ในหลวงทรงติดตามสถานการณ์น้ำ ให้กำลังใจทุกฝ่าย พระราชทานความช่วยเหลือ ปชช.

ในหลวงทรงติดตามสถานการณ์น้ำ ให้กำลังใจทุกฝ่าย พระราชทานความช่วยเหลือ ปชช.

ในหลวงโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีติดตามสถานการณ์บริหารจัดการน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทรงห่วงใยราษฎรประสบภัยพิบัติน้ำท่วม พร้อมทั้งพระราชทานความช่วยเหลือ และทรงให้กำลังใจทุกฝ่ายที่ร่วมกันแก้ปัญหา

ในการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 เพื่อติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและประเมินสถานการณ์น้ำภาพรวม โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA 

ในหลวงทรงติดตามสถานการณ์น้ำ ให้กำลังใจทุกฝ่าย พระราชทานความช่วยเหลือ ปชช.

หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายพลากร เปิดเผยว่า เป็นพระราชกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้องคมนตรีมารับฟังข้อมูลสถานการณ์น้ำ ด้วยทรงห่วงใยราษฎรต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และมีกระแสพระราชดำรัสที่ส่วนเกี่ยวข้อง ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรับมาปฏิบัติ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้คนไทยทุกคน มีข้าวรับประทานทุกมื้อ เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ซึ่งส่วนเกี่ยวข้องได้นำมาดำเนินการ เช่น ครัวพระราชทาน เป็นต้น

ทั้งนี้ การมารับฟังข้อมูลนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ทางทหารก็จริง แต่พระองค์ทรงประยุกต์ใช้ในการบริหารกิจการที่จะทำให้อาณาประชาราษฎร์ มีความปลอดภัยพ้นจากภัยพิบัติ  คือ ถ้าระวังได้ก็ระวัง ถ้าระวังไม่ได้ ก็จะดูแลช่วยเหลือประชาชน ชดเชยความเสียหาย ทรงหวังว่าทุกฝ่ายมีการการเตรียมการที่ดีอยู่แล้วในขณะนี้  

“อันนี้คือหน้าที่ที่มารับทราบจากทุกฝ่ายในวันนี้  และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้องคมนตรีไปเยี่ยมประชาชน และเชิญถุงพระราชทานไปมอบให้ราษฎรที่ประสบภัย เพื่อเป็นกำลังใจจากน้ำพระทัยพระองค์ท่านที่ระลึกถึงพี่น้องประชาชน” องคมนตรี กล่าว

ในหลวงทรงติดตามสถานการณ์น้ำ ให้กำลังใจทุกฝ่าย พระราชทานความช่วยเหลือ ปชช.

ทางด้านนางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร.กล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาวว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนใหญ่ประชาชนจะขอเรื่องแก้ปัญหาน้ำแล้ง การขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและทำกิน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญภายหลังจากเกิดภัยพิบัติแล้ว

ทั้งนี้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริประมาณ 70% เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ผ่านมามีประมาณ 3,000 กว่าโครงการ พบว่าส่วนใหญ่จะตื้นเขิน ช่วงหน้าฝนรับน้ำได้น้อย ช่วงหน้าแล้งมีน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ ขณะที่โครงการยังมีศักยภาพที่สามารถขยายผลเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์เพิ่มเติมได้ 

“โครงการที่มีอยู่แล้ว หากพัฒนาเพิ่มเติมได้ ก็อยากจะให้ดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก  ถ้าพัฒนาแหล่งน้ำเดิม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนได้มากยิ่งขึ้น ก็น่าจะสามารถทำได้ทันที” เลขาธิการ กปร.กล่าว

ขณะที่นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในระยะเร่งด่วน ขณะนี้จะแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ เศษวัชพืชที่ลอยมาติดสะสมตามจุดคอขวดต่างๆ  เพื่อการระบายน้ำที่รวดเร็ว ส่วนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง ต้องรอให้น้ำในแม่น้ำโขงลดระดับลง จึงจะระบายน้ำที่ท่วมขังลงสู่แม่น้ำโขงต่อไปได้ ซึ่งถึงตอนนั้นจะเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด” นายชูชาติ รักจิตร กล่าว