'มธ.' ดันนวัตกรรม 'เตียงพลิกตัว' เข้าระบบประกันสุขภาพ ดูแลผู้ป่วยติดเตียง
"นักวิชาการคณะพยาบาล มธ." ชูนวัตกรรม เตียงพลิกตัวอัตโนมัติป้องกันแผลกดทับ ลดภาระผู้ดูแล เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยติดเตียง เตรียมผลักดันเข้าระบบประกันสุขภาพ
รศ.ดร.จิณพิชญ์ชา สาธิยมาส อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยถึงนวัตกรรมเพื่อสังคม คือ เตียงพลิกตัวอัตโนมัติป้องกันแผลกดทับ ซึ่งพัฒนาภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ผลงานวิจัยดังกล่าวมีจุดเด่นคือ สามารถควบคุมผ่านแอปพลิเคชั่นในแท็บเล็ต สามารถพลิกตะแคงตัวได้ตามองศาที่ต้องการเพื่อให้ผู้ป่วยติดเตียงได้เคลื่อนไหวร่างกาย โดยผลงานดังกล่าวสามารถรองรับน้ำหนัก ได้ 100 กิโลกรัม นอกจากนั้นแล้วในนวัตกรรมที่พัฒนายังมีระบบแจ้งเตือนการเกิดแผลกดทับ ผ่านเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งมาในเบาะนอน
รศ.ดร.จิณพิชญ์ชา เปิดเผยด้วยว่าเตียงยังมีฟังก์ชันบอกอุณหภูมิ เพื่อช่วยบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีไข้หรือไม่ และมีการติดตั้งระบบตรวจจับความชื้นแฉะของเตียงด้วย หากเตียงมีความชื้นซึ่งอาจเกิดจากการขับถ่าย เพื่อลดปัญหาการเกิดแผลอักเสบจากความชื้นและการติดเชื้อ ซึ่งการทำงานของระบบจะส่งสัญญาณเตือนผู้ดูแลผ่านแทบเล็ตได้ทันที
"ปัจจุบันมีการนำนวัตกรรมธรรมศาสตร์ชิ้นนี้ไปใช้แล้วกับผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 250 เคส ในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และ ชุมชนใน จ.ปทุมธานี รวมถึงมีการนำไปใช้ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติด้วย และภาคเอกชน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลายแห่งทั่วประเทศ ได้ประสานติดต่อมาเพื่อขอนำนวัตกรรมนี้ไปใช้งานด้วย ซึ่งถือเป็นการส่งมอบนวัตกรรมไปรับใช้สังคมได้ตามวัตถุประสงค์ สำหรับนวัตกรรมชิ้นนี้ ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 40,000-50,000 บาท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันและขับเคลื่อนให้นวัตกรรมนี้ไปใช้ประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"รศ.ดร.จิณพิชญ์ชา กล่าว