“ธงทอง” จ่อเชิญ “บีทีเอส” ถกปมสายสีเขียว แจ้งรายละเอียด “ชัชชาติ” ด้วย
“ธงทอง” ประธานบอร์ดกรุงเทพธนาคมฯ เคลียร์ประเด็น “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” แบ่ง 3 สัญญา “ไข่แดง” หมดปี 72 ไปยุ่มย่ามไม่ได้ เหตุไม่มีอะไรผิดปกติ ยังไม่รู้มีสัญญาซ้อนเดินรถถึงปี 85 หรือไม่ ส่วนต่อขยาย 1-2 อยู่ระหว่างตรวจสอบ เล็งเชิญ “บีทีเอส” หารือ แจ้งรายละเอียด “ชัชชาติ”
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องโมเดิร์นไนน์ ถึงสัญญาสัมปทานของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ผูกพันกับ กทม.ผ่านบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ว่า ประเด็นเรื่องสัญญาต่าง ๆ เมื่อวานนี้ (30 มิ.ย. 2565) ที่ประชุมกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ได้หารือกันแล้ว แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.สัญญาสัมปทาน เป็นการทำสัญญาตั้งแต่ปี 2542 อายุ 30 ปี ถึงปี 2572 ที่เราเรียกว่าไข่แดง เป็นไส้กลางของ กทม. ไม่อาจแตะต้องอะไรได้ และตัวมันเองไม่มีปัญหาอะไร
2.สัญญาส่วนต่อขยายที่ 1 อยู่ในเขต กทม. โดย กทม.เป็นคนลงทุนโครงสร้าง โจทย์ที่เราต้องดูแลเป็นพิเศษคือ เมื่อมีโครงสร้างแล้ว ต้องมีรถมาวิ่ง มาเดิน ส่วนนี้ กทม.ได้จ้างบีทีเอส เข้ามาเดินรถ
3.สัญญาออกไปนอกพื้นที่ กทม. หรือส่วนต่อขยายที่ 2 การลงทุนในชั้นแรกเป็นเรื่องของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ทำ เพราะเขาทำได้ทั่วประเทศ ต่อมาหลังรัฐประหารปี 2557 มีนโยบายเอามาให้ กทม.รวมทำต่อ กทม.มีภาระหนี้ค่าก่อสร้างกับ รฟม. รวมถึงทำสัญญากับ บีทีเอส ในส่วนต่อขยายที่ 2 ด้วย จนปัจจุบันส่วนต่อขยายที่ 2 ยังไม่ได้เก็บเงิน
นายธงทอง กล่าวถึงประเด็นการว่าจ้างสัญญาเดินรถว่า เหตุผลต่าง ๆ ต้องย้อนกลับไปดูว่า การทำสัญญาเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ทำกันเมื่อปี 2555 และยาว 30 ปี ต้องไปถึง 2585 แต่เมื่อวานพูดกันว่า ขนาดผ่านมา 10 ปี ปีนี้ 2565 เมืองไทย กทม. สังคมโลกมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ตัวเลขต่าง ๆ สมมติฐานต่าง ๆ มันไม่เห็นเป็นแบบช่วงที่คิดไว้ ดังนั้นนอกจากประเด็นข้อกฎหมาย ความสมบูรณ์ในสัญญา ยังดูข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป คิดว่าเป็นเรื่องที่เราต้องแสวงหาโอกาสเจรจากับคู่สัญญา มาทบทวนข้อกำหนดตกลงทั้งหลายที่มันยาวไปถึง 2585
“ปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไป วิธีการปฏิบัติ หรือส่งเงินเป็นงวด ระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้ แต่ตอนนี้วิธีการจ่ายเงินมันเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยนไป นอกจากดูข้อกฎหมายรอบคอบแล้ว สาระสำคัญที่เป็นข้อเท็จจริงก็เปลี่ยนไปเช่นกัน แนวทางที่เรากำลังช่วยกันดูรายละเอียด ยังไม่จบสุดท้าย หลายอย่างตัวเลขว่า การกำหนดค่าจ้างเดินรถ ค่าบำรุงรักษา อยู่บนสมมติฐานอะไร เปลี่ยนไปหรือไม่ กำลังให้ทุกคนกลับไปอ่านต่อเพื่อจัดการ” นายธงทอง กล่าว
ผู้ดำเนินรายการ ถามว่า ในสัญญาส่วนแรกนอกจากสัมปทานสิ้นสุดปี 2572 แล้ว ยังมีการพูดกันมีสัญญาซ้อนไปอีกฉบับคือสัญญาจ้างเดินรถ จะหมดในปี 2585 มีสัญญาฉบับนี้จริงหรือไม่ นายธงทอง กล่าวว่า ขอดูรายละเอียดอีกที เพราะในที่ประชุมเมื่อวานช่วยกันอ่านหลายคน กลัวจะผิด แต่ยอมรับว่าถ้ามีอยู่จริงถือเป็นเรื่องประหลาด และจะรับประเด็นเหล่านี้ไว้เพื่อพิจารณาตรวจสอบต่อไป
เมื่อถามว่า ด้วยข้อเท็จจริงและเทคโนโลยีปัจจุบันเปลี่ยนไป สามารถยกเหตุผลคุยกับบีทีเอสได้หรือไม่ นายธงทอง กล่าวว่า คิดว่าคู่สัญญาคือบีทีเอส ปกติถือว่าในการทำงานร่วมกัน มีปัญหาอะไรก็ควรจับเข่าคุยกันได้ ไม่ควรตรึงอยู่กับที่ ในสถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลงตอนนี้ ตนยังมีความหวังว่า เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกัน คิดว่าจะคุยกันได้ โดยบริบทในสังคม นอกจากตัวคู่สัญญาแล้ว บริษัททั้งหลายในเมืองไทย หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ส่วนหนึ่งสามารถประกอบกิจการด้วยความไว้วางใจกับผู้ใช้บริการด้วย
เมื่อถามว่า สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวยังอีรุงตังนัง ได้ตรวจสอบความสมบูรณ์สัญญาว่าครบถ้วนตามกฎหมายใช่หรือไม่ นายธงทอง กล่าวว่า กำลังดูกันอยู่ หลัก ๆ แค่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีปัญหา แต่มีกฎหมายอื่นเกี่ยวข้อง อำนาจหน้าที่ใน กทม. หรือกฎหมายเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน กำลังตรวจทานอยู่ เพราะเป็นเรื่องระหว่าง กทม. กับบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ และระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ กับบีทีเอสด้วย โดยกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ จะนัดคุยกันอีกทีในวันที่ 2 ก.ค. 2565 คาดว่าจะมีความชัดเจนมากกว่านี้ เพราะทุกคนไปทำการบ้าน ไปช่วยกันดู หากคุยกันเสร็จราว 15.00 น. ได้ประสานไปยังทีมงานนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ว่า หากหมดภารกิจอื่น ๆ จะมาที่บริษัท กรุงเทพธนาคมฯ ได้หรือไม่ มาคุยกัน เล่าให้ฟังว่าทำงานมาช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประชุม 2 ครั้ง พูดในระบบออนไลน์รายวัน มีอะไรควรจะเล่าให้ฟังบ้าง มีอะไรคิดว่าเป็นประโยชน์กับการทำงานร่วมกันต่อไป
ส่วนบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ อยากได้นโยบายหรือทิศทางอะไรจากนายชัชชาติหรือไม่นั้น นายธงทอง กล่าวว่า คิดว่าเราชัดเจน ส่วนต่อขยายที่ 1 เราพยายามที่จะดูความเป็นไปได้ในเงื่อนไข หรือข้อแม้ มีการพิจารณาทบทวน อย่างไรก็แล้วแต่เกี่ยวกับสัญญากับบีทีเอส ส่วนต่อขยายที่ 2 ไกลเกินกว่าอำนาจของบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ แนะนำเรื่องความสัมพันธ์กับ กทม. และ รฟม. เป็นนโยบายภาครัฐ แต่ให้ความเห็นในฐานะเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปลายทาง เป็นประเด็นที่นายชัชชาติรับทราบ ปรึกษาหารือในทางนโยบายต่อไป