ธุรกิจเลี้ยงกุ้งกระทบหนัก หลังราคาพลังงานแพง
ธุรกิจบ่อกุ้งกระทบหนักจากต้นทุนการผลิต ทั้งราคาอาหารกุ้ง ค่าเวชภัณฑ์ ค่าคนงาน และโดยเฉพาะราคาพลังงานแพง ทั้งแก๊ส น้ำมันดีเซลที่มีการปรับราคาต่อเนื่อง หากมีการประกาศปรับราคาต้องไปซื้อมากักตุนไว้ แต่ได้ไม่มาก เพราะระเหย
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 65 นายเจริญ หยงสตาร์ ประธานสหกรณ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจังหวัดตรัง จำกัด กล่าวว่า พลังงาน ค่าอาหารปรับราคาส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอย่างมาก เมื่อทราบว่าน้ำมันจะปรับราคาก็ต้องซื้อไปกักตุนไว้ใช้ในฟาร์ม ครั้งละ 1,000 – 2,000 ลิตร และยังมีการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้กับถังแก๊สด้วย เพื่อใช้ปั่นเครื่องยนต์ในการตีน้ำหรือปั่นน้ำ และให้ออกซิเจนกุ้ง ทั้งนี้ เครื่องปั่นน้ำดังกล่าวเดิมใช้น้ำมันเบนซิน แต่น้ำมันเบนซินราคาแพงมาก จึงปรับแต่งเครื่องยนต์มาใช้กับถังแก๊ส เพื่อประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย โดยฟาร์มมีบ่อเลี้ยงกุ้งทั้งหมด 20 บ่อ แต่ละบ่อจะต้องใช้ถังแก๊สขนาด 48 กิโลกรัม รวมประมาณ 3 ถัง โดย 1 ถังใช้ได้ประมาณ 2 วันก็หมด ทั้งนี้ หากเป็นกุ้งโตเต็มวัยจะต้องใช้แก๊สเยอะ แต่ถ้ากุ้งอายุน้อยจะใช้น้อย ทั้งนี้ เฉพาะค่าแก๊สที่ต้องใช้ต่อบ่อที่มีขนาด 2-3 ไร่ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าแก๊สจนกว่าจะสามารถจับกุ้งขายได้ต้องใช้เงินประมาณ 150,000 บาทต่อบ่อ ซึ่งเมื่อมาคิดต้นทุนเฉพาะค่าพลังงานในการเลี้ยงกุ้งจนกว่าจะจับขายได้คิดเป็นเงินประมาณ 20 – 25 บาทต่อกุ้ง 1 กิโลกรัม
ส่วนการสูบน้ำจากบ่อภายนอกไปยังพักน้ำ สูบจากบ่อพักน้ำไปยังบ่อเลี้ยง จะต้องใช้น้ำมันดีเซลต่อเดือนค่าเฉลี่ยทั้งฟาร์มก็อยู่ที่ประมาณ 1 แสนกว่าบาท ตอนนี้ดูสถานการณ์ราคาอฃของน้ำมันขยับขึ้นเรื่อยๆ ต้องคอยสังเกตุถ้ามีการประกาศว่าจะขึ้นราคาก็ต้องจัดเตรียมไปซื้อมาเก็บกักตุนไว้ในถังขนาด 1,000 – 2,000 ลิตร หรือว่ามากกว่านั้น แต่ข้อเสียในการซื้อน้ำมันมากักตุนก็คือ จะระเหยไปมากเหมือนกัน ทั้งนี้ ในการจัดเก็บก็ต้องนำไปเก็บไว้ในโกดังที่แยกเป็นสัดส่วน เพื่อความปลอดภัยป้องกันอุบัติเหตุ แต่ขณะนี้ทางฟาร์ม ซึ่งถือเป็นฟาร์มขนาดเล็กที่ไม่มีไฟฟ้า ก็ต้องปรับตัว ด้วยการลดปริมาณการใช้น้ำมันลงมา ส่วนหนึ่งทำการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้กับแก๊สแทน แต่แก๊สราคาก็ปรับตามเช่นกัน ต่อเดือนเฉพาะแก๊สต้องใช้จำนวนมากเดือนละหลายแสนบาท ส่วนค่าน้ำมันดีเซลที่จะต้องใช้ในการสูบน้ำเข้าบ่อต่อเดือนกว่า 1 แสนบาท
โดยภาพรวมขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องเผชิญกับค่าพลังงานที่แพงขึ้นทั้งน้ำมันดีเซล ค่าแก๊ส ค่าเวชภัณฑ์ ค่าคนงาน และค่าอาหารกุ้งที่มีการปรับราคาแพงขึ้นด้วยกิโลกรัมละ 1 – 1.30 บาท ทำให้ราคาค่าอาหารตกประมาณ 60 บาทต่อกุ้ง 1 กิโลกรัม ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยงสูงขึ้นมาก โดยรวมต้นทุนทั้งหมดประมาณ 130 บาทต่อกุ้ง 1 กิโลกรัม และหากพลังงานยังมีการปรับราคาขึ้นไปอีก จะยิ่งเพิ่มภาระต้นทุนให้กับเกษตรกรมากขึ้น ขณะที่ราคากุ้งไม่ได้ขยับขึ้นราคาตาม ก็ต้องรอดูสถานการณ์ต่อไป ส่วนราคากุ้งขณะนี้อยู่ในราคาต้นทุนปกติ เช่น ขนาด 100 ตัวต่อกก.ราคา 130 บาท ,ขนาด 70 ตัวต่อกก.ราคา 140 บาท ซึ่งเป็นราคาต้นทุนที่สามารถทำกำไรได้เล็กน้อย แต่ถ้าราคาตกหรือต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นอีก เกษตรกรก็จะแย่วิกฤติหนักแน่นอน