ควายน้ำจ.พัทลุงทยอยตาย ขาดแคลนหญ้า-แช่น้ำนาน

ควายน้ำจ.พัทลุงทยอยตาย ขาดแคลนหญ้า-แช่น้ำนาน

กลุ่มผู้เลี้ยงควายน้ำ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ครวญน้ำท่วมสูง ควายทยอยเสียชีวิต เหตุอดหญ้า-แช่น้ำเป็นเวลานาน

 เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดเนินดิน เพื่อใช้เป็นที่อาศัย

ในขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ยังคงท่วมขังพื้นที่บริเวณริมทะเลสาบพัทลุง-สงขลา เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มและพื้นที่รับน้ำ คงต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือนกว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ ส่งผลควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้เริ่มอดอาหาร ประกอบกับแช่น้ำมานานต่างทยอยตายลงเจ้าของควายต้องขายซาก ควายที่ตายไปในราคาตัวละ 3,000 บาท จากราคาปกติที่ 20,000 – 30,000 บาทต่อตัว

นายสมโชค คงมี อายุ 56 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ 3 ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง บอกว่า ตนเลี้ยงควายฝูงจำนวน 80 ตัว เมื่อเจอน้ำท่วมขังมาเมื่อวันที่ 3 มกราคม เป็นต้นมา ควายที่เลี้ยงไว้ได้ทยอยตายไปแล้ว จำนวน 20 ตัว ต้องขายซาก

โดยควายที่ตายไปในราคาตัวละ 3,000 บาท จากราคาปกติที่ 20,000 – 30,000 บาทต่อตัว สาเหตุที่ควายตายนั้นเพราะคอกถูกน้ำท่วมสูง ควายต้องยืนแช่อยู่ในน้ำนาน จะย้ายไปพื้นที่อื่นๆ ก็มีแต่น้ำท่วมขัง ประกอบกับควายไม่สามารถดำน้ำเพื่อกินหญ้าได้ จึงทยอยตายลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้กลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงควายในพื้นที่ ต.ทะเลน้อย และ ต.พนางตุง ควายได้ตายลงไปแล้วกว่า 50 ตัว และคาดว่าจะตายลงอีกเนื่องจากในพื้นที่กว่าน้ำกลับเข้าสู่สภาวะปกติคงอีกประมาณ 1 เดือน แต่หากมีฝนตกเพิ่มลงมาอีก ความเดือดร้อนของกลุ่มชาวบ้านที่เลี้ยงควายต้องยืดระยะเวลาออกไป จึงต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยขุดเนินดิน เพื่อใช้เป็นที่อาศัยของควายในช่วงหน้าน้ำ แก้ปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว

สำหรับพื้นที่ ตำบลทะเลน้อย และตำบลพนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ชาวบ้านประกอบอาชีพเลี้ยงควาย กว่า 30 ราย คาดว่ามีควายประมาณ 2,000 ตัว ส่วนใหญ่จะเลี้ยงแบบปล่อยฝูง โดยปกติในช่วงหน้าแล้ง ฝูงควายเหล่านี้ จะและเล็มหญ้าไปตามป่ากก และป่าพรุ แต่ในช่วงน้ำท่วม ควายไม่สามารถดำน้ำเพื่อกินหญ้าได้

ชาวบ้านต้องไปเก็บหญ้าที่ลอยอยู่ในน้ำที่ท่วม มาเป็นอาหารของควาย วันละ 3 รอบ บางส่วนต้องอพยพควายส่วนหนึ่ง มาอาศัยอยู่บนถนนสายทางเข้าบ้านหัวป่าเขียว ต.ทะเลน้อย บางส่วนอยู่ในป่าพรุระยะห่างจากถนนหลายกิโลเมตร จึงไม่สามารถอพยพมาได้ ควายต้องแช่อยู่ในน้ำ และเริ่มอดหญ้าเนื่องจากปริมาณควาย ที่ชาวบ้านเลี้ยงแต่ละรายมีจำนวนหลายตัว หญ้าที่ตัดมาจึงไม่เพียงพอ บวกกับความอ่อนแอของร่างกาย ทำให้ควายทยอยตายอย่างต่อเนื่อง