'ทางหลวงชนบท' เดินหน้ายกระดับระบบคมนาคม เพิ่มโอกาสเติบโตเศรษฐกิจไทย
กรมทางหลวงชนบท พร้อมเดินหน้าสานต่อภารกิจสร้างถนนและสะพาน พัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้สมบูรณ์ ยกระดับการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจที่ดีให้กับประเทศ ภายใต้นโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ตอกย้ำทิศทาง“เติบโต อย่างยั่งยืน” 22 ปี
วันนี้ (9 ต.ค.)นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวงชนบท (ทช.) ครบรอบ 22 ปี วันที่ 9 ตุลาคม 2567 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม โดยมีนายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท และคณะผู้บริหารกรมทางหลวงชนบทให้การต้อนรับ ซึ่งภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ พิธีทำบุญตักบาตร พิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีมอบโล่แก่ข้าราชการดีเด่น ข้าราชการผู้ทรงคุณค่าขององค์กร เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญ และกำลังใจให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานดีเด่น รวมทั้งได้มอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรของบุคลากรกรมทางหลวงชนบท
พร้อมมอบแนวทางในการดำเนินงาน ซึ่งโดยตลอดทั้งวันได้มีการจัดนิทรรศการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ (KM) ภายใต้แนวคิด “สร้าง ซ่อม ส่งเสริม พัฒนา” เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานตลอดปีที่ผ่านมาของกรมทางหลวงชนบท อาทิ สำนักในส่วนกลาง สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 1 - 18 และแขวงทางหลวงชนบททั่วประเทศ ณ กรมทางหลวงชนบท บางเขน กรุงเทพฯ
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการสร้างระบบการคมนาคมขนส่งให้มีมาตรฐาน และสร้างโอกาสในการเดินทางให้กับคนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง เท่าเทียม พร้อมทั้งสามารถเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การค้า การท่องเที่ยว การลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นประตู และเป็นศูนย์กลางในการเดินทางของภูมิภาค ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย เพื่อความอุดมสุขของประชาชน พร้อมทั้งได้กล่าวชื่นชมในการเติบโตของกรมทางหลวงชนบท ตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ที่ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการต่าง ๆ เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการเดินทางของประชาชนที่สะดวก รวดเร็ว แบ่งเบาการจราจรบนถนนสายหลัก ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต
รวมทั้งได้มอบแนวทางการดำเนินงานในการเดินหน้าสานต่อภารกิจก่อสร้างถนนและสะพาน เชื่อมระหว่างถนนสายหลักกับถนนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนเดินทางจากต้นทางไปสู่ปลายทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย พร้อมเน้นย้ำให้เตรียมความพร้อมในการรับมือ ตรวจสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ และวางแผนป้องกันสถานการณ์อุทกภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ตลอดปี 2567 ทช. ได้ดำเนินโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทางด้านการคมนาคมของประชาชนในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการคมนาคมระบบโลจิสติกส์ การส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก และการสนับสนุนเส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว อาทิ โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.1020 - บ้านกิ่วแก้ว อ.เทิง, จุน จ.เชียงราย, พะเยา งบประมาณ 1,199 ล้านบาท,
โครงการก่อสร้างขยายถนนชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี งบประมาณ 902 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.3452 – สี่แยกบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ตอนที่ 1 งบประมาณ 899.999 ล้านบาท และตอนที่ 2 งบประมาณ 900 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนสาย มห.3019 แยก ทล.212 – บ้านบางทรายใหญ่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร งบประมาณ 804.159 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนสาย นย.3007 แยก ทล.305 – บ้านคลอง 33 อ.องครักษ์ จ.นครนายก งบประมาณ 716.350 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างสะพานข้ามคลองตำมะลัง อ.เมือง จ.สตูล งบประมาณ 433.190 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนสาย พร.4001 แยก ทล.1022 – บ้านกลาง อ.เมือง จ.แพร่ งบประมาณ 126.100 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.118 – บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 1) อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย งบประมาณ 84.090 ล้านบาท
นายมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทช. พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล และกระทรวงคมนาคมในการส่งเสริมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมุ่งดำเนินโครงการก่อสร้างสายทางเพื่อสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวให้ประชาชนเดินทางด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย อาทิ โครงการก่อสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย - ลาว (แห่งที่ 2) - พระธาตุพนม อ.เมือง, ธาตุพนม จ.มุกดาหาร, นครพนม งบประมาณ 615 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างถนนท่องเที่ยวตะนาวศรีคีรีพัฒน์ ช่วงสามแยกถนนชัยพัฒนาตัดกับ ทล.3218 - ทล.4 อ.หัวหิน, ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ งบประมาณ 700 ล้านบาท และช่วงบ้านเขาบันได - บ้านพุน้ำร้อน อ.หนองหญ้าปล้อง, เขาย้อย จ.เพชรบุรี งบประมาณ 720 ล้านบาท ทั้งนี้ ทช. พร้อมที่จะต่อยอดการพัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวต่อไป เพื่อมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจที่ดีให้กับประเทศ สร้างโอกาสในการเข้าถึงเส้นทางการคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
สำหรับในช่วงสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ ทช. เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ในทุกมิติ ทั้งมิติด้านเครื่องมืออุปกรณ์ และมิติกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งให้เร่งฟื้นฟูสายทางที่ประสบเหตุอุทกภัยอย่างเร่งด่วน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้สัญจรได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ได้เตรียมแผนเผชิญเหตุในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยสั่งการไปยังสำนักงานทางหลวงชนบท และแขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ดำเนินการจัดเตรียมถุงทรายสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบสายทางที่ประสบเหตุอุทกภัย เพื่อแก้ไขปรับปรุง และหาแนวทางป้องกันในปีต่อไป รวมทั้งเตรียมการสำรวจสะพานในพื้นที่เสี่ยงกับการเกิดเหตุอุทกภัย เพื่อดำเนินการวางแผน หากมีความจำเป็นต้องยกสะพานให้สูงขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวในอนาคต
อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบท พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ในการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง พัฒนาระบบการให้บริการที่สร้างโอกาส และการเข้าถึงให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตามนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย”