“อ.วิริยะ ฤาชัยพาณิช” เห็นด้วยกสทช. รับทราบ เชื่อควบรวมทรู-ดีแทคครอบคลุม
“อ.วิริยะ ฤาชัยพาณิช”ชี้กสทช. รับทราบ ควบรวมทรู-ดีแทค เชื่อออกเงื่อนไข ครอบคลุม-ดีต่อปชช. ด้านนักวิชาการม.วลัยลักษณ์เชื่อมั่นเงื่อนไขครอบคลุมหลายมิติ หมดห่วงเรื่องปัญหาราคา พร้อมสร้างการแข่งขันและเพิ่มผู้ให้บริการรายใหม่แบบ MVNO
จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงานกสทช. )ออกเอกสารข่าวระบุว่า กสทช. มีมติเสียงข้างมาก 3:2 รับทราบการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค แบบมีเงื่อนไข โดยมีการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาข้อกังวลและเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเป็นการเฉพาะจำนวน 5 ข้อ อาทิ การกำหนดอัตราค่าบริการ ทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ การนำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นให้หน่วยงานตรวจสอบ การตรวจสอบและบทลงโทษกรณีทำไม่ได้ เช่น ปรับเป็นร้อยละของรายได้ ปรับเป็นขั้นบันได และเพิกถอนใบอนุญาต เป็นต้น
ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าการตัดสินของ กสทช.ที่ออกมาเห็นชอบ และออกเงื่อนไขในการดูแลผู้บริโภค ถือว่า ดีต่อทุกคนและประเทศชาติ และเห็นด้วยกับการตัดสินออกมาในแบบรับทราบ เช่นเดียวกับกรณีที่เคยมีมติก่อนหน้านี้หลายราย หากตัดสินแตกต่างจากกรณีก่อนหน้า หรือออกมาเป็นแบบอนุมัติหรือไม่อนุมัติก็จะเกิดปัญหาโดยรวม ดังนั้นการเดินตามกฏหมาย ตามแนวทางกฤษฏีกานั้นถือว่าเหมาะสม และการมีมติในครั้งนี้ ทำให้ต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศไทยมั่นใจในการลงทุนในประเทศไทย หากมีการเลือกปฏิบัติ ในอนาคตต่างชาติคงต้องทบทวนการลงทุนในประเทศไทย สุดท้ายการออกเงื่อนไขของกสทช ถือได้ว่าเป็นการปกป้องประโยชน์โดยรวมของประชาชนและผู้บริโภคอยู่แล้ว อีกทั้งเงื่อนไขของกสทช. ทำให้ความกังวลด้านราคาของผู้บริโภคลดลง เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่า ความกังวลด้านราคา อัตราค่าบริการ นั้น กสทช.ได้มีการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงไว้เป็นเพดานไม่ให้ผู้ประกอบการทุกรายขายเกินราคาได้ โดยที่ผ่านมาทั้ง 4 รายก็ไม่เคยมีใครขายเกิน โดยออก Package แข่งขันกันตลอดเวลา
ด้าน ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า กสทช.ได้ออกมาตราการในการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคอยู่แล้ว ทั้งนี้ทางทรู และดีแทค ต้องไปบริหารกระบวนการภายใน เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข เราจะเห็นได้ว่าเงื่อนไขของ กสทช.นั้นได้ครอบคลุมหลายมิติ ซึ่งนอกจากเงื่อนไขที่คลายกังวลด้านราคา แล้ว กสทช.ได้เสนอเงื่อนไข ที่การสร้างการแข่งขันและเพิ่มผู้ให้บริการรายใหม่ เนื่องจากในอดีตการเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ MNO หรือ MVNO ทำได้ยากเนื่องจากธุรกิจโทรคมนาคม ต้องใช้เงินลงทุนสูง ทั้งประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นและในการสร้างโครงข่ายเพื่อให้บริการ แต่ในปัจจุบัน การใช้ การแบ่งปันทรัพยากร (Infrastructure sharing)สามารถเช่าใช้จากกองทุน (Infrastructure fund) ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น
และเพิ่มจำนวนเสาและสายสัญญาณกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ จะเกิดประโยชน์อย่างมาก
" การเดินหน้าดีล ทรู และดีแทค คนที่ได้ประโยชน์ทันทีคือลูกค้าทั้งสองบริษัท ที่จะได้รับความครอบคลุมของเครือข่ายที่ดีขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุน ทำให้นักลงทุนมองการแข่งขันที่ทัดเทียม และ ส่งผลมาที่ราคามายังผู้บริโภคที่ลดลง และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จะแข็งแรงและปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย"