สลด! สูญเสียช้างป่าครั้งเดียว 5 ตัว เหตุลงเล่นน้ำแล้วขึ้นไม่ได้

สลด! สูญเสียช้างป่าครั้งเดียว 5 ตัว เหตุลงเล่นน้ำแล้วขึ้นไม่ได้

สูญเสียช้างป่าครั้งเดียว 5 ตัว เหตุลงเล่นน้ำแล้วขึ้นไม่ได้ สลดพบเหลือแต่ซาก พบสภาพใต้ดินเป็นอุโมงค์ จากการทำเหมืองใต้ดิน

วันนี้ 5 พ.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก ช้างป่า ห้วยเขย่ง ทองผาภูมิ ได้นำภาพช้างป่าจำนวน 5 ตัว เสียชีวิตอยู่ในบ่อน้ำ สภาพเน่าเปื่อยเหลือแต่กระดูกมาโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก พร้อมกับบรรยายรายละเอียดเอาไว้ว่า

 

“เส้นทางสู่ความตาย ขอให้ดวงวิญญาณของพี่ใหญ่ทั้ง 5 ชีวิต จงไปสู่ภพภูมิที่ดีกว่าชาตินี้ สาธุ”หลังจากโพสต์เฟซบุ๊กได้ไม่นาน มีสมาชิกเข้าไปแสดงความคิดเห็น พร้อมสอบถามข้อมูลเพื่อต้องการทราบรายละเอียดเป็นจำนวนมาก และนอกจากนี้ยังมีผู้เข้าไปแสดงความเสียใจกันเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เบื้องต้นให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าบ้านชะอี้ หมู่ 7 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี แต่ยังไม่ทราบว่าอยู่ในเขตอุทยานฯ หรือไม่อย่างไร

ล่าสุด นายพิเชษฐ   ชัยสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติลำคลองงู รายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงทราบว่า เวลา 13.30 น. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงูได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านชะอี้ ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ว่ามีชาวบ้านได้เข้าไปหาของป่า บริเวณป่าเหมืองสองท่อ พิกัดที่ 47P 477562E  16238442N พบช้างป่าตกลงไปในหลุม ประมาณ 4-5 ตัว

1. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงู ได้เข้าดำเนินการตรวจสอบ ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาพระฤๅษี และป่าเขาบ่อแร่แปลงที่ 1 ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู

2. พบซากช้างในบ่อหลุมยุบสภาพการตายแล้วประมาณ 2 เดือน เป็นช้างโตเต็มวัย 2 ตัว และช้างรุ่น 1 ตัว และลูกช้าง 2 ตัว มีสภาพเน่าเปื่อยเห็นโครงกระดูก ไม่สามารถพิสูจน์เพศได้

3. เจ้าหน้าที่อุทยานฯได้ดำเนินการจัดทำบันทึกตรวจสอบร่วมกับผู้ใหญ่บ้านหมูที่ 7 บ้านชะอี้ เพื่อนำไปลงบันทึกประวันไว้เป็นหลักฐาน

4.สำหรับซากช้างดังกล่าว ทางอุทยานฯจะได้ดำเนินการโรยปูนขาวและดำเนินการตามหลักวิชาการ และร่วมกับชุมชนในการดำเนินการฝังกลบต่อไป

5.เหตุเกิดนอกเขตอุทยานแห่งชาติลำคลองงู ในเขตป่าเขาพระฤๅษี และป่าเขาบ่อแร่แปลงที่ 1บ้านชะอี้ หมู่ที่ 7 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

6. สำหรับพื้นที่ดังกล่าวเกิดจากการยุบตัวของดิน ซึ่งสภาพใต้ดินเป็นอุโมงค์ จากการทำเหมืองใต้ดิน ซึ่งสภาพโดยทั่วไปมีการยุบตัวอยู่หลายหลุม ทำให้เป็นอันตรายต่อสัตว์และมนุษย์ ที่เข้าไปในพื้นที่ เห็นควรให้ผู้นำหมู่บ้านจัดทำป้ายเตือนภัย