ส่ง "ทุเรียน" ไปจีน 500 ตัน มูลค่ากว่า 90 ล้านบาท
ผู้ประกอบการนำทุเรียน 500 ตัน ส่งไปจีน ผ่านด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่หนองคาย ก่อนขึ้นขบวนรถไฟจากลาวไปจีน มูลค่ากว่า 90 ล้านบาท ศุลกากรเผยขั้นตอนการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรต้องทำให้ครบสมบูรณ์ จีนเข้มงวดซีโร่โควิดสารปนเปื้อนในทุเรียน
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 65 ที่ด่านศุลกากรหนองคาย พบว่ามีรถบรรทุกเย็นของ บริษัท สปีดอินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งทำการบรรทุกทุเรียนจากล้งภาคตะวันออกของไทย จำนวน 500 ตัน มูลค่า 89,100,000 บาท จอดรอทำพิธีการผ่านแดนที่ด่านศุลกากรหนองคาย โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ตรวจสอบการยื่นเอกสารเป็นการยื่นใบขนรถบรรทุก 27 คัน ตามระเบียบต้องรอให้รถครบจำนวนที่แจ้งก่อนจึงจะสามารถเดินทางผ่านแดนได้ ทำให้มีการเข้าใจผิดว่าการดำเนินการล่าช้าและทำให้ทุเรียนตกค้าง
นายวุฒิ เร่งประดุงทอง นายด่านศุลกากรหนองคาย กล่าวว่า ในการขนส่งสินค้าผ่านแดนทางด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร พืชผัก ผลไม้ นับตั้งแต่มีการเปิดใช้รถไฟลาว-จีน พบว่าปริมาณสินค้าผ่านแดนทางด้านนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงนี้จะมีทุเรียนต้องการส่งออกไปประเทศจีนเป็นจำนวนมาก สินค้าประเภทนี้จะมีการซีลมา และมีการตรวจจากหน่วยเซอร์เวย์ของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนมาในประเทศไทยโดยทางจีนจะมีการไปดูที่ต้นทางผลผลิต เช่น ถ้าทุเรียนมาจากล้งที่จันทบุรี หรือล้งที่ระยอง จะมีการตรวจ การบรรจุ และมีการซีลที่เป็นเหมือนการรับรองของผู้ซื้อในประเทศจีน เป็นการผ่านการดูแลในระดับหนึ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรประจำที่ล้ง ก็จะทำการตรวจสอบ จากนั้นก็จะส่งเลขซีลเข้ามาในระบบของศุลกากรเพื่อทำการส่งออก ถ้าจะนำส่งออกทางด่านศุลกากรหนองคาย ไม่ว่าจะทางรถยนต์หรือทางรถไฟ ทางเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชหนองคายจะเป็นผู้ตรวจซีลนี้ก่อน แล้วทำการออกใบไซโตซึ่งเป็นการยืนยันว่าเป็นผลผลิตทางการเกษตรปลอดภัย ไม่มีแมลงหรือสารปนเปื้อน เมื่อผ่านกระบวนการนี้แล้วผู้ประกอบการจะนำเอกสารเหล่านี้มาแนบกับใบขน ยื่นให้ศุลกากรทำการตรวจปล่อย หากขั้นตอนที่ว่านี้เรียบร้อย ศุลกากรสามารถตรวจปล่อยได้ทันทีในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง
เนื่องจากสินค้าทางการเกษตรกรณีที่ไม่เปิดตู้เย็น ซึ่งจีนกำลังใช้นโยบายซีโร่โควิด (Zero COVID) คือ ซีลต้องไม่แตก ไม่มีการแกะซีล สามารถตรวจปล่อยได้เลย ทางศุลกากรจะไม่ไปยุ่งเรื่องนี้เพราะหากซีลแตกจะมีปัญหา ทำให้ต้องเอาลงรถแล้วดูว่าสินค้าภายในนั้นได้รับความเสียหายอย่างไรหรือไม่ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้รับรองอีกทีหนึ่ง เพราะ กรมวิชาการเกษตรก็ต้องระวังไม่ให้เกิดปัญหาการสวมทุเรียนของประเทศเพื่อนบ้าน หรือหากมีผู้ไม่หวังดีกับผลไม้ไทยด้วยการนำผลไม้ที่ติดโควิด มีสารปนเปื้อนใส่เข้าไปหรือซีลแตก ทางจีนก็มีความกังวล ดังนั้นกระบวนการดังกล่าวเป็นเหมือนการควบคุมความสะอาดและคุณภาพป้องกันการปนเปื้อนแล้ว ศุลกากรก็จะดำเนินการตรวจปล่อย ยกเว้นกรณีที่มีข้อสงสัยจึงจะดำเนินการแต่ต้องแจ้งให้ทราบก่อน