จุฬาฯ ขอขึ้นทะเบียน "กัญชาสายพันธุ์เพชรชมพู 1-5"
ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยื่นคำขอรับหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน “กัญชาสายพันธุ์เพชรชมพู 1 - 5” กับกรมวิชาการเกษตร หลังศึกษาวิจัยต่อเนื่องจนได้สายพันธุ์ที่ดีตรงตามความต้องการ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ได้ดำเนินการยื่นคำขอรับหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน “กัญชาสายพันธุ์เพชรชมพู” ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช 2518 กับกรมวิชาการเกษตร จากการที่ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทำการศึกษาวิจัยกัญชาสายพันธุ์ไทยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ปี จนสามารถพัฒนาได้สายพันธุ์ที่ดีตรงตามความต้องการ และใช้ชื่อว่า “เพชรชมพู 1-5”
ศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย รองคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาฯ เปิดเผยว่า การขึ้นทะเบียนสายพันธุ์กัญชากับกรมวิชาการการเกษตร เป็นเป้าหมายหนึ่งของศูนย์วิจัยยาเสพติด เนื่องจากเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยที่ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินการมา เพื่อยืนยันว่ากัญชาสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่จุฬาฯ คิดค้นขึ้น และมีลักษณะโดดเด่นอย่างไร หลังจากการได้รับอนุมัติการขึ้นทะเบียนสายพันธุ์กัญชาแล้ว จะทำให้ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาฯ สามารถใช้สายพันธุ์เพชรชมพูดำเนินการต่อไปทั้งในการสกัด และการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับใช้รักษาโรค โดยจะทดลองในในสัตว์และมนุษย์ต่อไป
ศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาฯ มีความเชี่ยวชาญเรื่องยาเสพติด โดยได้ศึกษาวิจัยเรื่องยาเสพติดมาเป็นเวลา 50 ปีแล้ว นับเป็นศูนย์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO Collaborating Centre for Research and Training in Drug Dependence) ในส่วนของการศึกษาวิจัยเรื่องกัญชานั้น เริ่มต้นจากการที่ศูนย์วิจัยยาเสพติดได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พื้นที่ 1 ไร่ที่ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค โครงการพัฒนาที่ดินจุฬาฯ สระบุรี อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เป็นพื้นที่ในการปลูกกัญชา แบ่งพื้นที่การปลูกออกเป็น 3 ระบบได้แก่ ระบบปิด (In-house) มีการควบคุมความชื้น อุณหภูมิและแสงจากภายนอก ระบบกึ่งปิด (Greenhouse) มีที่กั้นป้องกันแมลง การระบายอากาศ ใช้แสงจากธรรมชาติ และระบบเปิด (Outdoor) ซึ่งเป็นการปลูกกลางแจ้ง มีกล้องวงจรปิด ควบคุมความปลอดภัย เพื่อดูว่าการปลูกกัญชาทั้งสามระบบนี้ระบบใดที่ให้ผลผลิตกัญชาที่มีประสิทธิภาพ ได้สารสำคัญสูงสุด ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เพิ่มพื้นที่อีก 30 ไร่ในการขยายผลต่อยอดงานวิจัยครั้งนี้ เพื่อการดำเนินการอย่างชัดเจนและครบวงจรมากขึ้น
ศ.ดร.จิตรลดา กล่าวว่า สายพันธุ์กัญชาที่ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาฯ ได้ปรับปรุงและพัฒนาขึ้น เป็นการปลูกแบบชีวภาพ ไม่มีการใช้สารเคมีแต่อย่างใด จึงไม่มีสารปนเปื้อนหรือโลหะหนัก ทำให้ได้กัญชาสายพันธุ์ไทยที่มีคุณภาพ เรียกว่าสายพันธุ์เพชรชมพู 1 - 5 ซึ่งมีลักษณะเด่นแตกต่างกัน
ทั้งนี้ ภายหลังการดำเนินการยื่นคำขอรับหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน “กัญชาสายพันธุ์เพชรชมพู” ทางกรมวิชาการเกษตรได้ให้ความสนใจร่วมลงนาม MOU กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสานต่องานวิจัย วิชาการ การจัดการเรียนการสอนและการจัดอบรมร่วมกัน ซึ่งจะทำให้องค์ความรู้ของจุฬาฯ ขยายผลและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
กัญชาพันธุ์เพชรชมพูเป็นสายพันธุ์กัญชาที่น่าภาคภูมิใจของจุฬาฯ การที่ได้นำสายพันธุ์กัญชาเพชรชมพูขึ้นทะเบียนสายพันธุ์กัญชาเป็นสายพันธุ์ตั้งต้น นับเป็นก้าวที่ดีในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเป้าหมายการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยยาเสพติด จุฬาฯ โทร. 09-8269-6103