‘รองโฆษก สธ.’ เตือน 7วันอันตราย ระวังติดเชื้อHIV กลุ่มเสี่ยงรับยาฟรี

‘รองโฆษก สธ.’ เตือน 7วันอันตราย ระวังติดเชื้อHIV กลุ่มเสี่ยงรับยาฟรี

“จิรพงษ์” เตือน เมาแอลกอฮอล์ช่วงสงกรานต์ เสี่ยงมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน อาจติดเชื้อ HIV เผย บางคนไม่รู้ตัวติดเชื้อ จึงถ่ายทอดเชื้อไปยังคู่นอน แนะ หากสุ่มเสี่ยงรับยากินฟรี ภายใน 3 วัน

นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นอกจาก 7 วันอันตรายในเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้วนั้น ในช่วงสงกรานต์นี้ ได้มีการจัดงานรื่นเริงปาร์ตี้ในสถานที่ต่างๆ ทำให้ประชาชนดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้คนหลากหลายกลุ่มวัยไม่ว่าจะเป็นชายหญิง หรือกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจจะมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือไม่สวมถุงยางอนามัย ทำให้มีโอกาสการติดเชื้อ HIV ได้ง่าย โดยสถานการณ์ปัจจุบัน มีผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง คาดว่าผู้ติดเชื้อ HIV ยังไม่ทราบสถานะติดเชื้อของตนเองและยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาทำให้คนเหล่านี้ถ่ายทอดเชื้อไปยังคู่นอนต่อไป 

"ในปี 2568 คาดว่า จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 8,862 คน โดยการติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายมากกว่า 60% มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์จำนวน 10,217 คน และมีผู้ติดเชื้อ HIV สะสมยังคงมีชีวิตอยู่จำนวน 568,565 คน ผมในฐานะอนุกรรมการในคณะกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ จากการประชุมที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่ง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการ ได้อนุมัติจัดซื้อยาป้องกันโรค HIV ก่อนเสี่ยงและหลังจากเกิดความเสี่ยงให้กับประชาชนฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น โดยผู้ที่ได้รับความเสี่ยงจะต้องไปรับยา PEP Post-Exposure Prophylaxis โดยจะต้องเริ่มรับประทานยาภายใน 72 ชั่วโมงหรือ 3 วันหลังมีความเสี่ยงและรับประทานติดต่อกันนาน 28 วันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV และประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อสามารถรับยา PrEP Pre-Exposure Prophylaxis เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ HIV ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะมีรายละเอียดในเรื่องของวิธีการใช้ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 689 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2568" นายจิรพงษ์ กล่าว

นายจิรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในการป้องกันการติดเชื้อ HIV ประชาชนสามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีการขยายความร่วมมือจัดบริการกับหน่วยบริการภาคประชาสังคม ได้แก่ Mplus เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก โคราช CareMet เชียงใหม่ SWING ชลบุรี RSAT อุบลราชธานี สงขลา มากไปกว่านั้นขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม ได้เจรจาตกลงที่จะขอซื้อยารักษาโรค HIV ชนิดใหม่ที่ออกฤทธิ์นาน มีทั่งรูปแบบฉีดและยารับประทาน จาก บริษัท Mylan สำหรับยาต้าน HIV Lenacapavir ให้กับผู้ป่วย HIV เมื่อการดำเนินการผลิตที่ประเทศอินเดียแล้วเสร็จ เพื่อให้ผู้ป่วย HIVและเอดส์ ที่ดื้อยา และลดเวลาการที่จะต้องทานยาทุกวัน