กรุงเทพธนาคม-กทม. พร้อมเปิดสัญญา"สายสีเขียว" จ่อถกบีทีเอส เก็บส่วนต่อ ส.ค.
"กรุงเทพธนาคม" รายงาน "ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" ปมสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภาระหนี้ เห็นพ้องพร้อมเปิดสัญญาต่อประชาชน เพื่อความโปร่งใส คาด ส.ค.เตรียมเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 2 ช่วง "ธงทอง"เตรียมเชิญบีทีเอสหารือภายใน ก.ค.นี้
วันนี้ (2 ก.ค.2565) ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ครั้งที่ 2/2565 ในวาระสัญญาการจ้างเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 โดยมีนายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ(บอร์ด) ทำหน้าที่ประธานการประชุม และต่อมาได้เชิญคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร(กทม.) เข้าร่วมด้วย นำโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(ผู้ว่าฯกทม.) พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.
สำหรับการประชุมวันนี้ คณะกรรมการบริษัทเคที มีประเด็นหารือถึงสัญญาจ้างการเดินรถ ตั้งแต่ปี 2555-2585 ซึ่งเป็นการเซ็นสัญญาในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯกทม. รวมไปถึงการเจรจาจ้างเดินรถใหม่กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ให้สิ้นสุดที่ปี 2572 ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่บีทีเอสหมดสัญญาสัมปทานสายสีเขียวส่วนหลัก
โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการเคที ได้ประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา และการประชุมวันนี้ได้สรุปประเด็นเบื้องต้น และรายงานความคืบหน้าให้ผู้ว่าฯ กทม.รับทราบ รวมถึงข้อเสนอเกี่ยวกับประเด็นสัญญาสัมปทานและค่าโดยสาร
หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายธงทอง เปิดเผยถึงประเด็นปัญหาในสัญญากับภาคเอกชนว่า เบื้องต้นจะเร่งพิจารณา 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องร้องเรียนปมทุจริต ที่อยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรุงเทพธนาคมจะทำหนังสือไปยัง ป.ป.ช แสดงความจำนงในการให้ข้อมูลอย่างเต็มที่
ส่วนสัญญาการเดินรถในส่วนต่อขยาย 2 ช่วง ( ส่วนที่ 1 ที่ต่อไปทางสำโรง-สมุทรปราการ และส่วนที่ 2 ห้าแยกลาดพร้าว-คูคต) ซึ่งยังไม่เก็บค่าโดยสารในขณะนี้ ล่าสุด ที่ประชุมบอร์ดมีมติให้เก็บค่าโดยสาร โดยจะเริ่มเก็บตั้งแต่เดือน ส.ค.เพื่อให้ กทม.มีรายได้ มาจ่ายค่าดอกเบี้ย และค่าจ้างเอกชนเดินรถ จากการทบทวนเปรียบเทียบกับส่วนต่อขยาย 1 แล้วพบว่าส่วนต่อขยาย 2 ไม่ได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจาก กทม. จึงได้เรียนผู้ว่าฯ กทม.เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการที่ถูกต้องต่อไป
สำหรับการรับผิดชอบของกรุงเทพธนาคมโดยตรง จะเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินรถตามสัญญา จากการตรวจสอบสัญญาพบว่าสูตรคำนวณน่าจะมีความคลาดเคลื่อนบางประการ โดยภายในเดือน ก.ค.นี้จะเชิญบริษัทเอกชนคู่สัญญา(บีทีเอส) เข้ามาเจรจาหารือเพื่อสนับสนุนข้อมูลร่วมกันด้วย
นายธงทอง ยังกล่าวถึงประเด็นการเปิดเผยสัญญาสัมปทานด้วยว่า จากการหารือพบว่า กทม.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ มีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาก กทม.ได้รับข้อมูลนี้ไปแล้ว จะปฏิบัติอย่างไรต่อก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ
สำหรับคดีความระหว่าง กทม.กับบีทีเอส ผู้ว่าฯ กทม.ถือเป็นจำเลยที่หนึ่ง ส่วนประธานบอร์ดกรุงเทพธนาคมเป็นจำเลยที่สอง ต้องดูว่าคำให้การนั้นครบถ้วนหรือไม่ และมีประเด็นอะไรที่ต้องให้การเพิ่มเติม สามารถทำสิ่งนี้ควบคู่ไปกับการเจรจาขอให้ทุเลาความได้
ด้านนายชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวเกี่ยวข้องกับ 4 องค์กร ได้แก่ กทม. กรุงเทพธนาคม บริษัทเอกชนคู่สัญญา และสภา กทม. สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ ภาระหนี้ หากหนี้เกิดขึ้นถูกต้องตามตามกฏหมาย มีการอนุมัติจากสภา กทม.ก็พร้อมที่จะจ่าย
ส่วนที่กรุงเทพธนาคม ทำการติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ถือเป็นรายละเอียดที่กรุงเทพธนาคมต้องดำเนินการ กทม.จะสนับสนุนข้อมูลตัวเลขให้
ส่วนประเด็นการเปิดเผยสัญญาต่อสาธารณชน ขณะนี้มีหลายหน่วยงานยื่นขอเข้ามา เช่น สภาองค์กรของผู้บริโภค หากข้อกฎหมายระบุ ให้เปิดเผยข้อมูลได้ จะดำเนินการเปิดเผยให้เห็นว่า หากใช้สัญญาการจ้างเดินรถ 2572-2585 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจะเป็นเท่าไร
"ปัญหาเร่งด่วนคือหนี้ เพราะดอกเบี้ยยังเดินอยู่ แต่การจะจ่ายหนี้ต้องให้แน่ใจว่า การเกิดหนี้ถูกตามกระบวนการหรือไม่ ต้องรอบคอบ เพราะเป็นเงินภาษีประชาชน โดยคาดว่าจะเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 2 ได้ในต้นเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะต้องพิจารณาเรื่องตัวเลขค่าโดยสารให้ชัดเจน"
"อยากให้เปิดเผยสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อประชาชน เราจะกลัวอะไร เพราะเอาเงินประชาชนมาจ่าย ประชาชนต้องมีสิทธิ์ สิ่งที่อยากเปิดเผยมากที่สุดคือค่าใช้จ่าย การเดินรถต่อปีอยู่ที่เท่าไร เหลือเท่าไร จะได้รู้ว่าต้องจ่ายค่าเดินรถเท่าไร” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึง ประเด็นการโอนหนี้สินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มา กทม. นายชัชชาติ ระบุว่า ใจจริงอยากให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับรถไฟฟ้าทุกสาย รถไฟฟ้าทุกสายในกรุงเทพฯ รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่างานโยธา หากรัฐบาลให้เรามาแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ ก็จะทำให้ค่าโดยสารเราแพงขึ้น
ส่วนข้อบัญญัติอนุมัติให้กู้เงินเพื่อจ่ายหนี้ ขณะนี้เรื่องค้างอยู่ที่สภา กทม. ถือเป็นเรื่องแปลก ปัจจุบันยังไม่เห็นมติรับหนี้ แต่มีมติให้เอาเงินไปจ่ายหนี้ คงต้องถามสภา กทม.ว่า ความหมายคือ ยอมรับหนี้แล้วใช่หรือไม่ หรือเป็นวิธีการหาเงินกู้ไปจ่ายหนี้