‘สมศักดิ์’ ชู 3นโยบาย อนาคตสาธารณสุขไทย ลดป่วยNCDs-จัดการงบ-ยกระดับอสม.

‘สมศักดิ์’ ชู 3นโยบาย อนาคตสาธารณสุขไทย ลดป่วยNCDs-จัดการงบ-ยกระดับอสม.

“สมศักดิ์” บรรยายอนาคตระบบสาธารณสุขไทย ชู 3 นโยบายสำคัญ “ลดป่วย NCDs -บริหารจัดการงบประมาณที่จำกัด-สร้างความเข้มแข็งบุคลากรทางการแพทย์ อสม.” เชื่อ เป็นการพลิกโฉมระบบที่มั่นคง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้บรรยายพิเศษหัวข้อ “อนาคตระบบสาธารณสุขไทย”ในงานประชุมวิชาการสถาบันมหิตลาธิเบศร-ปธพ.X-ปนพ.1 โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า พลอากาศเอก นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กรรมการแพทยสภา นักศึกษาหลักสูตร ปนพ.รุ่นที่ 1 ปธพ.X และ ปธพ.ทุกรุ่น เข้าร่วม ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำทางการแพทย์ รุ่นที่ 1 ปนพ. 1 และหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง หรือ ปธพ. X ที่สำเร็จการศึกษา และเข้ารับใบประกาศและเข็มเกียรติคุณในวันนี้ รวมถึงถือเป็นเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับตนที่ได้มาบรรยายพิเศษให้กับทุกคน ในหัวข้อ"อนาคตระบบสาธารณสุขไทย" ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีสถานพยาบาลในสังกัด จำนวน 6,092 แห่ง ทำงานร่วมกับสถานพยาบาลนอกสังกัด กว่า 5,000 แห่ง เช่น รพ. โรงเรียนแพทย์ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไปยังท้องถิ่น และมีบุคลากรกระทรวงสาธารสุข ทุกประเภท 389,837 อัตรา ส่วนงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ย้อนหลัง 10 ปี พบว่า เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2568 กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 340,000 ล้านบาท คิดเป็น 9.09 % ของงบประมาณภาพรวมของประเทศ

‘สมศักดิ์’ ชู 3นโยบาย อนาคตสาธารณสุขไทย ลดป่วยNCDs-จัดการงบ-ยกระดับอสม.

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในขณะเดียวกัน ประชาชน มีปัญหาสุขภาพที่รุมเร้า โดยเฉพาะจำนวนผู้ป่วยโรค NCDs ที่เพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ มีผู้ป่วย เบาหวาน 6.5 ล้านคน ความดัน 14 ล้านคน โรคไตทุกระยะ ประมาณ 1 ล้านคน มะเร็งรายใหม่ 1.4 แสนคน ต่อปี และมีปัญหาสุขภาพจิต สูงถึง 10 ล้านคน ซึ่งปี 2562 มีงานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ WHO บ่งชี้ว่า คนไทยเสียชีวิต เพราะ NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย และสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจ กว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาลทางตรง จำนวน 139,000 ล้านบาท และความสูญเสียทางอ้อม จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ตนจึงได้กำหนด 7 นโยบายสำคัญ สำหรับปี 2568 ภายใต้เป้าหมาย"ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง” โดยวันนี้ จะขอโฟกัส 3 เรื่อง คือ 1. NCDS 2. การบริหารจัดการงบประมาณที่จำกัด และ 3. การสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายบุคลากรสุขภาพและ อสม.

“อย่างที่ผมได้เกริ่นไปว่า NCDs ถือเป็นภาระหนักของงานสาธารณสุข เพราะงบประมาณจำนวน 127,651 ล้านบาท ของ สปสช. ในปี 2560 เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษา โรค NCDs สูงถึงกว่า 62,138 ล้านบาท ซึ่งเมื่อลองมองลึกขึ้น เช่น โรคไต โรคไตเรื้อรัง จากรายงานกรมควบคุมโรค พบว่า ในปี 2566 พบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 1,062,756 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากถึง 85,064 คน หากดูงบ สปสช.ที่จัดสรรเฉพาะให้กับโรคไตย้อนหลัง 5 ปีนั้น พบว่า เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีงบละ 946 ล้านบาท จากปีงบประมาณ 64-68 เพิ่มสูงขึ้นถึง 38.96% ดังนั้น เพื่ออนาคตของระบบสาธารณสุขไทยที่ยั่งยืน ผมจึงผลักดันนโยบาย เช่น 1. โรงเรียนเบาหวานวิทยา นับคาร์บ ลดไขมัน เพิ่มโปรตีน 2. กระเป๋าอสม. กับการรณรงค์ ลดผู้ป่วย NCDs 3. การใช้สมุนไพรไทย กินเป็นไม่ป่วย 4. การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ที่ดีขึ้น (4 เป็น 9 สายพันธุ์) 5. มีแนวคิดที่จะกำหนดให้ NCDs เป็นวาระแห่งชาติ 6. แคมเปญ "สุขภาพดี ภาษีมีลด" ซึ่งได้พูดคุยกับกระทรวงการคลังเบื้องต้นแล้ว” รมว.สาธารณสุข กล่าว 

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณสุข เพราะ Pain point สำคัญที่ตนพบเจอมากที่สุดในฐานะ รมต. และ ส.ส.หลายสมัย คือเรื่อง งบลงทุนที่ไม่เพียงพอ โดยในปีงบ 68 กระทรวงสาธารณสุข ขอไปเกือบๆ 100,000 ล้านบาท แต่ได้รับเพียง 12,000 ล้านบาท ตนจึงได้มีแนวคิด เรื่องการจัดแหล่งงบประมาณอื่น เพื่อการลงทุนพัฒนาระบบสุขภาพ แบ่งคร่าวๆ เป็น 8 หมวด ได้แก่ งบประมาณประจำปี เงินบำรุง เงินกู้ต่างประเทศ เงินบริจาค ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ เช่าบริการรายเดือน / ปี งบกองสลาก และ เอกชนร่วมลงทุน โดยแต่ละหมวดก็จะมีหลักเกณฑ์ แนวทางการบริหารให้มีความเหมาะสมตามบริบทและศักยภาพของพื้นที่ เช่น หากให้เอกชนร่วมลงทุน ต้องดูความคุ้มค่า เช่น การสร้างอาคารจอดรถ แต่ถ้าเป็นในพื้นที่ห่างไกล ก็ให้ใช้งบประมาณประจำปี งบกองสลาก เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วน 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องสุดท้าย ที่ตนจะพูดในวันนี้ คือ การสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายบุคลากร สุขภาพ และ อสม. โดยบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวนสูงถึงเกือบ 400,000 คน ทำงานดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ แต่ปัจจุบัน อัตรากำลังที่โรงพยาบาล การกำหนดตำแหน่ง และอัตราความก้าวหน้า ไม่สอดคล้องกับบริบท และ dynamic ของการให้บริหารสุขภาพ ตนจึงได้เร่งรัดให้จัดทำ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข และไม่เพียงแต่ บุคลากรสาธารณสุขเท่านั้น อสม. ก็เช่นกัน โดยอสม. กว่า 1 ล้านคน คือหัวใจของภาคีเครือข่ายของสาธารณสุข ดังนั้น เพื่อสร้างความก้าวหน้า มั่นคง ยั่งยืน และกำลังใจ ให้กับอสม. จึงได้เร่งรัดการออก พ.ร.บ.อสม. ด้วยเช่นกัน โดยทั้งหมดนี้ เป็นการพลิกโฉมอนาคตระบบสาธารณสุข นำไปสู่ก้าวต่อไปของประเทศ ภายใต้เป้าหมาย“ยกระดับการสาธารณสุขไทย สุขภาพแข็งแรงทุกวัย เศรษฐกิจสุขภาพไทยมั่นคง” ให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด และสร้างอนาคตที่มั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขไทย