ศปช.เตือนภาคใต้ระวังฝนตกหนัก-ดินถล่ม ชี้ พายุกระทบไทย 13-14 ต.ค. ข่าวปลอม
ศปช. ลดระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เตือน ภาคใต้ระวังฝนตกหนัก-ดินถล่ม หลายพื้นที่ โต้ข่าวปลอมพายุกระทบไทย 13 – 14 ต.ค. นี้
12 ตุลาคม 2567 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนและจำนวนน้ำที่ไหลผ่านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา สถานี C.2 นครสวรรค์ 2,225 ลบ.ม./วินาที และการระบายน้ำ 2,002 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มดีขึ้น ที่ประชุม ศปช. วันนี้ (12 ต.ค. 67) จึงปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลง เหลือ 1,950 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับ สถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า และสมดุลกับสถานการณ์น้ำหนุนในช่วงวันที่ 13 – 24 ต.ค. นี้
“จากการปรับการระบายน้ำดังกล่าว เหลือ 1,950 ลบ.ม./วินาที ในวันนี้ จะส่งผลดีต่อพื้นที่ วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี , อ.เมือง , อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี และ วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง”
นายจิรายุกล่าวต่อว่า ในช่วงนี้มีร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มได้
“ขอแจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่มในพื้นที่ลาดชัน โดยเฉพาะที่ เวียงสระ พระแสง บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี , ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช , เบตง ธารโต จ.ยะลา รวมทั้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วง 13 - 17 ต.ค.นี้ ยังต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันน้ำล้นตลิ่งและบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทันบริเวณ จ.กาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมทั้งติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนล่วงหน้าของหน่วยงานราชการแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงด้วย”
นายจิรายุ ชี้แจงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ได้มีข้อมูลว่า จะมีโอกาสพายุเข้าประเทศเวียดนามระหว่างวันที่ 13 - 14 ต.ค.นี้ ประเทศไทยจึงต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด “ได้ตรวจสอบข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงและไม่ได้มาจากแหล่งข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา อาจเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและจากการตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่องยังไม่มีสัญญาณการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนใกล้บริเวณประเทศไทยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข่าวปลอมได้ที่เพจกรมประชาสัมพันธ์ หรือ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย Anti-Fake News Center Thailand”
นายจิรายุกล่าวต่อไปว่า สำหรับความคืบหน้าแผนฟื้นฟูที่ จ.เชียงราย มีความคืบหน้าอย่างมาก เมื่อช่วงค่ำของคืนวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ในฐานะประธาน ศปช.ส่วนหน้า จ.เชียงราย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม Big Cleaning ล้างฝุ่นบนถนน (พหลโยธิน) หน้าด่านพรมแดนแม่สาย เพื่อสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้ชาวแม่สาย ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งที่ได้มาติดตาม การฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลังเหตุการณ์อุทกภัย โดยทุกภาคส่วนขานรับดำเนินการเพื่อให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ อ.แม่สาย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและบ้านเรือนกลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการฟื้นฟูในพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย เป้าหมาย 1,367 ครัวเรือน ดำเนินการแล้ว 1,315 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการ 52 ครัวเรือน คิดเป็นความคืบหน้า 96% และการดำเนินการฟื้นฟูในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เฟส 2 กิจกรรมการฟื้นฟูล้างทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน ได้รับผลกระทบ 819 ครัวเรือน ช่วยเหลือแล้ว 598 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการ 221 ครัวเรือนคิดเป็น 73% นายจิรายุกล่าว
นายจิรายุ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่พิษณุโลก โดยมอบหมายภารกิจให้ กนช. ดำเนินการ 3 ประเด็น ดังนี้ 1.ขอให้ กนช. ควรมีการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำทุกวันให้บ่อยขึ้น มีข้อมูลที่แม่นยำ และบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเตรียมพร้อมรองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงต้องไม่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก 2.การเตรียมตัวรับมือกับปัญหาภัยเเล้ง ที่จะเกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ในประเทศไทย หลังจากสิ้นเดือน ต.ค.นี้ โดยเฉพาะการกักเก็บน้ำในเขื่อนให้เพียงพอสำหรับฤดูแล้งที่จะถึงนี้ โดยมีความกังวลว่าหากเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง จะสามารถประคับประคองสถานการณ์น้ำหรือปริมาณน้ำดังกล่าวให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปีให้กับพี่น้องประชาชนในช่วงหน้าแล้งได้หรือไม่ และ 3.การแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะกลาง- ระยะยาว โดยเฉพาะการป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือปีหน้า และปีต่อไป ขอให้นำแผนต่าง ๆ ที่ได้มีการหารือ กลับมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนว่าโครงการใดที่ควรดำเนินการทันที ภายใต้การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดให้มากที่สุด
“รองนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการที่จะพิจารณาให้นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูลเรื่องน้ำของประเทศ เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจของฝ่ายบริหารสำหรับการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”