รมว.ดีอี เผยข้อมูลรั่วไหลลดเหลือเพียง 1.62 % รุกสกัดแล้วกว่า 6,000 เรื่อง

รมว.ดีอี เผยข้อมูลรั่วไหลลดเหลือเพียง 1.62 % รุกสกัดแล้วกว่า 6,000 เรื่อง

รมว.ดีอี เผยสถิติข้อมูลรั่วไหลลดเหลือเพียง 1.62 % รุกสกัดแล้วกว่า 6,000 เรื่อง สั่งการ PDPC เร่งปราบต่อเนื่อง

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวง ดีอี ได้มอบหมายให้ ศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล PDPC Eagle Eye สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ติดตาม เฝ้าระวัง การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากสถิติผลการดำเนินการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 จนถึง 31 กรกฎาคม 2567 ได้ทำการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวัง การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลจากเว็บไซต์ของหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 31,561 หน่วย พบว่ามีกรณีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน จำนวน 6,086 เรื่อง และแจ้งหน่วยงานให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว 6,081 เรื่อง และยังมี 5 เรื่อง ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งจากสถิติดังกล่าวพบว่า ลดลงจาก 31.40 % ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 เหลือ 1.62 % ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 
 

ด้านหน่วยงานที่มีข้อมูลรั่วไหลมากที่สุดคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อมูลรั่วไหลจำนวน 2,850 เรื่อง ขณะเดียวกันยังตรวจพบการขายข้อมูลจำนวน 139 เรื่อง ซึ่งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดทั้งสิ้น 11 ราย 

อย่างไรก็ตาม กระทรวง ดีอี ได้มอบหมายให้ PDPC เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ และสร้างความตระหนักรู้ ด้านกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (กฎหมาย PDPA) และตรวจสอบการรั่วไหลข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความมั่นใจและให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
 

ทั้งนี้จากสถิติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลในภาพรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงพบการรั่วไหลของข้อมูลจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนอยู่ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบ และกำกับดูแลหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA อย่างเคร่งครัด 

พร้อมป้องกันไม่ให้หน่วยงานเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนโดยไม่เหมาะสมบนช่องทางสาธารณะ โดยหากตรวจพบหน่วยงานที่มีการกระทำผิดอย่างต่อเนื่องและมีผลกระทบร้ายแรง จำเป็นจะต้องมีลงโทษ มีการปรับทางปกครองอย่างเด็ดขาดตามกฎหมาย PDPA ต่อไป