โฆษณาเกินจริง ระวังโทษปรับ-จำคุก แพทยสภา ย้ำ Stem Cell รักษาโรคเลือด โรคทางดวงตา

โฆษณาเกินจริง ระวังโทษปรับ-จำคุก แพทยสภา ย้ำ Stem Cell รักษาโรคเลือด โรคทางดวงตา

โฆษณาเกินจริง ระวังโทษปรับ จำคุก แพทยสภา ย้ำชัด การใช้ Stem Cell รักษาได้แค่โรคเลือดและโรคทางดวงตา หากอวดอ้าง

วันนี้ (31 ต.ค. 67) แพทยสภา ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  จัดประชุมชวนหมอรู้ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ Stem Cell 

รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวกับ Stem Cell ว่า Stem Cell มีการใช้อย่างแพร่หลาย แพทยสภามีความห่วงใยและต้องการส่งเสริมให้มีการใช้เป็นวงกว้าง ภายใต้เงื่อนไขที่ใช้ในการรักษาโรค ซึ่งได้รับการยอมรับในมาตรฐานจากนานาชาติแล้วเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายหลอกลวงผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาในสิ่งที่ยังไม่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์ว่าได้ผลจริง

ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Stem Cell มีหน่วยงานหลักที่ดูแลอยู่ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภา โดยกฎหมายที่สำคัญและมีบทลงโทษรุนแรง ได้แก่ พรบ.สถาพยาบาล 2559 มีคำจำกัดความสั้น ๆ ว่า ห้ามโฆษณาโดยไม่ได้ขออนุญาต และห้ามโฆษณาเกินจริง ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน โอ้อวดหรือเป็นเท็จ หมายรวมถึงการใช้ Stem Cell ที่ผิดจากข้อบ่งชี้ที่กำหนด มีโทษปรับและจำคุกไม่เกิน 1 ปี ดังนั้น การโฆษณาที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงจะต้องระมัดระวัง

"มีกรณีที่ศาลตัดสินไปแล้วเรื่องการโฆษณาโอ้อวดเกินความเป็นจริงเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เรื่องการเสริมสวย ศาลตัดสินจำคุกทั้งแพทย์ เจ้าของกิจกรรม อินฟลูเอนเซอร์ โดยมองว่า เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงผู้ป่วย ในกรณีที่การโฆษณาดำเนินไปแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ อาจโดนโทษได้" รศ.(พิเศษ) นพ.เมธี กล่าวและว่า 

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานการให้บริการด้านเซลล์ทางการแพทย์ของสถานพยาบาลเฉพาะกรณีการใช้เซลล์เพื่อการบำบัดรักษา พ.ศ.2565 ในประกาศฉบับนี้ไม่ใช่แค่ Stem Cell แต่ยังรวมถึงเซลล์ใดก็ตามที่ใช้กับมนุษย์ในทางการแพทย์ โดยมีข้อบ่งชี้เพียง 2 ข้อ

1. ว่าด้วยการรักษาเกี่ยวกับโลหิตวิทยา ซึ่งแพทยสภาให้การรับรอง

2. โรคอื่นใดเพิ่มเติมที่แพทยสภาหรือทันตแพทยสภา กำหนดว่าใช้ Stem Cell รักษาได้ 

ขณะนี้มีโรคเพียง 2 กลุ่มเท่านั้นที่ใช้ในการรักษา ได้แก่ โรคเลือดและโรคทางดวงตา ดังนั้น หากมีการอวดอ้างในการใช้ Stem Cell รักษาโรคอื่น เช่น ความสวยงาม โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ ทั้งหมดถือว่าผิดมาตรฐาน และผิดประกาศของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด

ส่วนผู้ที่จะใช้ Stem Cell ในการรักษาต้องมาขึ้นทะเบียนกับแพทยสภา และแล็ปก็ต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการควบคุมดูแล หากเกิดปัญหาในการรักษาต้องมีระบบส่งต่อผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับการรักษาเพิ่มเติม
 

นอกจากนี้ ยังมี พรบ.สุขภาพแห่งชาติ เป็นกฎหมายทางอ้อม เพื่อแจ้งข้อมูลให้ผู้ป่วยทราบอย่างละเอียดก่อนทำการรักษาด้วย Stem Cell หากแพทย์มีการรักษา แล้วผู้ป่วยมาทราบทีหลังถึงข้อเสียของการใช้ Stem Cell ที่แพทย์ไม่ได้พูดถึง ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย พรบ.ฉบับนี้ ซึ่งมีแพทย์โดนฟ้องด้วยมาตรา 8 หลายกรณีแล้ว อีกกรณีที่ต้องระวัง หากต้องการใช้ Stem Cell ในการรักษาที่นอกเหนือจากข้อบ่งชี้ จะถือว่าเป็นการทดลองและวิจัย ไม่มีสิทธิเก็บเงินผู้ป่วย ดังนั้น ถ้ามีการใช้ที่นอกเหนือจากประกาศของแพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุข จะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 9 คือ การนำผู้ป่วยเข้าทดลองวิจัยโดยไม่ได้แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องและยังมีการเรียกเก็บเงิน ซึ่งต้องระวังในเรื่องการฟ้องร้อง 

สำหรับกฎหมายอื่น ๆ ที่ต้องระวัง เช่น พรบ.วิชาชีพเวชกรรม 2525 ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม 2565 โดยเฉพาะประกาศ 39/2567 การโฆษณา เสริมสวย เสริมความงาม ถ้าทำผิดจะมีบทลงโทษตามประกาศของแพทยสภาฉบับใหม่ 

แพทย์ใช้ Stem Cell ได้เพียง โรคเลือด-โรคตา

ด้านแนวทางการดำเนินการของแพทยสภาเกี่ยวกับ Stem Cell  โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ประธานคณะอนุกรรมการเซลล์บำบัด แพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภามีหน้าที่คุ้มครอง กำกับรักษาที่ได้มาตรฐาน และคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชน ในวันนี้การใช้ Stem Cell ก็มีเรื่องการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือชื่อเดิม คือ การปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อรักษาโรคทางโลหิตวิทยา และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดรักษาผิวกระจกตาเสื่อมหรือบกพร่อง ที่เหลือยังอยู่ในโครงการวิจัยและไม่สามารถโฆษณาได้ 

ประเด็นที่แพทยสภาต้องการสื่อสาร ได้แก่
1. การใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรคตามที่แพทยสภารับรองเป็นวิธีมาตรฐาน คือ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (ชื่อเดิม การปลูกถ่ายไขกระดูก) เพื่อรักษาโรคทางโลหิตวิทยา และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดรักษาผิวกระจกตาเสื่อม/บกพร่อง

2. การใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรคให้หายขาดหรือสงบยาวนานได้ จะทำที่สถาบันการแพทย์ขนาดใหญ่เท่านั้น ขณะนี้ไม่สามารถทำที่คลินิก หรือสถานพยาบาลขนาดเล็กโดดเดี่ยวได้

3. การใช้เซลล์กำเนิดในการรักษาโรคอื่น ๆ นอกจากที่แพทยสภาได้รับรองแล้ว อาจจะอยู่ในโครงการวิจัยที่กำลังศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัย ยังไม่ถึงขั้นที่จำนำมาใช้ได้ทั่วไป 

4. ผู้ป่วยที่จะเข้าโครงการวิจัยในการใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรค จะต้องไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เซลล์ต้นกำเนิด

5. การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าร่างกายอาจจะเป็นเพียงแค่บรรเทาอาการเท่านั้น ไม่ได้รักษาโรคให้หายขาดได้ และอาการที่บรรเทานั้นอาจจะเกิดจากการดำเนินโรคที่เป็น ๆ หาย ๆ ได้เอง 

6. การฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าร่างกายมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย เช่น กลายเป็นเซลล์มะเร็ง ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดทำให้เกิดเนื้อตาย มีการติดเชื้อได้

7. หากยอมเสี่ยงใช้การรักษาโรคที่แพทยสภาไม่ได้รับรอง จะต้องยอมรับผลการรักษาที่เสี่ยงมากว่าจะไม่ได้ผลหรือไม่หายขาด และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา หรือจะยอมรับการรักษาแบบประคับประคองไปจนถึงเวลาที่แพทยสภารับรองว่า การใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรคนั้นได้ผลจริง

สบส.เร่งปราบปรามโฆษณา เล็งหารือกฎหมายควบคุม "เอเจนซี่"

ขณะที่ นายชาตรี พินใย ที่ปรึกษาอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เสริมว่า สบส. ทำหน้าที่สอดรับกับ แพทยสภา และอย. ในการดูแลข้อบังคับสำหรับสถานพยาบาล เกี่ยวกับ Stem Cell และเซลล์บำบัด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการด้านเซลล์ทางการแพทย์ของสถานพยาบาล เฉพาะกรณีการใช้เซลล์เพื่อการบำบัดรักษา พ.ศ.2565 มุ่งเน้นเรื่องมาตรฐานการให้บริการด้านเซลล์ทางการแพทย์ มีการควบคุมการติดเชื้อ ต้องอยู่ภายใต้สถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน

ส่วนผู้ที่ต้องการเปิดสถานบริการเพื่อให้บริการ Stem Cell ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในการให้บริการด้านเซลล์ทางการแพทย์ โดยต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

1.ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติของแพทยสภา กับทันตแพทยสภา หรือจากสถาบันที่แพทยสภาหรือทันตแพทยสภารับรองในสาขาหรืออนุสาขาที่เกี่ยวข้อง

2. ผ่านการอบรมหลักสูตรหรือมีความรู้ความชำนาญตามที่แพทยสภาหรือทันตแพทยสภารับรอง

ถ้าไม่ทำตามนี้จะต้องได้รับบทลงโทษตามที่แพทยสภาได้ออกประกาศมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ 

"สิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งปราบปรามที่สุด คือ การโฆษณา ผมต้องร่วมกับไซเบอร์แพทยสภาและ สบส. จัดการระบบพวกนี้ การหลอกลวงทางโฆษณาทางโซเชียลเยอะมาก จึงต้องร่วมมือจัดการเรื่องโฆษณาให้จบ แล้วจัดการเรื่องเอเจนซี่ ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายไปควบคุม ถ้าตกผลึกกับทางแพทยสภาเรียบร้อยแล้ว มาตรการต่อไปจะเตรียมแผนปราบปรามครั้งใหญ่อีกครั้งแน่นอน" นายชาตรี กล่าว