สนทช.วาง 3 กลไกบริหารจัดการน้ำ รองรับฤดูฝน พื้นที่เสี่ยง กักเก็บใช้ฤดูแล้ง
สทนช.รับมือมรสุมอีกระลอกปลายก.ค. เผยลานีญาส่งผลชัดส.ค. บูรณาการทุกหน่วยงานด้านน้ำวาง 3 กลไกบริหารจัดการน้ำ เตรียม 10 มาตรการรองรับฤดูฝน จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงท่วม และบริหารจัดการน้ำตลอดฤดู กักเก็บน้ำส่วนเกินเป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้ง
23 ก.ค.2567 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ดีเปรสชั่นสลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือในบางพื้นที่ และเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ (พะเยา แพร่ เพชรบูรณ์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และอุบลราชธานี) ภาคตะวันออก (ปราจีนบุรีและชลบุรี) ภาคตะวันตก (เพชรบุรี ) ซึ่งปัจจุบันในหลายพื้นที่กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ยกเว้นจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคามที่ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ทำนบดินชั่วคราวขาดบริเวณงานก่อสร้างปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ต.โนนราษี อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ที่เกิดขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 16 ก.ค.2567 ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากอย่างรวดเร็วไปยังพื้นที่ด้านท้ายน้ำ มีน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ต.โนนราษี ต.กำพี้ ต.ดอนงัว ต.บัวมาศ ใน อ.บรบือ และ ต.หนองม่วง และมวลน้ำดังกล่าวไหลลงลำน้ำเสียวใหญ่และหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 6 ตำบลใน อ.วาปีปทุม ได้แก่ ต.หนองแสง ต.โพธิ์ชัย ต.บ้านขวาย ต.นาข่า ต.แคน และ ต.หัวเรือ
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ สทนช.ประสานหน่วยงานในพื้นที่เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้หน่วยงานตรวจสอบความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมาก จะต้องมีการพร่องน้ำก่อน เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำหลากที่จะเข้ามาอีกครั้ง ในช่วงที่ลมมรสุมจะมีกำลังแรงอีกระลอกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้
“สภาวะลานีญาจะเริ่มส่งผลชัดเจนยิ่งขึ้นอีกในเดือนสิงหาคม ซึ่ง สทนช. จะได้ใช้ 10 มาตรการรองรับฤดูฝน ร่วมกับการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ประสบภัย และกลไกการบริหารจัดการน้ำแบบทั้งระบบลุ่มน้ำ ในสภาพที่น้ำฝน น้ำท่ามีปริมาณมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยปกติ จะช่วยให้การระบายน้ำและหน่วงน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำและลำน้ำมีความสมดุล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้อาศัยสองฝั่งลำน้ำจนถึงท้ายน้ำ รวมถึงพื้นที่ทำการเกษตรน้อยที่สุด
อีกทั้งยังจะสามารถกักเก็บน้ำส่วนเกินไว้เป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้งถัดไปได้ด้วย โดยศักยภาพในการกักเก็บน้ำภายในประเทศขณะนี้ ยังสามารถเก็บน้ำได้อีกมากกว่า 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับใช้ในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
นายสุรสีห์ ระบุอีกว่า สทนช. ดำเนินการบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำทุกหน่วย ผ่าน 3 กลไกในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูฝนนี้ ได้แก่
1. กลไกบริหารจัดการน้ำก่อนเริ่มฤดู ได้กำหนด 10 มาตรการรองรับฤดูฝน เพื่อให้หน่วยงานด้านน้ำทุกฝ่ายนำไปเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนทิศทางเดียวกัน
2. กลไกบริหารจัดการน้ำระหว่างฤดู ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะประสบภัยทางน้ำ เพื่อเร่งประสานข้อมูลปริมาณน้ำ ความช่วยเหลือ และประชาสัมพันธ์ เตือนภัยในพื้นที่ได้รวดเร็ว สามารถแจ้งเตือนภัยให้อพยพผู้คน สัตว์เลี้ยงได้ทันท่วงที
และ 3. กลไกบริหารจัดการน้ำตลอดฤดู มีการประสานการบริหารจัดการน้ำแบบระบบลุ่มน้ำ ให้การบริหารจัดการปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำมีความสัมพันธ์กัน และมั่นใจว่าการดำเนินงานตามกลไกดังกล่าวจะทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำท่ามกลางเงื่อนไขของสภาพอากาศที่มีความผันผวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถแจ้งเตือนภัยให้อพยพผู้คน สัตว์เลี้ยงได้ทันการณ์ ช่วยลดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินได้ตลอดทั้งฤดูฝนนี้
ขณะเดียวกันจะติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำให้คณะรัฐบาลทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป