ัร้องขอให้ตรวจสอบ‘วังช้างอยุธยา แล เพนียด’ มีคลิปทำร้าย"ช้าง"
ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า การท่องเที่ยวขี่ช้าง นำช้างมาโชว์ เป็นส่วนหนึ่งการทำร้ายสัตว์ ถ้านักท่องเที่ยวไม่สนับสนุน สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้น ลองหันมาสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบรักษ์ช้าง
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการตรวจสอบวังช้างอยุธยา แล เพนียด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอและข่าวสาธารณะเกี่ยวกับการทำร้ายช้างชื่อ ‘พลายจันเจ้า’ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของปางช้างดังกล่าว
ทางองค์กรฯ ได้เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการฯ ใช้อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ดังกล่าว ตลอดจนตรวจสอบปางช้างที่เกิดเหตุว่ามีใบอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินงานตามมาตรฐานด้านสวัสดิภาพช้างตามกฎหมายหรือไม่
โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ระบุว่า สิ่งที่ปรากฎในวิดีโอเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความโหดร้ายทารุณที่ช้างไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
"ช้างหลายชีวิตต้องเผชิญ ผ่านการถูกบังคับให้ทำกิจกรรมที่ผิดธรรมชาติของสัตว์ป่า เพียงเพื่อความบันเทิงของมนุษย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาและนักท่องเที่ยวเองก็มีแนวโน้มที่จะเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นประเทศไทยเองจึงควรมีมาตราการที่เข้มงวดเพื่อนำไปสู่การยุติการใช้สัตว์ป่าเพื่อความบันเทิง ซึ่งเป็นเหตุผลให้เรามายื่นข้อเรียกร้องในวันนี้”
นอกจากนี้ ทางองค์กรฯ ยังได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณชน เรียกร้องให้ร่วมกันตั้งคำถามและหาข้อมูลเกี่ยวกับการนำช้างมาใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้น
ตลอดจนเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเลือกชมช้างในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น อุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฯลฯ หรือ ‘ปางช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง’ ซึ่งไม่มีการขี่ช้างหรือโชว์ช้าง ช้างมีโอกาสได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงธรรมชาติ
ทั้งนี้ อาสาสมัครองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกและกลุ่มคนรักช้างที่ลงชื่อสนับสนุน พ.ร.บ.ช้างไทย ได้ร่วมถือป้ายแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการนำช้างมาใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างโหดร้ายทารุณ บริเวณสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการนำมาช้างมาให้นักท่องเที่ยวขี่เพื่อชมทัศนียภาพเป็นประจำที่มักถูกวิจารณ์ในแง่ลบทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติจากการที่ได้พบเห็นการบังคับช้างอย่างทารุณ
ด้านปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เผยว่า “ที่ผ่านมาองค์กรฯ พบว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับช้างไทยมีความซับซ้อน ไม่ทันสมัยและไม่ครอบคลุมถึงประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเหตุการณ์ทารุณกรรมช้างที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนถึงสถานการณ์ที่น่ากังวลของช้างไทยอย่างแท้จริง
"ดังนั้นจึงควรมีแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยที่หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดที่เกี่ยวข้องควรเร่งพิจารณา ‘ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย’ ฉบับภาคประชาสังคม โดยเร่งด่วน เพราะจะสามารถช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาสวัสดิภาพช้างได้อย่างเป็นระบบทั่วประเทศ”