‘มนพร’ เปิดท่าเรืออัจฉริยะ ‘พระราม7’ เชื่อมเมืองแหล่งท่องเที่ยว

‘มนพร’ เปิดท่าเรืออัจฉริยะ ‘พระราม7’ เชื่อมเมืองแหล่งท่องเที่ยว

“มนพร” รมช.คมนาคม พร้อมคณะเปิดท่าเรือพระราม 7 ท่าเรือยุคใหม่ ผลักดันท่าเรือโดยสารอัจฉริยะ เปิดแผนพัฒนาท่าเรืออีก 29 แห่ง

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2568  นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือพระราม 7 ว่า ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า (จท.) พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตลอดจนเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น พร้อมส่งเสริมการเดินทางทางน้ำและการท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา สู่ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier ) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายใต้นโยบาย “คมนาคม เพื่อโอกาสประเทศไทย” และ “ราชรถยิ้ม” เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ด้วยการเชื่อมโยงโครงข่าย “ล้อ - ราง - เรือ” อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยทั้งประเทศ

นางมนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่าเรือพระราม 7 เป็น 1 ในท่าเรือที่ได้รับการยกระดับให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier ) เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่เมืองและแหล่งท่องเที่ยว โดยเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง จท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยพื้นที่ใช้สอย 700 ตารางเมตร มีโป๊ะเทียบเรือขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ ระบบวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองคนมีไข้ก่อนเข้าพื้นที่ และ AI จดจำใบหน้า กล้องวงจรปิด ระบบแจ้งเตือนการรับน้ำหนักโป๊ะเทียบเรือ ระบบแสงไฟอัจฉริยะ ทางลาดและห้องน้ำผู้พิการ รวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานหมุนเวียน ระบบไฟอัจฉริยะที่เปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา และสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charger) ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2570 จะมีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางด้วยระบบสาธารณะทางน้ำเฉลี่ย 53,000 คนต่อวัน ซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 280,230 ตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

‘มนพร’ เปิดท่าเรืออัจฉริยะ ‘พระราม7’ เชื่อมเมืองแหล่งท่องเที่ยว

‘มนพร’ เปิดท่าเรืออัจฉริยะ ‘พระราม7’ เชื่อมเมืองแหล่งท่องเที่ยว

ด้านนายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า จท. มีแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 29 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 12 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า สะพานพุทธ นนทบุรี  สาทร ท่าช้าง ท่าเตียน ราชินี พายัพ บางโพ พระราม 5 พระปิ่นเกล้า พระราม 7 อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือปากเกร็ด มีความคืบหน้า 68% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค. 2568 และท่าเรือเกียกกาย (กทม. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง) และได้รับจัดสรรงบประมาณ ปี 2568 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือเทเวศร์ และโอเรียนเต็ล ดำเนินการของบประมาณปี 2569 จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือราชวงศ์ สี่พระยา พรานนก ซังฮี้ ท่ารถไฟ วัดตึก วัดสร้อยทอง วัดเขมา เขียวไข่กา พิบูลย์สงคราม 1 วัดเทพนารี วัดเทพากร และพิบูลย์สงคราม 2  

ทั้งนี้ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือพระราม 7 โดยมีนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายประภูศักดิ์ จินตะเวช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม นายอำเภอบางกรวย นายกเทศมนตรีอำเภอบางกรวย สมาคมเรือไทย สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางกรวย รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมพิธีฯ ในวันที่ 4 เมษายน 2568 ณ ท่าเรือพระราม 7 อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
 

‘มนพร’ เปิดท่าเรืออัจฉริยะ ‘พระราม7’ เชื่อมเมืองแหล่งท่องเที่ยว