เตรียมปูพรมตรวจ'กรดหยดยาง' หลังพบโลหะหนัก

เตรียมปูพรมตรวจ'กรดหยดยาง' หลังพบโลหะหนัก

เตรียมปูพรมตรวจ “กรดหยดยาง” ในตลาดจ.อุดรธานี หลังพบโลหะหนัก

ที่ห้องประชุมพระพุทธบาท ชั้น 6 อาคาร ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายปราโมทย์ ธัญญพืช ปลัด จ.อุดรธานี นางกุลญดา ทอนมณี ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.อุดรธานี,นายสายันต์ หมีแก้ว นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 9,ตัวแทนจากการยางแห่งประเทศไทย จ.อุดรธานี,อุตสาหกรรม จ.อุดรธานี,เกษตร จ.อุดรธานี,เกษตรสหกรณ์ จ.อุดรธานี ร่วมประชุมตรวจสอบกรดซัลฟิวริก-กรดหยดยาง ที่ขายตามท้องตลาดและที่เกษตรกรใช้

นางกุลญดา ทอนมณี ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.อุดรธานี กล่าวว่า ในภาคอีสานนิยมใช้“กรดซัลฟิวริก”ซึ่งเป็นกรดสังเคราะห์ ที่ราคาถูกใช้สะดวก แต่มีสารตกค้าง ต่างจากทางภาคใต้ใช้“กรดฟอร์มิค”ซึ่งเป็นกรดอินทรีย์ และทางราชการรณรงค์ให้ชาวสวนใช้ แต่เมื่อ สนง.สิ่งแวดล้อม ภาค 9 สุ่มตรวจกรดซัลฟิวริกในท้องตลาด พบมีโลหะหนักเจือปนอยู่หลายตัว จึงถูกนำไปโยงกับปัญหาโรงยางเหม็น ที่ชาวบ้านร้องเรียนอยู่ในขณะนี้จึงสมควรให้มีการสุ่มตรวจทุกยี่ห้อ เพื่อให้เกิดความชัดเจน

นายสายันต์ หมีแก้ว นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 9 กล่าวว่า กรดหยดยางมีอยู่หลายยี่ห้อ ได้รับแจ้งจากโรงงานยางบางแห่งว่า กรดหยดยางที่นิยมใช้กันคือซัลฟิวริก อาจจะเป็นของเหลือจากอุตสาหกรรม จึงไปสุ่มตรวจที่วางขายในตลาด 1 ตัวอย่าง พบว่าเป็นกรดไม่บริสุทธิ์ มีโลหะหนัก อาทิ พบสิ่งเจือปนคือโลหะหนัก เช่น สารหนู,นิกเกิล,โครเมียม,เหล็ก,แมงกานีส และเซเลเนียม เจือปนอยู่ โดยเทียบเคียงการเจือปน กับมาตรฐานน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม หากน้ำกรดหยดยางทุกยี่ห้อ มีลักษณะเดียวกันจะเกิดการปนเปื้อนเป็นวงกว้าง

ขณะที่หน่วยงานต่างๆรายงานว่า ยังไม่เคยกำหนดมาตรฐานน้ำกรดหยดยาง ทำให้มีน้ำกรดหยดยางหลายยี่ห้อ ซึ่งมีส่วนผสมแตกต่างกันไป และส่วนใหญ่ไม่ระบุส่วนผสมในฉลาก โดยอุตสาหกรรมจะควบคุมกรดซัลฟิวริกได้ ต้องมีความเข้มข้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่มีจำหน่ายเป็นกรดเจือจางแล้ว,พาณิชย์จังหวัดควบคุม(ราคา)ได้เฉพาะสินค้าเกษตร 18 ชนิด ซึ่งมีเพียง“กรดมด”หรือกรดฟอร์มิคเท่านั้น,การยางแห่งประเทศไทย (กยท)อุดรธานี มีแผนให้โรงงานยางของ กยท. ที่อุดรธานี และนครพนม ซื้อยางก้อนถ้วยใช้กรดฟอร์มิค 100 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่ายางก้อนถ้วยราคาใช้กรดอื่น

นายปราโมทย์ ธัญพืช ปลัด จ.อุดรธานี สรุปผลการประชุมว่า วันพรุ่งนี้ (16 มีนาคม)ให้คณะทำงานชุดนี้ และเพิ่มตัวแทนกรมวิชาการเกษตร ร่วมออกตรวจสุ่มเก็บน้ำกรดหยดยาง ทั้งกรดซัลฟิวริก และกรดฟอร์มิค ทุกยี่ห้อในพื้นที่ อ.บ้านผือ,น้ำโสม และนายูง จำนวนยี่ห้อละ 3 ตัวอย่าง และแจ้งให้ทุกอำเภอสำรวจน้ำกรดหยดยาง ที่มีวางจำหน่วยทุกยี่ห้อ รายงานเข้ามายังคณะทำงานด่วน เพื่อพิจารณาหากเป็นยี่ห้อไม่ได้สุ่มเก็บมา จะได้ลงไปสุ่มเก็บมาเพิ่มเติม นอกจากการตรวจพบส่วนผสมของกรด และโลหะหนักแล้ว ให้ตรวจสอบแหล่งผลิต ทะเบียนการค้า ใบอนุญาตในการผลิตด้วย