8 วิธีรับมือ หลอกกู้เงินออนไลน์ เดือนเดียวตกเป็นเหยื่อกว่า 1.7 พันราย
ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพแอบอ้างสถาบันการเงิน หลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์ระบาดหนัก เดือน มิ.ย.มีผู้ตกเป็นเหยื่อกว่า 1.7 พันราย แนะ 8 วิธีรับมือภัยร้าย
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากการตรวจสอบสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้กู้เงินผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งมิจฉาชีพสร้างขึ้นมาโดยแอบอ้างชื่อเพจสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่างๆ รวมถึงใช้สัญลักษณ์ของสถาบันการเงินนั้นๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีการประกาศโฆษณาด้วยข้อความต่างๆ อาทิเช่น บริการกู้เงินฉุกเฉินในวงเงินสูง สมัครง่าย อนุมัติเร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่ตรวจสอบเครดิต และมีกฎหมาย PDPA คุ้มครอง เป็นต้น
จากนั้นเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อเพิ่มเพื่อนทางไลน์เพื่อติดต่อไปขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง มิจฉาชีพจะหลอกขอข้อมูลส่วนตัว ภาพถ่ายบัตรประชาชน เลขที่บัญชีธนาคาร มีการให้ทำสัญญากู้เงินปลอม จากนั้นจะให้ผู้เสียหายโอนเงินให้ก่อนอ้างว่าเป็นเงินค่าธรรมเนียม ค่าเบี้ยประกัน หรือค่าอื่นๆ กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้วก็ไม่ได้รับเงินกู้แต่อย่างใด มิจฉาชีพก็อ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อให้ผู้เสียหายโอนเงินมาเพิ่มอีก เช่น โอนเงินผิดบัญชี หรือโอนเงินเกินเวลาที่กำหนด หรือทำธุรกรรมการเงินที่ผิดพลาดอื่นๆ ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 1 – 30 มิ.ย.2566 มีประชาชนถูกหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์กว่า 1,739 เรื่อง หรือคิดเป็น 10.34% ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีความเสียหายรวมกว่า 73 ล้านบาท
โฆษก บช.สอท.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หรือผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือโทรศัพท์ไปยังประชาชน โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะว่า กู้ง่าย อนุมัติเร็ว วงเงินสูง ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ต้องมีหลักประกัน ใช้เอกสารน้อย เป็นต้น เพราะฉะนั้นประชาชนต้องพึงระวังการกู้เงินในลักษณะดังกล่าว ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ หากจำเป็นต้องกู้เงินควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ และศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี รวมถึงมีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ หากพบเห็นความผิดปกติ หรือขอเสนอที่ดีเกินไปควรหลีกเลี่ยง อย่าหลงเชื่อว่าตัวเองโชคดี
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันการถูกหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์ ดังนี้ 1.ถ้าผู้ให้บริการกู้เงินรายใด แจ้งให้ผู้ขอกู้โอนเงินก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าใดๆ ก็ตาม สันนิษฐานไว้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพ 2.ตรวจสอบผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตได้ที่เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th 3.ระวังเว็บไซต์ปลอมที่แอบอ้างสถาบันการเงินต่างๆ โดยเว็บไซต์ปลอมจะไม่สามารถเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆ ของเว็บไซต์ได้ คาดหวังเพียงหลอกลวงให้เหยื่อเพิ่มเพื่อนทางไลน์เท่านั้น 4.ระวังไลน์ทางการปลอม ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสัญลักษณ์ยืนยันตัวตนโล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หรือไม่
5.ไม่ควรกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ที่ถูกส่งลิงก์แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ 6.แอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ มักจะตั้งชื่อคล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือแอบอ้างเป็นผู้ได้รับอนุญาต ควรสอบถาม หรือหาข้อมูลด้วยตนเองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ว่าเป็นแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการจริงหรือไม่ 7.แอปพลิเคชันเงินกู้สามารถเข้าถึงข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์ มิจฉาชีพจะนำข้อมูลที่ได้ไปข่มขู่บุคคลดังกล่าว เพื่อให้ผู้กู้อับอายรีบนำเงินมาชำระโดยเร็ว และ 8.ไม่ควรหลงเชื่อเพียงเพราะมีการสร้างความน่าเชื่อ เช่น สอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคารจริง