เปิดเส้นทางเดินเท้า พิชิตดอยม่อนเงาะ ชมทะเลหมอก 360 องศา

เปิดเส้นทางเดินเท้า พิชิตดอยม่อนเงาะ ชมทะเลหมอก 360 องศา

เปิดภาพดอยม่อนเงาะเหนือระดับน้ำทะเล 1,425 เมตร แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันซีนของอำเภอแม่แตง ที่มองเห็น 3 ยอดดอยสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ในมุม 360 องศาฯ ขณะที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเดินเท้าขึ้นชมทะเลหมอก-ตะวันตกดินกันอย่างคึกคัก

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จุดชมวิวยอดดอยม่อนเงาะ ในหมู่บ้านม่อนเงาะ ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความสูง 1,425 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มองเห็นวิวได้ 360 องศา เปรียบเสมือนจุดศูนย์กลางที่สามารถเห็นยอดดอยต่าง ๆในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง ดอยม่อนแจ่ม ยอดดอยอินทนนท์ ดอยหลวงเชียงดาว โดยนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับธรรมชาติตามเส้นทางเดินผ่านทั้ง ต้นไม้ ดอกไม้ หลากหลายชนิดที่มีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ รวมถึงแปลงผักที่ชาวบ้านในพื้นที่เพาะปลูกไว้

นายสุรพล แซ่ยะ ชาวบ้านม่อนเงาะและผู้ประกอบการนำเที่ยว เปิดเผยว่า หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ได้คลี่คลายลง ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวที่ดอยม่อนเงาะเป็นจำนวนมาก โดยเสน่ห์ในช่วงเช้าที่จุดชมวิวบนยอดดอยม่อนเงาะ จะมีอากาศเย็นสบายและสามารถมองเห็นทะเลหมอกที่มีความสวยงามได้ในทุกเช้า ขณะที่ในช่วงเย็นก็มีความสวยงามไม่แพ้กับในช่วงเช้า เพราะสามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกดินได้ที่ค่อย ๆลับยอดดอยเป็นแสงสีส้มตัดกับสีของท้องฟ้า ซึ่งเหมาะกับการถ่ายรูปเป็นอย่างมาก
 

สำหรับจุดชมวิวม่อนเงาะจะมี 2 จุด จุดแรกคือลานกางเต็นท์ ที่นักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์มากางดื่มด่ำกับธรรมชาติซึ่งเหมาะกับการชมพระอาทิตย์ขึ้น จุดที่สองคือ จุดชมวิวสูงสุดที่ต้องเดินเท้าขึ้นไปจากจุดแรกอีกประมาณ 200 เมตร ซึ่งจุดนี้จะเหมาะกับการรอชมพระอาทิตย์ตกดิน โดยจะถือว่าเป็นจุดอันซีนอีกแห่งหนึ่งที่เห็นถึงยอดดอยที่อุดมสมบูรณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ 

นายสุรพล ยังกล่าวอีกว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวของยอดดอยม่อนเงาะ มีจุดเริ่มต้นมาจากทางหมู่บ้านมีความคิดว่าควรจะเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เนื่องจากมีพื้นที่สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้กางเต็นท์ มีจุดชมวิวที่สามารถชมได้ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น จึงได้มีการสร้างจุดเช็คอินให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูป และต่อไปได้มีการจัดตั้งกลุ่มการท่องเที่ยวขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยให้ชาวบ้านมีรายได้ ควบคู่กับการอนุรักษ์ป่า และวิถิชีวิตแบบดั้งเดิม