'ในหลวง-ราชินี' เสด็จฯประกอบพิธีเจิม 'เรือหลวงช้าง' 18 พ.ค.นี้

'ในหลวง-ราชินี' เสด็จฯประกอบพิธีเจิม 'เรือหลวงช้าง' 18 พ.ค.นี้

"กองทัพเรือ" เชิญชวนประชาชน เฝ้ารับเสด็จฯ "ในหลวง-ราชินี" ทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง ท่าเรือจุกเสม็ด 18 พ.ค.นี้

16 พ.ค.2567  กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ เผยแพร่ข่าวว่า กองทัพเรือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2567   จึงขอเชิญพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ในโอกาสนี้โดยพร้อมเพรียงกัน

สำหรับ เรือหลวงช้าง เป็นเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ลำใหม่ที่กองทัพเรือได้ว่าจ้าง 
บริษัท China Shipbuilding Trading (CSSC) ให้ต่อขึ้น ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน 

ซึ่งได้รับการปรับปรุงและพัฒนาแบบมาจากเรือ LPD Type 071 ที่ประจำการในกองทัพเรือจีน มีขีดความสามารถ ในการควบคุมบังคับบัญชา การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และมีขีดความสามารถในการลำเลียงกำลังรบยกพลขึ้นบกจำนวน 650 นาย มียานรบประเภทต่าง ๆ รวมถึงยุทโธปกรณ์ อีกทั้งสามารถปฏิบัติงาน ร่วมกับอากาศยานของกองทัพเรือได้ทุกประเภท ตลอดจนการสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารที่่ไม่ใช่สงคราม 

สนับสนุนภารกิจการบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล จัดหามาเพื่อนำไปใช้้ในภารกิจในการป้องกันประเทศ
และรักษาผลประโยชน์์ของชาติทางทะเล ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ใช้ระยะเวลาในการต่อเรือ 4 ปี จึงแล้วเสร็จ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 โดยมีพลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น 
เดินทางไปเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือหลวงช้าง ณ อู่ต่อเรือหูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน 

เรือหลวงช้างเดินทางออกจากเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน กลับสู่ประเทศไทย ในวันที่ 18 เมษายน 2566 ระหว่างการเดินทางกลับ เรือหลวงช้างได้ประกอบกำลังเดินทางกับเรือหลวงนราธิวาส รวมทั้งทำการฝึกการปฏิบัติงานในสถานีเรือต่าง ๆ เพื่อให้กำลังพล และเรือมีความพร้อมปฏิบัติราชการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายทันทีที่เดินทางกลับมาถึง นอกจากนั้น ด้วยสภาพคลื่นลมที่่รุนแรงจากพายุและลมมรสุมในทะเลจีนใต้ระหว่างการเดินทาง ยังเป็นการฝึกกำลังใจ และเพิ่มความชำนาญให้กับกำลังพลประจำเรือในการปฏิบัติงาน

ในสภาพอากาศที่่เลวร้าย ตลอดจนเป็นโอกาสทดสอบขีดสมรรถะ และความคงทนทะเลของเรือลำนี้เป็นอย่างดี

เรือหลวงช้างลำใหม่นี้เป็นเรือหลวงช้างลำที่ 3 ของราชนาวีไทย มีความยาวตลอดลำ 210 เมตร 
ความกว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำ 25,000 ตัน มีกำลังพลประจำเรือ 196 นาย แบ่งเป็น
นายทหารสัญญาบัตร 26 นาย พันจ่า 39 นาย จ่า 96 นาย และพลทหาร 35 นาย โดยได้เข้าประจำการ
ในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการ มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งและลำเลียง อีกทั้งเป็นเรือบัญชาการ และมีภารกิจรองในการสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำ อาทิ การช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย (HADR) การอพยพประชาชน การสนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ 

เรือยกพลขึ้นบกลำใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ลำนี้ว่า “เรือหลวงช้าง” ชื่อภาษาอังกฤษ “H.T.M.S. CHANG” ตามชื่อของหมู่เกาะช้างในจังหวัดตราด ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกองทัพเรือ ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบ ตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือยกพลขึ้นบก กำหนดให้ตั้งชื่อตามเกาะต่าง ๆ ในประเทศไทย นำความปลื้มปีติและความภาคภูมิใจมาสู่กองทัพเรือ และกำลังพลประจำเรืออย่างหาที่สุดมิได้