เตรียม 7 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ดูแลปริมาณน้ำ - ลดฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ
กระทรวงเกษตร เปิด ปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2566 เตรียมพร้อม 7 ศูนย์ รวมเครื่องบิน 30 ลำ ดูแลการทำฝนหลวง เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน - ควบคุมไฟป่า ลดค่าฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2566 โดยมี นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ บริเวณหน้าหอบังคับการบินสนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ว่า ปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงถึงความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยที่จะออกปฏิบัติการฝนหลวง และสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ
รวมทั้งช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยแล้ง สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ป้องกันการเกิดพายุลูกเห็บ แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงการเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ของประเทศ
โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ ดังนี้
1. ศูนย์ปฏิบัติการภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ตาก
2. ศูนย์ปฏิบัติการภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.แพร่ และ จ.พิษณุโลก
3. ศูนย์ปฏิบัติการภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.นครสวรรค์
จ.กาญจนบุรี และ จ.ลพบุรี
4. ศูนย์ปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.อุดรธานี และ จ.ขอนแก่น
5. ศูนย์ปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.นครราชสีมา และ
จ.อุบลราชธานี
6. ศูนย์ปฏิบัติการภาคตะวันออก ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.จันทบุรี จ.สระแก้ว และ จ.ระยอง
7. ศูนย์ปฏิบัติการภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.สุราษฎ์รธานี และ จ.สงขลา
รวมอากาศยานทั้งหมด 30 ลำ ประกอบด้วย อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 24 ลำ และอากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 6 ลำ
ด้าน นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อาจมีการปรับเปลี่ยน ตามสถานการณ์ของสภาพอากาศ และความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อให้เหมาะสมในการปฏิบัติการช่วยเหลือให้ตรงตามเป้าหมาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนต่อไป
ทั้งนี้สามารถติดต่อประสานแจ้งข้อมูลและขอฝนหลวงได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100 ต่อ 410 หรือช่องทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร, Instagram, Tiktok, Twitter : @drraa_pr และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 7 ศูนย์ทั่วประเทศ