'เอ็นนู' ชู 'สรรคบุรีโมเดล' จ.ชัยนาท ต้นแบบพื้นที่ใช้การวิจัยแก้ความยากจน
ประธานยุทธศาสตร์ชาติด้านความเสมอภาคทางสังคมเผยระบบการแก้ความยากจนปัจจุบันยังไม่สำเร็จ ยก “สรรคบุรีโมเดล” จังหวัดชัยนาท เป็นทางออกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ใช้งานวิจัยมาสร้างการมีส่วนร่วม
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม กล่าวว่าในสิ้นปี 2565 นี้จะเป็นวาระครบ 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งฝ่ายต่าง ๆจะสรุปงานและทำข้อเสนอแนะสำหรับการทำงานในช่วงต่อไป โดยในเรื่องของการแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
"ในเรื่องการแก้จน ลดความเหลื่อมล้ำดูง่าย ๆคือถ้าที่ผ่านมาได้ผล ก็คงจะแก้ไขไปได้แล้ว ในส่วนของผมก็จะเสนอว่าต่อไปต้องใช้งานวิจัยเป็นฐานในการแก้ปัญหา จะทำได้ตรงจุดมากขึ้น”
ทั้งนี้การที่ภาคราชการมีการสับเปลี่ยนโยกย้ายกันเสมอเป็นส่วนหนึ่งที่กระทบต่อการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเพราะขาดความต่อเนื่อง ซึ่งการเกิด “สรรคบุรีโมเดล” ที่ขับเคลื่อนโดยทุนวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และสถาบันวิทยาลัยชุมชน ในสังกัดกระทรวงอุดมศึกษา ฯ เป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างกลไก ส่งเสริมความเชื่อมั่นและสามัคคี จึงมีโอกาสที่จะแก้ได้สำเร็จ
จากการวิจัยของสถาบันวิทยาลัยชุมชนร่วมกับประชาชนในพื้นที่มีตัวอย่างในอำเภอสรรคบุรี ว่ามีครัวเรือนยากจนที่ไม่ได้เข้าระบบสวัสดิการมากถึง 938 คิดเป็นการตกหล่น 287.7% เมื่อเทียบกับแผนที่ความยากจนที่ระบุว่ามีครัวเรือนยากจน 326 ครัวเรือน
“งานวิจัยมีความสำคัญที่ทำให้ความช่วยเหลือไปได้ถูกทิศทาง และการที่ บพท.วางงานแก้จนไว้ตั้งแต่ระดับต้องพึ่งพิง ระดับรอการพัฒนา และระดับการเป็นผู้ประกอบการ โดยดึงภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมงานจึงตอบความต้องการในพื้นที่ได้ทุกระดับ ทั้งยังสอดคล้องกับการพัฒนาตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่เก้า”
จังหวัดชัยนาท สถาบันวิทยาลัยชุมชนและ บพท. ร่วมกันจัดทำกลไกความร่วมมือ 23 หน่วยงานในอำเภอสรรคบุรีและในจังหวัด ทั้งจากภาคราชการ ภาคธุรกิจและประชาสังคม เพื่อเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมต่าง ๆที่เกิดขึ้นในอำเภอสรรคบุรี
ซึ่งแบ่งออกตามระดับความต้องการของประชาชน เช่น กองทุนข้าว ที่ชุมชนปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวในที่ดินว่างเปล่าที่วัดอนุญาตให้ใช้ประโยชน์เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในระดับพึ่งพิงมีอาหารเพียงพอ และการแปรรูปสมุนไพรท้องถิ่นเพื่อสร้างผู้ประกอบการที่สถาบันวิทยาลัยชุมชน โรงพยาบาลร่วมส่งเสริม และการเชือมโยงภาคีเอกชน เช่นหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมในการพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานเพื่อนำประชาชนเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต
นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่าความร่วมมือดังกล่าวนับว่ามีความก้าวหน้าที่ทุกภาคส่วนมองเห็นปัญหาและพร้อมเข้ามาร่วมแก้ไข ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีและยั่งยืนได้ต่อไป
“การแก้ปัญหาโดยพึ่งพิงรัฐเพียงอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้และไม่ยั่งยืน ซึ่งการทำงานของ บพท.ใน 20 จังหวัดยากจนได้พิสูจน์แล้วว่าพอมีข้อมูลจากงานวิจัยมาให้เห็นความจริง จะสร้างมุมมองใหม่ที่กระตุ้นความร่วมมือในพื้นที่ได้ดี เมื่อประชาชนในพื้นที่เจ้าของปัญหาเริ่มขยับแล้ว โอกาสความสำเร็จก็เพิ่มมากขึ้น”
การตรวจค้นคนจนใน 20 จังหวัดพบว่ามีครัวรือนยากจนตกหล่นความช่วยเหลือ 187,089 ครัวเรือนหรือประมาณ 850,000 คน ซึ่ง บพท.ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคม ฯ นำเข้าสู่ระบบความช่วยเหลือขึ้นต้น พร้อมทั้งร่วมกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆทั่วประเทศจัดทำโครงการความร่วมมือในพื้นที่ ยกระดับความรู้ ทักษะ และศักภาพด้านอาชีพเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นยืนได้ด้วยตัวเองในอนาคต