"ผบ.ทอ."ส่งหน่วยบินปฏิบัติการฝนหลวง แก้ภัยแล้ง-หมอกควัน-PM2.5
"ผบ.ทอ."ส่งหน่วยบินปฏิบัติการฝนหลวง แก้ภัยแล้ง-หมอกควัน-PM2.5 ใน 11 ฐานบิน ใช้อากาศยาน 8 เครื่อง บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
15 มี.ค.2565 ที่โรงเก็บอากาศยาน ฝูงบิน 601 กองบิน 6 พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เป็นประธานในพิธีส่งหน่วยบินปฏิบัติภารกิจฝนหลวงของ กองทัพอากาศ ประจำปี 2566 โดยมี นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านบริหาร นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพอากาศ คณะทำงานฝนหลวงกองทัพอากาศ นักบิน และเจ้าหน้าที่หน่วยบิน เข้าร่วมพิธี
ทั้งนี้ เพื่อแสดงถึงความพร้อมของหน่วยกองทัพอากาศ ในการร่วมปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลตามโครงการพระราชดำริฝนหลวง อันจะนำมาซึ่งการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในสถานการณ์ภัยแล้ง และการยับยั้งความรุนแรงจากการเกิดพายุลูกเห็บ อีกทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้วย
โดย ผบ.ทอ.ได้ให้โอวาทตอนหนึ่งว่า ภารกิจฝนหลวงกองทัพอากาศนับเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่นำความภาคภูมิใจมาสู่พี่น้องชาวกองทัพอากาศ เพราะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งกองทัพอากาศได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชน พร้อมทั้งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติให้ยั่งยืน ขอขอบคุณทุกท่าน ที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติภารกิจฝนหลวงในครั้งนี้ และขอให้ทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ใช้ความรู้ความสามารถตลอดจนประสบการณ์ปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ
จากนั้น พล.อ.อลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ภารกิจฝนหลวงถือเป็นภารกิจหนึ่งที่ปฏิบัติการควบคู่ไปกับการลดปัญหา หมอกควัน และ ฝุ่น pm 2.5 ได้ด้วย ซึ่งในทุกส่วนของเหล่าทัพมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประชาชน 4 ภารกิจ ภัยแล้ง อุทกภัย ฝุ่น ควัน ไฟป่า และ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ภารกิจฝนหลวง ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานต่างๆมากกว่า 50 ปีแล้วและใช้เครื่องบินหลากหลาย ในการปฏิบัติภารกิจ โดยในปีนี้ได้ใช้เครื่องบิน 3 แบบ เครื่องบินโจมตีแบบที่7 เครื่องบินแบบ Alpha jet เครื่องบินลำเลียง บล.2 ก หรือ BT 67 เครื่องบินธุรการ หรือเครื่องบินแบบ AU23 ทั้งนี้กองทัพมีความพร้อมที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาของประชาชนและพร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจเสมอ
สำหรับ การปฏิบัติภารกิจฝนหลวงสู้ภัยแล้งในปี 2566 นี้ กองทัพอากาศได้จัดอากาศยาน จำนวน 8 เครื่อง พร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดังนี้
- การปฏิบัติการฝนหลวงด้านการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ใช้เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก (BT-67) จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องบินโจมตีธุรการแบบที่ 2 (บ.จธ.2) จำนวน 3 เครื่อง
- การปฏิบัติการฝนหลวงด้านการยับยั้งและการเกิดพายุลูกเห็บ ใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (Alpha Jet) จำนวน 2 เครื่อง
นอกจากนี้กองทัพอากาศ ได้ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนหลวง จำนวน 4 โครงการ คือ
1. โครงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ
2. โครงการผลิตพลุสารดูดความชื้นเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น
3. โครงการภารกิจฝนหลวงเมฆอุ่นด้วยเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ (Ground Base Generator)
4. โครงการวิจัยร่วมการผลิตพลุจากวัสดุธรรมชาติ
พร้อมทั้งสนับสนุนพื้นที่ของ 11 ฐานบินในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นฐานปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้ กองบิน 1 จังหวัดนครราชสีมา, กองบิน 2 จังหวัดลพบุรี, กองบิน 3 จังหวัดสระแก้ว, กองบิน 5 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี, กองบิน 21 จังหวัดอุบลราชธานี, กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี, กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่, กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก, กองบิน 56 จังหวัดสงขลา และสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
ทั้งนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรกรรม จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งคณะปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นเพื่อค้นคว้า ทดลอง และปฏิบัติการทำฝน จนประสบผลสำเร็จนับแต่ปี 2512 เป็นต้นมา การดำเนินการตามโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” ได้กระทำอย่างต่อเนื่อง และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พสกนิกร จนเป็น ที่ประจักษ์โดยทั่วกัน อนึ่งการปฏิบัติภารกิจของหน่วยบินฝนหลวง เป็นภารกิจที่มีความสำคัญภารกิจหนึ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับกองทัพอากาศ ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอด 51 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2515 – 2566) เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจากปัญหาภัยแล้ง และการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ การดับไฟป่าและฝุ่นหมอกควัน นับเป็นการสืบสาน รักษาและต่อยอด นวัตกรรมฝนหลวงเพื่อบรรเทาทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนดั่งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร