"มะเร็งปอด" เพชฌฆาตเงียบคร่าชีวิต เช็กปัจจัยเสี่ยง อาการของโรค และการรักษา
"มะเร็งปอด" เพชฌฆาตเงียบคร่าชีวิต "หมอมนูญ" เผยปัจจัยเสี่ยง อาการของโรค และการรักษา ชี้แม้ไม่เคยสูบบุหรี่ก็เสี่ยงป่วยโรคนี้ได้ แนะตรวจคัดกรองมะเร็งปอดประจำปีลดสูญเสีย
วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หรือ "หมอมนูญ" ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก "หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC" ระบุถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค "มะเร็งปอด"
หมอมนูญ ระบุว่า ประชาชนไทยจำนวนมากยังขาดความตระหนักรู้ด้านการคัดกรองโรค "มะเร็งปอด" ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น "มะเร็งปอดระยะสุดท้าย" ซึ่งมักมีอัตราการรอดชีวิตต่ำ
หากเจอ "มะเร็งปอดในระยะที่ 4" หรือ ระยะแพร่กระจาย ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี เพียง 0-10% เท่านั้น ถ้าเราเจอมะเร็งปอดระยะ 1 หรือ 2 ซึ่งก็คือ "ระยะเริ่มต้น" ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 5 ปี สูงถึง 53-92% แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยตรวจพบ "มะเร็งปอดระยะเริ่มต้น" เพียงแค่ 15% เท่านั้น
ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด ได้แก่ สูบบุหรี่, หายใจควันบุหรี่มือสอง, ควันธูป, ควันจากการเผากระดาษเงินกระดาษทอง, ควันจากเตาถ่านในการหุงต้มปิ้งย่าง, ควันจากท่อไอเสียรถยนต์, ก๊าชเรดอน, สารเคมีก่อมะเร็ง, แร่ใยหิน, โลหะหนัก, ฝุ่น PM2.5
หรือมีคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งปอด เคยมีประวัติเป็นมะเร็งชนิดอื่นหรือเป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับปอด เช่น โรคถุงลมโป่งพอง พังผืดในปอดมาก่อน จึงควรใส่ใจ
สัญญาณเตือนด้านสุขภาพ
หากสังเกตว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการต่อไปนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับตรวจคัดกรองมะเร็งปอด เช่น เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจมีเสียงหวีด เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร น้ำหนักลดเป็นต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
วิธีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ หรือ Low dose CT Scan มีความแม่นยำกว่าการเอกซเรย์ทรวงอกถึง 6 เท่า ส่งผลให้พบ "มะเร็งปอด" ได้รวดเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดลงได้ 20%
National Comprehensive Cancer Network (NCCN) ระบุว่า กลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งปอด ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และมีประวัติการสูบบุหรี่มากกว่า 20 pack-year ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดประจำปี ด้วย Low dose CT Scan ในขณะที่ผู้ที่อาจมีปัจจัยเสี่ยงหรือผู้ที่ใส่ใจสุขภาพก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอเข้ารับตรวจคัดกรองด้วยวิธีดังกล่าวได้เช่นกัน เพราะมะเร็งปอดคร่าชีวิตคนไทยปีละ 2 หมื่นกว่าคน ถือเป็นภัยสุขภาพที่คุกคามร่างกายอย่างเงียบๆ
ทั้งนี้ "หมอมนูญ" ยังระบุอีกว่า เปรียบเทียบข้อดีและข้อจำกัดของแต่ละวิธีในการคัดกรองมะเร็งปอด
เอกซเรย์ทรวงอก หรือ chest X-ray ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่มีประสิทธิภาพไม่มากพอที่จะคัดกรองมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร และถ้าอยู่ในตำแหน่งที่หัวใจ กระบังลม หรือกระดูกมาบดบังยิ่งทำให้มองไม่เห็นก้อนผิดปกติได้
ส่วนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan มีความแม่นยำสูงกว่ามาก แต่เป็นวิธีที่ได้รับกัมมันตภาพรังสีมากกว่าเอกซเรย์ปอดถึง 120 เท่า
ส่วนวิธีการตรวจเอกเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำ หรือ low-dose CT Scan มีความแม่นยำกว่าเอกซเรย์ทรวงอก เห็นก้อนขนาดตั้งแต่ 2-3 มิลลิเมตรขึ้นไป เห็นได้ทุกตำแหน่ง เพราะเห็น 3 มิติ ส่งผลให้พบมะเร็งปอดได้รวดเร็วตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดลงได้ 20%
ดังนั้น การตรวจเอกเรย์คอมพิวเตอร์ช่องอกแบบใช้รังสีต่ำจึงเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ คนไข้ได้รับกัมมันตภาพรังสีน้อยกว่าการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ธรรมดา 8 เท่า เปรียบได้กับได้รับกัมมันตภาพรังสีจากการทำเอกซเรย์ปอด 15 ครั้ง
ยกตัวอย่างผู้ป่วยหญิงอายุ 80 ปี ไม่สูบบุหรี่ ไม่ไอ ไม่เหนื่อย น้ำหนักลด 7 กิโลกรัมในเวลา 6 เดือน ตรวจ CEA ค่ามะเร็งในเลือดสูง 19 (ค่าปกติน้อยกว่า 4.3) เอกซเรย์ปอดเฉพาะด้านหน้าไม่พบอะไรผิดปกติ (ดูรูป) คอมพิวเตอร์ทรวงอกในวันเดียวกัน เห็นก้อนขนาด 2.5 เซนติเมตรที่ปอดข้างซ้ายด้านล่าง อยู่ด้านหลังของหัวใจ จึงทำให้เอกซเรย์ปอดไม่เห็นก้อนผิดปกติ (ดูรูป)