นตัว ฉะนั้นพอร์ตการลงทุน ยังควรที่จะมีหุ้น 50% โดยแบ่งเน้นที่สหรัฐฯ 15% เนื่องจากเป็นเดือนที่ ประธานาธิบดี คนใหม่ของสหรัฐฯจะเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งหุ้นสหรัฐมักจะปรับตัวสูงขึ้น ส่วน ยุโรป และ ญี่ปุ่น รวมกัน 15% เวียดนาม อินเดีย ไทย รวมกันไม่เกิน 15% และจีน 5% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% และตลาดเงิน 10% ที่เหลือลงทุนใน ทอง น้ำมัน และ REIT รวมกันเป็น 10%