‘วราวุธ‘เยือนโคราช แก้ปัญหาชุมชนได้รับผลกระทบรถไฟฟ้าความเร็วสูง
“วราวุธ” รมว.พม. นำทีมลุยโคราช ประเดิมตอกเข็มเอกบ้านมั่นคงริมรางเมืองย่าโม แก้ปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างรถไฟเร็วสูงภาคอีสาน พร้อมดูแลชาวชุมชนให้มีบ้านมั่นคงคุณภาพชีวิตที่ดีทุกด้าน เชื่อ พอช.พัฒนาที่อยู่อาศัยตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567 ที่สหกรณ์เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ตำบลหัวทะเล อำเภอเมืองนครราชสีมา
จังหวัดนครราชสีมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง (บ้านมั่นคงเครือข่ายริมรางย่าโม) โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) คณะผู้บริหาร พอช. เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา และชาวชุมชนในพื้นที่มารอให้การต้อนรับ
โดยทันทีที่มาถึง ได้มีตัวแทนชาวบ้านขบวนองค์กรชุมชนนำผ้าขาวม้ามาผูกเอว จากนั้นได้เดินชมบริเวณก่อสร้างโครงการบ้านมั่นคงเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม และเข้ารับฟังความเป็นมาของโครงการ สถานการณ์ผลกระทบ นโยบาย สภาพปัญหาของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง แนวทางการแก้ไขปัญหา โดยนายกฤษดา ผอ.พอช. ได้รายงานสิ่งที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ขับเคลื่อนงานดังกล่าวภายใต้โครงการบ้านมั่นคง และผู้แทนสหกรณ์เครือข่ายริมรางเมืองย่าโมนำรายงานผลการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมราง
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ นำเสนอรายงานสำหรับโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เสนอในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ให้มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย มีโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการและสิ่งแวดล้อมที่ดี มีรูปแบบการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิธีชีวิต
โดยมีแผนดำเนินการปี 2566-2570 วงเงินทั้งสิ้น
7718.49 ล้านบาท เป้าหมายดำเนินการใน 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ซึ่งมีแนวทางและกระบวนการขั้นตอนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชน มีความสอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (2561-2580) ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคด้านสังคม
(1) การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ (2) การเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา การพึ่งพาตนเองและการจัดการตนเอง ถือเป็นพื้นฐานความเข้มแข็งจากฐานราก แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน สร้างชุม ชนที่น่าอยู่มุ่งเน้นการจัดการที่อยู่อาศัยการพัฒนาพื้นที่เมืองแบบองค์รวมเพื่อพัฒนาชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุกที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท จากการประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ นั้น
ขณะเดียวกัน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย
ผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง โดยมีเป้าหมายโครงการรวม 35 จังหวัด 300ชุมชน 27,084 ครัวเรือน ปัจจุบัน พอช. ลงพื้นที่เปิดเวทีสร้างความเข้าใจโครงการทั้ง 5 ภูมิภาคแล้ว โดยสำรวจข้อมูลและสรุปรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 13,190 ครัวเรือน และอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบทั่วประเทศอีกจำนวน 13,894 ครัวเรือนให้แล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค. 2567 นี้
นายกฤษดา กล่าวว่า ส่วนผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีชุมชนที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจาก พอช. แล้ว 15 โครงการ จำนวน 1,006 ครัวเรือน งบประมาณรวมกว่า 130,489,824 บาท และจะขยายผลการดำเนินงานครอบคลุมทั้ง 35 จังหวัด ทั่วประเทศ
การพัฒนาเมืองที่เติบโตขึ้นโดยเฉพาะการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางรางที่คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์
อย่างมากทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนการพัฒนารถไฟความเร็วสูง พาดผ่านสายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ – นครราชสีมา -หนองคาย ระยะทางรวม 609 กิโลเมตร โดยมีสถานีรถไฟความเร็วสูง จำนวน 11 สถานี (คาดว่าจะเปิดใช้ปี 2568)
โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เริ่มจากกรุงเทพฯ –นครราชสีมา คาดเปิดใช้ปี 2568 และระยะที่ 2 เริ่มจากกรุงเทพฯ – หนองคาย คาดเปิดใช้ปี 2573 การพัฒนาระบบคมนาคมดังกล่าวเพื่อการขนส่งที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่การพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนี้ก็ คือ ชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง รวม 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมาอุดรธานี อุบลราชธานี ศรีสะเกษ 60 ชุมชน 3,510 ครัวเรือน
ปัจจุบัน พอช. โดยสำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง ได้มีการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจโครงการฯครบทุกจังหวัดแล้ว และสหกรณ์เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม จำกัด ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงชุมชนริมราง ได้ดำเนินการจดแจ้งจัดตั้งสหกรณ์ภายใต้ชื่อ “สหกรณ์เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม จำกัด” เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2565 และได้รับสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะสัญญาการเช่า 30 ปี (1 ส.ค. 2565 – ก.ค. 2595) ขนาดพื้นที่เช่ารวม 7 ไร่ 1 งาน 61 ตารางวา รองรับสมาชิกจำนวน 166 ครัวเรือน และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย “โครงการบ้านมั่นคง” จากสถาบัน
พัฒนาองค์กรชุมชน จำนวน 166 ครัวเรือน งบประมาณรวม 19,403,500 บาท
แบ่งบ่งเป็นงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค(โครงสร้างพื้นฐาน) จำนวน 7,470,000 บาท งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย 4,980,000 บาท งบบริหารจัดการชุมชนภาคีเครือข่าย 373,500 บาท และงบช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เป็นเงิน 6,580,000 บาท ทางสหกรณ์มีการก่อสร้างบ้านระยะแรก จำนวน 27 ครัวเรือน ราคาค่าก่อสร้างบ้านแถวชั้นเดียวขนาด 4x7 เมตร รวมต่อหลังประมาณ 100,000 บาท (ไม่รวมฉาบผ้ากระเบื้อง) โดยสมาชิกใช้งบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนผ่านพอช. ในการก่อสร้างเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว และกำลังดำเนินการต่อเนื่องในระยะที่ 2 จำนวน 27 หลังซึ่งจะทยอยสร้างให้ครบ 166 หลังตามแผนงาน ทั้งนี้ในแผนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น พอช.ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขับเคลื่อนงานร่วมกัน เพื่อผลักดันโครงการพัฒนาโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ถึงเป้าหมายที่กำหนดร่วมกัน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวว่า ตนมีความยินดีที่ได้ลงพื้นที่พบปะและเยี่ยมพี่น้องโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมราง และขอแสดงความยินดีในความสำเร็จของพี่น้องประชาชน ตลอดจนความร่วมมือของผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญและมีนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย สร้างความมั่นคงและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การจัดกิจกรรมในวันนี้แสดงถึงความสำเร็จพื้นที่รูปธรรมของสหกรณ์
จากนั้นได้มอบนโยบายการสร้างความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยประกาศเป็นวาระสำคัญเนื่องในโอกาสที่รัฐบาลเตรียมจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษาในวันที่ 28 ก.ค. เดินหน้า โครงการเฉลิมพระเกียรติฯ 10 โครงการในโครงการที่ 7 โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในวันที่ 28 ก.ค. 2567เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยเหลือและให้โอกาสแก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสรวมถึงผู้พิการหรือทุพพลภาพในการที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ ที่พักอาศัย หรือที่ดินทำกิน สำหรับการประกอบอาชีพเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. มีแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองและชนบท ในปีพ.ศ.2567 รวม จำนวน 5,172 ครัวเรือน (บ้านมั่นคง 3,900 ครัวเรือน/ริมราง 1,272 ครัวเรือน)
จากนั้นนายวราวุธ ได้ร่วมเปิดป้ายริมรางพะไล (Land Sharing) ตอกเข็มเอกเสาเข็มต้นแรกของบ้านนางสาววาริสษา แย้มทอง และมอบพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระ
นางเจ้าฯ พระบรมราชินี มอบเครื่องอุปโภคบริโภค รถโยก ให้แก่นางสมจิตร ไพรงาม (ผู้พิการ) และเงินสนับสนุนด้านอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ที่เป็นสมาชิกในสหกรณ์อีกจำนวน 25 รายและเชื่อว่าสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สามารถขับเคลื่อนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของชุมชนและตามแนวทางนโบบายที่รัฐบาลมอบหมาย พร้อมกันนี้ขอยืนยันว่าจะเดินหน้าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้มีความสอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์และแผนงานของรัฐบาล (ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี) โดยในการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 ก.ค.นี้ ตนจะนำเรียนแนวทางการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคงริมราง และในฐานะ รมว.พม.จะดูแลชุมชนให้ชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกด้าน