'ในหลวง' ทรงห่วงพสกนิกรประสบภัยน้ำท่วมใต้ หนักสุดในรอบ 40 ปี
"ผบ.ตร."เผย "ในหลวง" ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ หนักสุดในรอบ 40 ปี บอก ทุกอย่างอยู่ในพระเนตรพระกรรณ ฝากเร่งช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
วันที่29 ธ.ค.2566 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร พร้อมด้วย พล.ต.ท.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ จเรตำรวจ (สบ 8) และ พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เดินทางไปยัง ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา โดยมี พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผบช.ภ.9 , พล.ต.ต.เสกสันต์ ชูรังสฤษฎิ์ ผบก.ภ.จว.ยะลา พร้อมด้วยข้าราชการตำรวจในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ
โดยพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมมอบสิ่งของยังชีพแก่ข้าราชการตำรวจ และครอบครัวซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะเดียวกันได้มอบถุงยังชีพ และข้าวกล่องปรุงสดจากรถครัวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้แก่ประประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้
จากนั้น ผบ.ตร.ได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจและมอบสิ่งของช่วยข้าราชการตำรวจและครอบครัว จำนวนประมาณ 60 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยเช่นเดียวกัน
โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ฯ ได้กล่าวขอบคุณกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ และช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ผบ.ตร.ยังได้เยี่ยมให้กำลังใจ มอบอาหารยังชีพ และเงินสด ให้แก่ชาวบ้านในละแวก สภ.ท่าธง ซึ่งมีทั้งผู้ป่วยติดเตียง คนชรา และเด็ก พร้อมมอบเงินให้กำลังใจเจ้าหน้าที่อนามัย เจ้าหน้าที่ อสม.ตำบลท่าธง สร้างความปลาบปลื้มแก่เจ้าหน้าที่ และชาวบ้านอย่างมาก
จากนั้น ผบ.ตร. ได้มอบถุงยังชีพ และข้าวกล่องให้แก่ชาวบ้านจะรังตาตง ซึ่งมีทั้งผู้สูงอายุและเด็กกว่า 300 คน และนั่งเรือท้องแบนออกเยี่ยม มอบอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น แก่ชาวบ้านที่ติดอยู่ในบ้านซึ่งยังคงมีน้ำท่วมสูง สร้างรอยยิ้มและกำลังใจให้ชาวบ้าน ที่ต่างกล่าวขอบคุณ ผบ.ตร. และตำรวจที่มาช่วยดูแล
ต่อมา พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ฯ ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าธง ผู้นำชุมชน และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นมาอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการอพยพประชาชนที่ตกค้าง และต้องการความช่วยเหลือให้ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพ ตนมีประสบการณ์การช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่ปี 2554 พบว่าสิ่งสำคัญในการจัดการสถานการณ์คือนำ ผู้ป่วย คนแก่ เด็ก ออกจากพื้นที่ในลำดับแรก เพื่อให้ง่าย ไม่เป็นภาระในการช่วยเหลือเมื่อสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต จึงฝากเป็นข้อคิดที่ทุกหน่วยงานต้องนำไปกำหนดแผนในอนาคต
วันนี้ได้หน่วยกู้ภัย อาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆ และกำลังพลจิตอาสา สั่งการตรงจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ให้กำลังพลเข้ามาช่วย และจากนี้ต้องวางแผนระดมกำลังจิตอาสาเข้ามาช่วยฟื้นฟูพื้นที่บ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเสียหายอย่างมาก ทั้งนี้ ได้ให้คำแนะนำในการบริหารจัดการทำให้โรงพักเป็นเซ็นเตอร์พอยต์ ดรอปโซน ศูนย์กลางรับของยังชีพ และกระจายความช่วยเหลือให้ชาวบ้านเพื่อให้การช่วยเหลือทำได้ง่าย ไม่เป็นภาระชาวบ้าน ครั้งนี้ถือว่าน้ำท่วมชายแดนใต้หนักสุดในรอบ 40 ปี ทุกหน่วยระดมให้ความช่วยเหลือ
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวต่อว่า แม้ขณะนี้แม้สถานการณ์ในพื้นที่ อ.รามัน จว.ยะลา ฝนจะได้หยุดตกแล้ว ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรีลดระดับลง แต่ยังคงต้องมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับฝ่ายปกครอง ทหาร ผู้นำชุมชน จิตอาสา และอาสาสมัครในพื้นที่ เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ พร้อมเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือต่อไป ซึ่งตนตั้งใจมาเยี่ยมข้าราชการตำรวจและครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมครั้งนี้ มาให้ขวัญกำลังใจ มาดูแลครอบครัว เพื่อให้ข้าราชการตำรวจไม่ต้องห่วงกังวล จะได้ไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
โดยในขณะที่เพื่อนตำรวจหลายหน่วยมีโอกาสได้เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ แต่ตำรวจในพื้นที่ภาคใต้จำนวนมากต้องเผชิญสถานการณ์น้ำท่วม และต้องไปช่วยเหลือประชาชน ตนจึงอยากมาให้กำลังใจตนมาตรวจเยี่ยมให้กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ท่านทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ด้วยหัวใจ เป็นข้าราชการตำรวจของพระราชา ในสายตาของชาวบ้าน ขอขอบคุณกำลังพลตำรวจทุกนาย
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวต่อว่า ได้ประสานสมาคมแม่บ้านตำรวจเข้ามาช่วยดูแลก่อนหน้านี้แล้ว และได้ประสานความร่วมมือจากภาคเอกชนเครือเจริญโภคภัณฑ์ช่วยสนับสนุนข้าวสาร ไข่ไก่ มาช่วยในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนของสถานีตำรวจ ที่พักตำรวจที่ได้รับความเสียหายสั่งการให้สำนักงานส่งกำลังบำรุงจัดสรรงบประมาณเพื่อซ่อมบำรุง และต้องมีแนวทางแก้ไขระยะยาวสำหรับพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ขณะเดียวกันต้องสร้างทักษะการเอาตัวรอดจากน้ำท่วมให้ชาวบ้าน และสร้างทักษะการเข้าช่วยเหลือให้เจ้าหน้าที่ด้วย
"ทุกอย่างอยู่ในพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้องคมนตรีเดินทางมามอบถุงยังชีพตั้งแต่แรก และให้กำลังพลจิตอาสาเข้ามาดูแลประชาชน ขณะที่รัฐบาล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ลงพื้นที่มาติดตามเรื่องนี้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศแบ่งปันน้ำใจช่วยเหลือพี่น้องในภาคใต้ที่ประสบภัย ผ่านหน่วยงานราชการต่าง ๆ และขอให้กำลังผู้ที่ประสบภัยทุกท่าน เราไม่ทอดทิ้ง และจะเข้าไปดูแล"