เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เป็นการส่วนพระองค์)
เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พร้อมด้วย เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติฯ เสด็จไปทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เป็นการส่วนพระองค์)
การดำเนินงานของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในพื้นที่นี้ ได้แก่ การดำเนินงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เพื่อให้ชุมชนได้เรียนรู้การเฝ้าระวังและเพื่อเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ ซึ่งภายหลังจากการดำเนินงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ชุมชนป่าภูถ้ำ ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติที่อุทยานแห่งชาติตาดโตนซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง สถานการณ์น้ำในพื้นที่และเพื่อเก็บข้อมูลเชิงสถิติ จำนวน 1 สถานี
โดยเฉพาะในกรณีพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ที่ คาดว่าจะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ชุมชนป่าภูถ้ำได้แจ้งเตือนชุมชนเครือข่าย ได้แก่ ชุมชนป่าภูถ้ำ อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น และชุมชนโนนแต้ อำเภอ คอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ
เมื่อพายุโซนร้อน“เตี้ยนหมู่” ได้เคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ วันที่ 25 กันยายน 2564 ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตนซึ่งเป็นต้นน้ำจังหวัดชัยภูมิ มีน้ำป่าไหลหลากลงสู่ลำปะทาวและแม่น้ำชีจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหลากตลอดแนวแม่น้ำชีรุนแรง ที่สุดในรอบ 50 ปี ประชาชนใน 16 อำเภอ ได้รับความเดือดร้อน
สำหรับเหตุการณ์พายุโซนร้อน“เตี้ยนหมู่” ในครั้งนี้มูลนิธิฯได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือมอบถุงยังชีพพระราชทาน และจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน บรรเทาทุกข์ในพื้นที่
เหตุการณ์ครั้งนี้ เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชน เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ชุมชนป่าภูถ้ำฯ ได้ให้การช่วยเหลือชุมชนโนนแต้ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ และชุมชนโนนเขวา อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น ด้วยการใช้วิทยุสื่อสารและเรือท้องแบนที่ได้รับจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชุมชนโนนแต้ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ น้อยกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับชุมชนอื่นที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน
นอกจากนี้ชุมชนโนนแต้ได้ดำเนินงานบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 มาใช้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 และชุมชนโนนแต้ยังได้รับอุปกรณ์เพื่อใช้ในการบรรเทาสาธารณภัย ได้แก่ วิทยุ สื่อสารและเรือท้องแบน จากมูลนิธิ ฯ เมื่อปี 2563 อีกด้วย
ต่อมา ชุมชนป่าภูถ้ำ ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำ จากพื้นที่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อสถานการณ์น้ำ แจ้งเตือนพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ ให้เฝ้าระวังและเร่งให้ความ ช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงภัย
นอกจากนี้ ในวันที่ 18 เมษายน 2565 มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จัด อบรม การประยุกต์ใช้ระบบโทรมาตรอัตโนมัติฯ และระบบสารสนเทศ เพื่อการเตือนภัยพิบัติในระดับชุมชน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำชุมชน ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดาริ รัชกาลที่ 9 บ้านโนนแต้ หมู่ที่ 4 ตำบลหนองขาม อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในงานเฝ้าระวังภัยพิบัติ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนในการบรรเทาปัญหาอุทกภัยในชุมชนต่อไป
ที่มา : เพจมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งภาฯยามยาก