'ผู้เสียหายหุ้นสตาร์ค' ยื่น ก.ล.ต. เร่งเอาผิด 'ดีลอยท์' เชื่อมีเอี่ยว
"ผู้เสียหายหุ้นสตาร์ค - ทนาย" ร้อง ก.ล.ต. เร่งสางปม - เอาผิด "ดีลอยท์" เชื่อมีเอี่ยวปมโกงหุ้นสตาร์ค พร้อมจี้ออกมาตรการเด็ดขาดเพิกถอนจากการทำงานในตลาดทุนไทย
ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายอำพล รัตนมูสิก ทนายความในฐานะตัวแทนของผู้เสียหายจำนวน 78 คน ที่ลงทุนซื้อหุ้นกู้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK พร้อมผู้เสียหายบางส่วนได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ก.ล.ต. เพื่อเรียกร้องให้ ก.ล.ต.เพิกถอน และดำเนินคดีอาญาเอาผิดกับผู้สอบบัญชีรับอนุญาตในสังกัดของบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด หรือบริษัทดีลอยท์ฯ และบริษัทดีลอยท์ฯ ตามอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต.
โดยนายอำพล เปิดเผยว่า ตั้งแต่ ปี 2561 STARK ได้ว่าจ้างผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ของบริษัท ดีลอยท์ฯ เข้ามาตรวจสอบ และรับรองงบการเงินตั้งแต่ปี 2561 ในฐานะผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้แสดงความเห็นของผู้สอบบัญชีต่องบการเงินแบบไม่มีเงื่อนไข หรือเรียกว่างบการเงินคลีน ทำให้นักลงทุนไม่มีข้อสงสัยหรือข้อควรระวังในการลงทุน แต่ในปี 2564 บริษัทดีลอยท์ฯ และนายนันทวัฒน์ สำรวญหันต์ ซึ่งเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และเป็นหุ้นส่วนสำนักงานด้านการสอบบัญชี อยู่ในสังกัดของบริษัทดีลอยท์ฯ กระทำการโดยปล่อยปละละเลย ไม่เอาใจใส่เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพผู้สอบบัญชี ไม่ได้ทำการตรวจสอบ ติดตามเรื่องต่อในงบการเงินปี 2564 ทั้งที่งบดุล และงบการเงินของ STARK มีข้ออันควรตรวจสอบ เช่น การลงทุนซื้อบริษัทในประเทศเวียดนาม มีการลงบัญชีไม่ถูกต้องในระดับไม่มีความน่าเชื่อถือ มีพฤติกรรมในการลงบัญชีโดยสร้างยอดขายปลอม
นายอำพล เปิดเผยต่อว่า ก่อนหน้านี้ตน ตัวแทนสมาชิกกลุ่มผู้เสียหาย กลุ่มกู้หุ้น STARK ทำจดหมายถึงประธาน ก.ล.ต. ทำหนังสือถึง ก.ล.ต. ถึง 2 ครั้ง เมื่อ 17 ม.ค.2567 และ 9 พ.ค.2567 เพื่อให้ดำเนินคดีผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และบริษัทดีลอยท์ฯ แต่ได้รับการตอบกลับสั้นๆ โดยมีสาระว่า ในจดหมายฉบับแรกว่าไม่พบข้อสงสัย และฉบับสอง ระบุว่าต้องให้โอกาสผู้สอบบัญชีชี้แจงโต้แย้งอย่างเพียงพอ และปัจจุบัน ก.ล.ต.ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแล และลงโทษสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุน ซึ่งการตอบกลับดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายรู้สึกว่า ก.ล.ต.ไม่ให้ความสำคัญ และไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ ก.ล.ต.มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง และเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการตรวจสอบงบการเงินของผู้สอบบัญชีในตลาดทุน และมีอำนาจเพิกถอนการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีนั้นได้ ตามมาตรา 62 วรรค 2 แห่งพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ
"ผมขอตั้งคำถามด้วยว่า เหตุใดเมื่อเกิดปรากฏการณ์ STARK มูลค่าความเสียหายสูงถึง 43,525 ล้านบาท แต่มีผู้บริหารอาวุโสตำแหน่งสำคัญที่เป็นที่ปรึกษาอาวุโส และประธานคณะกรรมการ บริษัท ดีลอยท์ฯ จึงยังนั่งเป็นคณะกรรมการ ก.ล.ต.ในคณะปัจจุบัน เป็นความเหมาะสมหรือไม่ เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ และส่งผลให้ ก.ล.ต.ไม่สามารถแก้ไขปัญหากรณี STARK จนถึงวันนี้ใช่หรือไม่" นายอำพล กล่าว
นายอำพล เปิดเผยด้วยว่า เหตุการณ์หรือปรากฏว่าที่เกิดขึ้นกับ STARK เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่หละหลวม ไม่มีการพัฒนา มีการเอื้อประโยชน์กันในตลาดทุน ละเลยละเว้นหน้าที่ตามบทบัญญัติกฎหมายอย่างร้ายแรง จึงขอให้ทาง ก.ล.ต. เร่งออกมาตรการเด็ดขาด เพิกถอนการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชี นายนันทวัฒน์ สำรวญหันต์ สังกัดของบริษัทดีลอยท์ฯ และลงโทษทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ของ ก.ล.ต.
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์