ผบช.น. แจง "Car Seat" ยังไม่บังคับใช้ เน้นสร้างความเข้าใจ
ผบช.น. แจงยังไม่บังคับใช้ กม. เด็กที่อายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่ง "Car Seat" แต่ต้องหาที่นั่งปลอดภัยให้เด็ก ช่วงแรกเน้นสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่จับปรับ
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 65 พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยกรณีกระแสข่าว หลังจากมีการประกาศราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้กฎหมายให้เด็กที่อายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่ง "คาร์ซีท" และมีโทษปรับถึง 2,000 บาท เเต่โนโลกออนไลน์กลับมีการเเสดงความเห็นเชิงลบ กับการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้ จนกลายเป็นดราม่า "คาร์ซีท" ว่า เป็นเรื่องของรายได้กับกฎหมายที่กำลังสวนทางกัน ทำให้คนออกมามองกฎหมายในเเง่ลบ ทั้งที่กฎหมายมีข้อดี แต่มันต้องใช้เงินด้วย และที่สำคัญคือรัฐออกกฏเพื่อความปลอดภัย แต่ไม่ส่งเสริมให้มีอุปกรณ์ให้ใช้
พล.ต.ต. จิรสันต์ ระบุว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบพบว่า พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับล่าสุดที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน หรือในวันที่ 5 กันยายนนี้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีใจความสำคัญคือ ป้องกันไม่ให้เด็กได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตรายหากเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยการจัดที่นั่งที่เหมาะสมให้ โดยระบุใจความสำคัญในการป้องกันไว้ 3 รูปแบบ คือ ผู้ปกครองต้องจัดที่นั่งนิรภัย หรือ Car Seat สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ หรือมีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร หรือต้องจัดหาที่นั่งพิเศษ สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ หรือมีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร หรือหาวิธีป้องกันสำหรับเด็กที่โดยสารบนรถ
ซึ่งหากตีความข้อกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไม่ได้บังคับตายตัวว่าจะต้องใช้เพียงที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ Car Seat เพียงอย่างเดียว แต่ยังระบุว่าจัดหาที่นั่งสำหรับเด็ก เช่น การจัดให้เด็กนั่งและคาดเข็มขัดนิรภัยให้ หรืออาจใช้วิธีการป้องกันอื่นๆ เช่น การนำเด็กมานั่งตักและคาดเข็มขัดนิรภัยให้ทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งลักษณะและวิธีการป้องกันดังกล่าวต้องรอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่างข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าการติดตั้งหรือจัดหาที่นั่งแต่ละแบบนั้นจะมีรูปแบบอย่างไร แบบไหนที่สามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ได้
ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะใช้เวลาในช่วงก่อนกฎหมายบังคับใช้ 120 วัน ร่างข้อกำหนดดังกล่าวให้เสร็จสิ้น และหากยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้นเรียบร้อย ก็ยังมีเวลาอีก 90 วันที่สามารถร่างข้อกฎหมายให้เสร็จสิ้นได้ ซึ่งคาดว่าหากใช้เวลาเต็มที่ กฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้ หรือมีการจับปรับได้ในวันที่ 5 ธันวาคม 2565
โดยช่วงแรก กองบัญชาการตำรวจนครบาลจะเน้นรูปแบบการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองทราบและหาวิธีการป้องกันตามข้อกฎหมายดังกล่าว แต่จะไม่ได้เป็นรูปแบบของการตั้งด่านตรวจหรือจับปรับ แต่หากเป็นเหตุซึ่งหน้า ก็จะตักเตือนประชาสัมพันธ์ให้แก้ไขให้ถูกต้องเท่านั้น
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า หากเป็นรถโดยสาร รถแท็กซี่ รถประจำทาง หรือรถโรงเรียน กฎหมายดังกล่าวจะถูกบังคับใช้ไปด้วยหรือไม่ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกที่จะต้องออกประกาศว่ารถชนิดใดที่จะถูกบังคับใช้ตามกฎหมายนี้ และรถประเภทใดที่ได้รับข้อยกเว้น