แพร่เชื้อจากลิงสู่คน “โนวไซ” ไข้มาลาเรีย พบที่ตราดแล้ว 11 ราย
เฝ้าระวังเตือนภัย “โนวไซ” ไข้มาลาเรีย แพร่เชื้อจากลิงสู่คนที่ตราดแล้ว 11 ราย
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวถึงสถานการณ์ไข้มาลาเรียนสายพันธุ์ โนวไซ ในจังหวัดตราดว่า ได้รับรายงานจากสาธารณสุขว่า มีผู้ติดเชื้อในจังหวัดตราด รวม 11 ราย คือ อำเภอบ่อไร่ 2 ราย และอำเภอเกาะช้าง 9 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ที่อยู่ในแนวป่า หรือเข้าไปทำงานในป่า
ขณะนี้ทำการรักษาหายแล้ว แต่ก็ให้บุคคลเหล่านี้ ระมัดระวัง กักตัวเองอย่าให้ยุงกัด เพื่อไปแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อไป และขณะเดียวกัน ได้ทำแผนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ และเฝ้าระวัง และก็ไม่ให้เกิดการแตกตื่นกับประชาชนทั่วไปรวมทั้งนักท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากมาลาเรียสายพันธุ์นี้จะแพร่จากลิง สู่คนได้ โดยมียุงก้นปล่อง เป็นพาหะนำโรคเท่านั้น โดยให้เจ้าหน้าที่แนะนำชาวบ้านที่อยู่ใกล้แนวชายป่า ให้ระมัดระวังอย่าให้ยุงก้นปล่องกัด ด้วยการนอนกางมุ้ง หรือใช้โลชั่นทากันยุงเมื่อมีความจำเป็นต้องเข้าไปในป่า
ทั้งนี้ ด้วยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แจ้งเตือนผู้ที่ทำงานใกล้ชิดลิงหรืออยู่อาศัยแนวชายป่าที่มีลิงอาศัยอยู่ ว่ามีโอกาสป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรียสายพันธุ์ “โนวไซ” ซึ่งเชื้อชนิดนี้สามารถติดต่อจากลิงสู่คนได้ และแบ่งตัวในร่างกายคนได้เร็วและมากกว่าเชื้อชนิดอื่น ทำให้มีอาการไข้สูง หนาวสั่น แต่การรักษายังสามารถใช้ตัวยาเดียวกับเชื้อชนิดอื่นได้ ในปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 31 มีนาคม 2565 พบผู้ป่วยไข้มาลาเรียจากเชื้อชนิดนี้แล้ว 70 ราย โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดระนอง สงขลา และตราด ดังนั้น ผู้ที่พักอาศัย หรือทำงานในป่าหรือใกล้แนวป่า หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เหงื่อออกมาก ต้องให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และเร่งให้การรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะหากช้าอาจจะมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตได้
ขณะนายสังเวียน วัฒนชัย ผอ.กองสาธารณสุข เทศบาลตำบลน้ำเชี่ยว ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ติดป่าชายเลน ต.น้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ และมีฝูงลิงแสมอาศัยอยู่ 2-3 ฝูงประมาณ 300 ตัว ได้แจ้งเตือนชาวบ้านผ่านหอกระจายเสียง และทำโครงการกำจัดยุงลาย ยุงก้นปล่องตัวแก่ด้วยการฉีดพ่นหมอกควัน แม้จะยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อมาลาเรียจากลิงในตำบลน้ำเชี่ยวก็ตาม
โดย นส.จรัญ จันทร์จรูญ ชาวบ้านเกาะลอยต.น้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ ชุมชนติดป่าชายเลน บอกว่าเฝ้าระวังกันด้วยการนอนกางมุ้ง จุดยากันยุง และทาโลชั่นกันยุง ช่วงค่ำทุกวัน ขณะที่ นายดุสิต สมุทระกพงศ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ที่มีประชากรลิงแสมและลิงหางสั้นจำนวนกว่า 1- 2 พันตัวรอบเกาะช้าง บอกว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ป่วยติดเชื้อมาลาเรียจากลิงไปแล้ว 1 นาย แต่ก็รักษาหายแล้ว
สาเหตุจากการเดินสำรวจสมาร์ททาโท (สำรวจป่า) และต้องพักค้างคืนในป่า ทำให้ถูกยุงก้นปล่องกัดจนติดเชื้อมาดังกล่าว ขณะนี้อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เตรียมทำโครงการควบคุมประชากรลิงกับหน่วยงานต่างๆบนเกาะช้าง เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับการแพร่เชื้อมาลาเรียสู่คนต่อไป