สภาการสื่อมวลชนฯ เสวนา กฎหมายจริยธรรม ชี้ กำกับดูแลกันเองมีข้อจำกัด

สภาการสื่อมวลชนฯ เสวนา กฎหมายจริยธรรม ชี้ กำกับดูแลกันเองมีข้อจำกัด

สภาการสื่อมวลชนฯ ครบรอบ 26 ปี จัดปาฐกถาพิเศษ-วงเสวนา “กฎหมายจริยธรรมสื่อจำเป็นหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน” ชี้ การกำกับดูแลกันเองในปัจจุบันมีข้อจำกัด เหตุขึ้นอยู่ความสมัครใจ เผยหากใช้กฎหมายควบคุม ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสื่อ-สังคม

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 26 ปี ณ ห้องบงกชรัตน์ เอ โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า วันที่ 4 กรกฎาคม เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของวิชาชีพสื่อมวลชนที่สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรรวมของสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนในขณะนั้น ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิด “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ”ขึ้น เป็นองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมของสื่อมวลชนด้านหนังสือพิมพ์ องค์กรแรกในประวัติศาสตร์วงการสื่อมวลชนไทย และได้เปลี่ยนผ่านมาสู่ “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” อย่างเป็นทางการ ในการกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศไทย ครอบคลุมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และดิจิทัล จากบริบทสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป

นายชวรงค์ กล่าวถึงอนาคตกฎหมายส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชนว่า แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … จะไม่มีความคืบหน้าในรัฐบาลที่ผ่านมา แต่การถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วนและผ่านการอภิปรายอย่างเข้มข้น เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นับเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดการถกเถียงว่า ปัญหาของการกำกับกันเองด้านจริยธรรมสื่อมีอยู่หรือไม่ และสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาคือ รัฐบาลใหม่จะหยิบกฎหมายฉบับนี้มาปัดฝุ่นหรือไม่ และจะถูกแปลงสารกลับไปเป็นเครื่องมือจัดการสื่อในอนาคตหรือไม่

สภาการสื่อมวลชนฯ เสวนา กฎหมายจริยธรรม ชี้ กำกับดูแลกันเองมีข้อจำกัด

สำหรับประเด็นที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านการถกเถียงอย่างเข้มข้นนั้น หากจะถามว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … เป็นกฎหมาย “ส่งเสริม” หรือ “ควบคุม” สื่อมวลชน นายชวรงค์ เชื่อว่า เป็นกฎหมาย “ส่งเสริม” อย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่มีผู้คัดค้านมองว่าเป็นกฎหมาย “ควบคุมสื่อ” ก็เป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งจะดีอย่างยิ่งถ้าความเห็นต่างนี้นำไปสู่การถกเถียงอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นต่อไป

 

นายชวรงค์ เปิดเผยว่า ในการถกเถียงที่ผ่านมา พบว่ามีหลายประเด็นที่อาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น ที่มาของงบประมาณในการก่อตั้งองค์กรสภาวิชาชีพสื่อ ซึ่งอาจเข้าใจว่าการก่อตั้งองค์กรต้องรับเงินจากรัฐ เป็นการเปิดช่องให้รัฐเข้ามาแทรกแซง ในส่วนนี้หากพิจารณาข้อความในร่างกฎหมายเขียนว่า รัฐต้องจ่ายเงินขั้นต่ำที่ทำให้องค์กรสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติทำหน้าที่ในระยะเริ่มแรกได้เท่านั้น และข้อกังวลที่รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งคณะกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อฯ นั้น ถือว่ามีโอกาสน้อยมาก ส่วนที่กำหนดให้กรมประชาสัมพันธ์มาเป็นกรรมการสรรหานั้นก็แค่ชั่วคราว และเป็นไปในลักษณะการอำนวยความสะดวกเท่านั้น

 

ส่วนประเด็นที่ว่า ร่างกฎหมายนี้ไม่ได้นำมารับฟังความเห็นในองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างกว้างขวางนั้น อันที่จริงแล้วเส้นทางการร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการเปิดรับฟังความเห็นมาตลอดและลงตัวตั้งแต่ปี 2562 ตอนนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ขอให้องค์กรวิชาชีพหารือกันเองซึ่งขณะนั้นไม่มีองค์กรใดให้ความเห็นอย่างอื่น จึงยืนยันตามร่างนั้นและส่งให้รัฐบาลพิจารณาเพราะคิดว่าดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้ว เพราะไม่มีจุดใดที่รัฐจะมาใช้อำนาจปิดสื่อ หรือกลั่นแกล้งสื่อได้อีก

“ในปัจจุบันท่าทีขององค์กรวิชาชีพสื่อไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อกฎหมายฉบับนี้นั้นกรรมการองค์กรวิชาชีพสื่อที่คัดค้านอาจมองเห็นประเด็นที่เป็นกังวล แต่ในส่วนของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติมีจุดยืนชัดเจนมานานแล้วว่า ไม่คัดค้าน เพราะเราได้เข้าไปร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้แต่แรก และคิดว่าออกมาเป็นร่างกฎหมายที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ดังนั้น ถ้ามีกฎหมายฉบับนี้ออกมาก็ไม่เป็นปัญหาและถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพสื่อ แต่ถ้าไม่มีกฎหมายนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติก็ทำหน้าที่ต่อไปได้” นายชวรงค์กล่าว

ทางด้าน นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษใน หัวข้อ “กฎหมายจริยธรรมสื่อจำเป็นหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน”ว่า สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติมีความแข็งแกร่ง แม้ไม่มีกฎหมายมาช่วย และได้รับการยอมรับจากสังคมในระดับหนึ่ง

ส่วนประเด็นที่ว่า สมควรจะมีกฎหมายในการกำกับดูแลสื่อหรือไม่นั้น นายมานิจ กล่าวว่าเสรีภาพของเสรีภาพของสื่อมวลชน ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี เพื่อเป็นเสรีภาพในการเสาะแสวงหาข้อมูลมาให้ประชาชนใช้ในการตัดสินใจ จึงเกิดการเรียกร้องเสรีภาพ โดยในอดีตมีกฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลการพิมพ์ในอดีต คือ พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484 เมื่อมีกฎหมายนี้มีการต่อต้านจากผู้ที่ประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์พอสมควร แต่การต่อต้านนั้นได้หยุดลง ต่อมาในช่วงของการเข้ายึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 17 ซึ่งมีเนื้อหาที่แรงกว่า พ.ร.บ.การพิมพ์ฯ  ซึ่งมีการเรียกร้องให้ยกเลิก แต่ก็ไม่มีผลอะไร จนมายกเลิกใช้ในสมัยของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่

สภาการสื่อมวลชนฯ เสวนา กฎหมายจริยธรรม ชี้ กำกับดูแลกันเองมีข้อจำกัด นายมานิจ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา มีความพยายามในการเสนอกฎหมายต่อสภาให้มีกฎหมายควบคุมสื่อมวลชน ซึ่งได้มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคือพี่น้องในวงการสื่อมวลชน เข้าไปเป็นกรรมาธิการฯ ด้วยถึง 3 ครั้ง แต่กฎหมายก็ไม่ผ่านสักครั้ง เพราะเจอการยุบสภาทั้ง 3 ครั้ง

“ต่อมาสมัยคณะปฏิรูปได้ยกร่างกฎหมายลักษณะนี้ขึ้นมาอีก ก็เชิญพวกเราหลายคนเข้าไปร่วมแต่ก็ลาออกกัน จึงไม่เกิด จนมาถึงการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมา โดยมีดร.เสรี วงศ์มณฑาเป็นประธาน พวกเราก็ไปช่วยกันร่าง ซึ่งเราไม่ได้มีเจตนาเอาโซ่ตรวนใสใส่หนังสือพิมพ์ เพราะพวกเราเป็นนักหนังสือพิมพ์จำนวนมาก เพียงแต่ต้องการให้มันดี และทำอย่างไรที่จะให้มีเสรีภาพอยู่อย่างเดิม เสรีภาพที่ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ ไม่ใช่เสรีภาพที่อยากทำอะไรก็ได้ซึ่งมันไม่ถูก บางคนทำมาเป็นสิบปีแล้วก็ยังไม่เข้าใจ คิดว่าทำอะไรก็ได้ เช่น เอาประวัติคนตายมาลงในทางทำให้เสียหาย เป็นต้น” นายมานิจ ระบุ

นายมานิจ กล่าวเน้นย้ำว่า ในส่วนของกฎหมายที่จะมากำกับดูแลสื่อฯนั้น เป็นเรื่องที่คณะทำงานจะต้องดำเนินการต่อไป แต่ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีกฎหมายเข้ามาช่วยกำกับดูแล อยากให้ย้อนไปดูบ้างว่า เราได้ทำตัวเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือของสังคมหรือไม่ สื่อเป็นครูของสังคมได้ไหมต้องถามตัวเอง ย้อนดูตัวเองว่า เราเป็นครูเขาได้ไหม ดังนั้น การวางตัว การนำเสนอข่าว จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ รายละเอียดเป็นร่างกฎหมายที่ดีและน่าสนใจ แต่ทั้งนี้ถ้าได้มีโอกาสคุยกับ ส.ส. ในสภาชุดใหม่อธิบายเหตุและผลว่าจะเกิดผลดีอย่างไรก็ให้เสนอไป นอกจากนั้นแล้วน่าจะมีกลยุทธ์ควรให้ฝ่ายค้านเสนอด้วย เพื่อประกบกันในสภา ก็จะทำให้กฎหมายนี้สำเร็จออกมาได้

ทั้งนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยังได้จัดวงเสวนา ในหัวข้อ “กฎหมายจริยธรรมสื่อจำเป็นหรือไม่ในสถานการณ์ปัจจุบัน” นำโดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะได้แลกเปลี่ยนพูดคุยถึงปัญหาสิทธิเสรีภาพของสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดคุยกันมานาน และจะต้องคุยกันว่าการกำกับดูแลสื่อกันเองนั้น ดีแล้วหรือไม่ ซึ่งบางองค์กรก็ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง เช่น สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สมาคมข่าววิทยุโทรทัศน์ฯลฯ  แต่ทั้งนี้การกำกับดูแลกันเองมีข้อจำกัด เพราะเป็นไปตามความสมัครใจ ใครไม่เห็นด้วยก็ออกไปได้คนที่อาสาเข้ามาทำงานก็เป็นจิตอาสา เรื่องบางเรื่องที่กระทบหน่วยงานต้นสังกัด ก็อาจเป็นประเด็นที่ตั้งคำถามว่า องค์กรกำกับกันเองจะมีความกล้าหาญแค่ไหน ก็จะมีปัญหาพวกนี้

สภาการสื่อมวลชนฯ เสวนา กฎหมายจริยธรรม ชี้ กำกับดูแลกันเองมีข้อจำกัด “นอกจากนี้ สื่อที่มีอยู่ทุกวันนี้ คนที่อาสามากำกับกันเอง มีค่อนข้างน้อย คนที่ไม่เข้ามาร่วมมีจำนวนมาก การกำกับดูแลก็ไม่ควบคุม ไม่ทั่วถึง ในขณะที่ทุกคนเป็นสื่อได้ มีสื่อใหม่เกิดขึ้นมากมาย” นายวสันต์ กล่าว

นายวสันต์ กล่าวถึงสภาพสื่อในในปัจจุบันว่า สื่อในทุกวันนี้เน้นแข่งขันกันเอง แต่ไม่รับผิดชอบต่อสังคมในมุมมองของผู้บริโภค ฉะนั้น จะต้องมองด้วยว่า เราจะคุ้มครองประชาชนอย่างไร ไม่ให้สื่อไปละเมิด โดยส่วนตัวมองว่าสื่อจำเป็นต้องมีจริยธรรม เนื่องจากเป็นอาชีพที่ให้คุณให้โทษกับสังคม แม้ว่าอาจไม่ทำให้ตายได้เหมือนแพทย์ แต่ก็สามารถทำให้คนตายทั้งเป็นได้ ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าสื่อบางครั้งก็ละเมิดความเป็นส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง บ้างก็รายงานโดยใส่ความเห็นไปมากมาย ชี้นำ พิพากษาตัดสิน จนเกิดผลกระทบคนในสังคม

นอกจากนี้ จะเห็นว่า คนไม่อยากทะเลาะกับสื่อ ไม่อยากมีเรื่องกับสื่อ ไม่เว้นแม้แต่นักการเมืองดังนั้นการนำกฎหมายเข้าสภา เพื่อควบคุมเสรีภาพสื่อ ก็ไม่มีนักการเมืองอยากยุ่ง เพราะไม่อยากมีปัญหา

“ผมเห็นด้วยว่าถ้าการกำกับดูแลกันเองเวิร์ค ก็หยุดที่ป้ายนี้ แต่ถ้าไม่เวิร์ค จะอุดจะแก้ตรงไหนได้บ้าง ในส่วนการกำกับดูแลร่วมกัน เราก็พูดกัน วันนี้ กสทช. มีอำนาจ เราจะร่วมมือกับ กสทช. ให้การกำกับดูแลกันเองเข้มแข็งขึ้นได้ไหม แต่ถ้าให้ผมฟันธงว่า วันนี้จำเป็นไหม ขึ้นอยู่กับความพร้อมของคนทำสื่อ และความพร้อมของสังคม แต่วันนี้จะพยายามเรียกร้องให้กฎหมายนี้กลับมาใน 60 วัน ทำไม่ได้ครับ แต่เราจะทำอย่างไรให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพ” นายวสันต์ ระบุ

ทางด้าน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ฉายภาพย้อนกลับไปที่การต่อสู้เรื่องปฏิรูปสื่อเมื่อ ปี 2540 ในขณะนั้นตนทำหน้าที่อยู่ในองค์กรวิชาชีพสื่อฯ จึงพบว่าตลอดเวลา 20 ปีกว่าที่ผ่านมา สื่อสามารถกำกับดูแลกันเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายกำกับดูแล แต่ทั้งนี้ ก็ได้จัดทำกฎหมายฉบับอื่น เช่น จดแจ้งการพิมพ์ กสทช. เป็นต้น

สภาการสื่อมวลชนฯ เสวนา กฎหมายจริยธรรม ชี้ กำกับดูแลกันเองมีข้อจำกัด “ผมว่าต้องถามสื่อมวลชนเองว่า อยากมีไหม ถ้ามองในแง่ส่งเสริมผมว่าจำเป็น ถ้ามองเรื่องที่ประชาชนคาดหวัง เขาก็ต้องมีที่พึ่ง อย่างทนายความก็มีสภาทนายความ พยาบาลก็มี แพทย์ก็มีแต่ถามว่าทุกวันนี้ทนายความนอกแถวมีมั้ย มี จึงต้องถามว่าเราต้องการไหม” นายสมชายกล่าว

ขณะที่ รศ.สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สื่อมวลชน กับสภาทนายความ หรือแพทยสภา สภาวิศวกร เปรียบเทียบกับไม่ได้ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเพราะการประกอบอาชีพ และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากวิชาชีพนั้นๆ มีความแตกต่าง เพราะวิชาชีพเหล่านั้นถ้าไม่มีความรู้เรื่องนั้นจริงๆ มีปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีองค์กรกำกับดูแลว่าคนมีความรู้ความสามารถเพียงพอหรือไม่ที่จะทำงานเหล่านั้น  แต่สำหรับสื่อมวลชน หลายๆ ที่ยอมรับว่า เรามีสื่อพลเมือง สื่อภาคประชาชน ลักษณะการทำงานเปิดกว้างกว่า ถ้าท่านมีความรู้ท่านมีจริยธรรมก็เชื่อมั่นได้ ในต่างประเทศ สื่อพลเมืองก็เป็นฐานนันดรที่ 5

สภาการสื่อมวลชนฯ เสวนา กฎหมายจริยธรรม ชี้ กำกับดูแลกันเองมีข้อจำกัด ส่วนประเด็นว่ากฎหมายสื่อจำเป็นหรือไม่ รศ.สาวตรี แสดงความเห็นว่า ในฐานะคนรับสื่ออาจจะจำเป็น เพราะประเทศไทยมีสื่อหลายกลุ่ม แต่คำถามคือ จะนำกลไกมากำกับอย่างไร ในมุมอุดมคติที่สุด คือการกำกับดูแลกันเอง ถ้าประเทศที่ประชาธิปไตยเข้มแข็ง กลไกมีสภาพบังคับ มีการตรวจสอบคานอำนาจกัน ก็จะสำเร็จ ดังเช่นตัวอย่างในต่างประเทศ ที่สามารถทำได้ก็ประสบความสำเร็จ เช่น สวีเดน สแกนดิเนเวีย แต่สำหรับประเทศที่ประชาธิปไตยยังกระท่อนกระแท่น การกำกับดูแลยังไม่ได้ผล ก็มีขั้นตอนของกลไกกำกับดูแลร่วมกัน ซึ่งจะเป็นโจทย์ต่อไปว่า จะสามารถร่วมมือกันได้ระดับไหน จะเป็นการ่วมมือหรือเป็นการตั้งองค์กรมาคุมอีกที