บินท้าแรง G กับสุดยอดนักบินผาดแผลงแห่งน่านฟ้าไทย
“ระหว่างที่ทำการบินผมจะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้อย่างเด็ดขาด หาไม่แล้วอันตรายมันจะเกิดขึ้นกับตัวเราทันที"
“ครูเหยี่ยว” น.ท.วชิรากรณ์ จิ่นจันทร์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยหลักการการบินของเขา เขาคนนี้เป็นทั้งครูการบิน นักบินอิสระ ที่ปรึกษาโรงเรียนการบินเอกชนต่างๆ และบทบาทที่วงการการบินรู้จักดีก็คือ ‘นักบินผาดแผลง’
จากประโยคข้างต้นครูเหยี่ยวขยายความให้ฟังเพิ่มว่า คติประจำตัวที่ครูยึดถืออยู่เสมอคือ ‘กล้าหาญแต่ไม่ห้าวหาญ’ เพราะความกล้าคือการที่เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร ขีดความสามารถของเราอยู่ที่ตรงไหน ปฏิบัติทุกอย่างด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง มีความละเอียด รอบคอบ ซึ่งต่างจากการห้าวหาญ เนื่องจากความห้าวหาญคือการเสี่ยงทำอะไรที่ตัวเองอาจไม่สามารถควบคุมได้ และโดยเฉพาะระหว่างการแสดงการบินอยู่เหนือพื้นดินเพียงไม่กี่เมตรที่ความเร็วกว่า 220 นอต หรือประมาณ 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นแม้แต่นิดเดียวนั่นอาจหมายถึง ‘ความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงในที่สุด’
เส้นทางการเป็นนักบินผาดแผลงที่ทุกคนยกให้เขาเป็นมืออันดับต้นๆ ของวงการนั้นมาจาก ‘ความฝันวัยเด็ก’
ย้อนกลับไปที่อำเภอบึงกาฬ (ปัจจุบันคือจังหวัดบึงกาฬ) ในช่วงปี พ.ศ. 2509 ซึ่งเป็นช่วงปลายสงครามเวียดนาม เด็กผู้ชายคนหนึ่งและเด็กอีกหลายๆ คนในละแวกนั้นเติบโตขึ้นมาโดยเห็นภาพเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐฯ ที่วิ่งขึ้นจากฐานบินจังหวัดอุดรธานีไปยังเป้าหมายที่อยู่ที่เวียตนามเหนือผ่านท้องฟ้าไปมาอยู่เสมอ แม้จะไม่บ่อยครั้งมากนัก แต่เครื่องบินเหล่านี้นี่แหละค่อยๆ บ่มเพาะความฝันให้พวกเขาบางคนอยากเป็น ‘ทหาร’
...แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถเป็นได้...
คนล่าฝันสู่การบินผาดแผลง
ด้วยความฝันที่อยากเป็นทหารทำให้เด็กผู้ชายคนนั้นมุ่งเข้าสู่กรุงเทพฯ เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ และโรงเรียนบดินทรเดชา เพื่อเตรียมตัวสอบเข้าสู่ ‘โรงเรียนเตรียมทหาร’ ในลำดับต่อไป
แม้ผลการเรียนในระหว่างที่ศึกษาอยู่โรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายเรืออากาศจะไม่ได้โดดเด่นมากนัก แต่เขาก็ได้รับการคัดเลือกเพื่อไปศึกษาต่อที่โรงเรียนการบินกองทัพอากาศ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยเป็นศิษย์การบินรุ่นที่ 87-33-1 เขาจบด้วยผลการฝึกบินเป็นอันดับตั้นๆ ของรุ่น จนได้รับคัดเลือกให้เป็นนักบินขับไล่สมรรถนะสูงในเวลาต่อมา
“จากการที่เราเป็นศิษย์การบินแล้วก็ได้รับคัดเลือกเพื่อไปขับ F5 หรือเครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียงนี่แหละ ต้องบอกเลยว่ามันไม่ได้ง่ายเหมือนในหนังที่เห็นตอนเด็กๆ นะ เราต้องรู้ทุกอย่างของเครื่องบินจริงๆ ที่สำคัญร่างกายและจิตใจต้องพร้อมอยู่เสมอ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้เลย จากนั้นเราก็มีหน้าที่การงานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นครูการบินฝูงบิน 101 กองบิน 1 จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทำหน้าที่ฝึกนักบินขับไล่ให้กับกองทัพอากาศ รับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ จนกระทั่งเป็นผู้บังคับฝูงฝึกขั้นปลาย โรงเรียนการบิน กำพงแสน ประจวบกับระหว่างนั้นก็ได้รับมอบหมายให้โชว์การบินผาดแผลงบ้าง”
กล้าหาญแต่ไม่ห้าวหาญ
ถ้าเปรียบเทียบการบินผาดแผลงให้เข้าใจง่ายๆ ครูเหยี่ยวบอกว่าเหมือนการเล่านิทานผสมกับการแสดงยิมนาสติกที่ต้องมีท่าเริ่มต้น การแสดงท่าสำคัญในช่วงกลาง และท่าจบ ในระยะเวลาประมาณ 15 นาทีต่อเที่ยวบิน
แต่ละท่าทางการบินสื่อให้ผู้ชมดูด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น ท่าบินที่แสดงถึงทักษะชั้นยอดในการบังคับเครื่องบิน บางท่าบินแสดงให้เห็นความตื่นเต้นน่าหวาดเสียวซึ่งเป็นเรื่องปกติของการบินผาดแผลง บางท่าบินแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะชั้นยอดของเครื่องบินและพละกำลังของเครื่องยนต์ ตลอดจนท่าบินที่แสดงให้เห็นถึงความสุดขั้วของความแข็งแรงที่มีอยู่ในร่างกายนักบิน เป็นต้น
โดยปกติแล้วมักจะเริ่มแสดงด้วยท่าที่ตื่นเต้นมากๆ ท่าหนึ่งก่อน เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจของผู้ชมเป็นอันดับแรก จากนั้นก็จะเป็นท่าทางการบินที่ไม่ยากเกินไปนักเพื่อเป็นการจัดตำแหน่งการบินและความเร็วของเครื่องบินให้เหมาะสมกับตำแหน่งของผู้ชมที่อยู่เบื้องล่าง และเป็นการเตรียมร่างกายไว้ให้พร้อมสำหรับการแสดงท่าบินที่ยากขึ้น มีความสลับซับซ้อนและความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงกลาง จนกระทั่งเข้าสู่การแสดงท่าบินสุดท้ายที่เป็นท่าบินยากมากๆ ท่าหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นท่าบินที่เป็นสัญลักษณ์ของนักบิน จากนั้นก็จะเป็นการบินทักทายผู้ชม ซึ่งมักจะไม่ใช่ท่าบินธรรมดา อย่างไรก็ตาม การแสดงนั้น หากพบว่าความสูงและความเร็วในแต่ละตำแหน่งไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็ต้องปรับแต่งและแก้ไขไปตามสถานการณ์ในท่าบินอื่นก่อน ต้องไม่มีการฝืนทำต่อไป เพราะนั่นหมายถึงเรากำลังนำตัวเองเข้าสู่สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ และอาจเกิดอุบัติเหตุได้ในที่สุด
‘ESPER’: Extra Sensory Perception +ER(suffix) หรือ ‘ผู้เหนือมนุษย์’
เสน่ห์ของการบินผาดแผลงที่ครูเหยี่ยวหลงใหลคือ “ท่ายากของการบิน” เพราะตัวเขาเป็นคนชอบความท้าทาย อาทิ การทำท่า Outside loop ซึ่งถ้าเป็นยิมนาสติกอาจเรียกว่า ‘ลังกาหน้า’ ที่เขาสามารถทำได้เพียงคนเดียวในประเทศไทย เนื่องจากท่านี้ถือว่าเป็นสุดยอดท่าบินท่าหนึ่ง ที่มีทั้งความสวยงามและความอันตรายอยู่ในตัว เพราะต้องบินในสภาพสุดขั้วเกินกว่านักบินผาดแผลงทั่วไปที่จะทนทานได้ (-4 ถึง -5 G) ซึ่งมีสภาพเหมือนตอนที่เราห้อยหัวเอาขาพาดกับบาร์เดี่ยวไว้และมีคนอีก 3 – 4 คนมาเกาะอยู่รอบตัวเรา เลือดจะไหลกลับลงศีรษะอย่างแรง ในขณะเดียวกันก็ยังคงต้องควบคุมเครื่องบินด้วยความแม่นยำ สัมพันธ์กับความสูงเหนือพื้นดินที่ไม่มากนัก จึงจะสามารถวาดภาพหัวใจบนท้องฟ้าได้อย่างสวยงาม ถ้าเป็นการแสดงบินผาดแผลงอื่นๆ ในโลกจะต้องใช้เครื่องบินอย่างน้อย 2 ลำ จึงจะสามารถวาดวาดหัวใจบนท้องฟ้าได้ แต่ครูเหยี่ยวสามารถทำได้เพียงลำเดียว
“แรงจี (G) หรือ Load factor โดยสภาวะปกติของโลกเรานั้นอยู่ที่ 1 จี (อัตราเร่ง = 9.8 m/s2) ร่างกายของมนุษย์เราสามารถดำรงอยู่ได้ตามปกติ โดยทั่วไปแล้วหากมนุษย์เราไม่ได้สวมชุดต่อต้านแรงจี (ซึ่งจะมีใช้กับนักบินขับไล่สมรรถนะสูงเท่านั้น) ร่างกายของเราจะสามารถทนต่อแรงจีได้ประมาณ 3 จี
"หากจะพอมองให้เห็นภาพก็คือเวลาที่เรานั่งเครื่องบินปกติแล้วมีการเลี้ยวนั้น สภาวะของเราในเครื่องบินจะอยู่ที่ประมาณ 1.1-1.2 จีเท่านั้น แต่เมื่อไรก็ตามที่เรานั่งอยู่ในเครื่องบินที่มีความเร็วค่อนข้างสูงและมีการเลี้ยวอย่างรุนแรง ตัวของเราก็จะถูกอัดเข้ากับที่นั่งอย่างแรงเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะรุนแรงมากถึง 8-9 จี (8-9 เท่าของภาวะปกติ) และแม้ว่าจะเป็นเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น แต่นั่นหมายถึงว่าทุกอย่างของร่างกายเราจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 8 - 9 เท่าของภาวะปกติ หากร่างกายเราไม่พร้อมหรือไม่แข็งแรงมากพอ เลือดจะไม่สามารถสูบฉีดขึ้นไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้เราหมดสติได้ในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น การบินผาดแผลง เป็นการบินที่มีการเปลี่ยนแปลงของท่าทางการบินไปมารุนแรงมาก ในบางครั้งแทบเกินร่างกายมนุษย์จะทนทานได้ โดยเฉพาะท่าบินที่เป็น Negative จี ต่างๆ เช่น Outside turn และ Outside loop ต่าง ๆ ร่างกายของเราจะอยู่ในสภาวะที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวไว้ข้างต้น เลือดและของเหลวในร่างกายจะถูกดันย้อนกลับขึ้นสู่บริเวณศีรษะทั้งหมด นั่นหมายถึงว่า บริเวณสมองของเราก็จะได้รับแรงดันของเลือดเข้ามามากกว่าปกติ ร่างกายของมนุษย์เราจะทนทานในสภาวะ Negative จี นี้ได้น้อยมากซึ่งเพียงแค่ -1 ถึง -2 จี เท่านั้น โดยปกติ การแสดงบินผาดแผลงนั้น Load factor จะอยู่ที่ประมาณ +9 ถึง -5 จี”
ขณะที่ร่างกายของนักบินกำลังอยู่ในสภาวะที่สุดขั้วเช่นนั้น ก็ต้องขับเครื่องบินให้บินไปตามท่าทางต่างๆ ในการแสดง และด้วยการบินที่ความสูงไม่มาก อันตรายมีอยู่ทุกจุด ทุกอย่างจึงต้องเป็นไปด้วยความสมบูรณ์
เพราะสามารถควบคุมทุกเงื่อนไขได้อย่างไม่มีข้อผิดพลาด นี่แหละคือสมญานามของครูเหยี่ยว ‘ESPER’ หรือ ‘ผู้เหนือมนุษย์’ อย่างแท้จริง
ขอบคุณภาพจาก
Thailand aviation photographers group
Vin wedding photography
และจากทุกท่านที่ได้ส่งภาพให้โดยไม่ประสงค์นาม