เปิดเล่ห์จอมลวงโลก'ซินแสโชกุน'ลอยแพเหยื่อทัวร์ญี่ปุ่น

เปิดเล่ห์จอมลวงโลก'ซินแสโชกุน'ลอยแพเหยื่อทัวร์ญี่ปุ่น

เปิดเล่ห์ จอมลวงโลก "ซินแสโชกุน" ลอยแพเหยื่อทัวร์ญี่ปุ่น

เส้นทางการหลอกลวงกลุ่มผู้เสียหายของ “ซินแสโชกุน” หรือนางสาว พิสิษฐ์ อริญชญ์ลาภิศ เจ้าของ บริษัทเวลล์ เอฟเวอร์ ที่หลอกผู้เสียกว่า 2,000 คน ไปท่องเที่ยวยังเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก จากการสอบประวัติพบว่า นางสาวพิสิษฐ์เคยก่อเหตุในลักษณะนี้มาแล้ว 6 คดี มีการเปลี่ยนชื่อถึง 10 ครั้ง ..ทีมล่าความจริงจะพาไป เปิดเล่เหลี่ยมกลโกงของซินแสโชกุน ในการตุ๋นเหยื่อจนหลงเชื่อจำนวนมาก 

กลุ่มผู้เสียหายกว่า 30 คน เข้าแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปราม หลังถูกเครือข่ายของนางสาวพิสิษฐ์ อริญชญ์ลาภิศ หรือ ซินแสโชกุน เจ้าของบริษัทแชร์ลูกโซ่ เวลล์ เอฟเวอร์ หลอกขายทัวร์ไปท่องเที่ยวยังเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ในราคาตั้งแต่ประมาณ 9,000 - 20,000 บาท ระบุว่า เดินทางในวันที่ 11-16 เมษายน 2560 เป็นการเดินทางแบบเครื่องบินเช่าเหมาลำ แต่เมื่อมาถึงกลับไม่มีเที่ยวบิน ผู้เสียหายไม่สามารถเดินทางได้จนตกค้างอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กว่า 2,000 คน 

ผู้เสียหายรานี้ เปิดเผยถึงพฤติกรรมการหลอกลวงของเครือข่ายนี้ว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถูกชักชวนให้เป็นสมาชิกธุรกิจบริษัทเวลล์ เอฟเวอร์ โดยไม่ทราบว่าเป็นธุรกิจขายตรง โดยเสียค่าสมัครสมาชิก 850 บาท แต่หากต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นในราคาถูก ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 4,750 บาท ก่อนอ้างว่าจะเดินทางจริงในวันที่ 11-17 เมษายน 

เช่นเดียวกับผู้เสียหายรายนี้ที่ถูกหลอกให้ซื้อทัวร์เช่นกัน แต่จะแตกต่างที่ ผู้เสียหายรายนี้ซื้อแพคเกจทัวร์โดยตรง ซึ่งใช้วิธีการซื้อผ่าน “เทรดเดอร์” คือการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการผ่านทางเว็บไซด์ ซึ่งจะมีมูลค่าของสินค้านั้นๆ ที่เปรียบเป็นมูลค่าของเงิน ซึ่งผู้เสียหายรายนี้ซื้อทัวร์ผ่านทางเทรดเดอร์ ในจำนวนเงิน 20,000 บาท และโอนเงินสดให้กับแม่ข่ายอีก 10,000 บาท 

จากการตรวจสอบประวัติที่ปรากฎในโลกออนไลน์ ซึ่งระบุว่า เดิม ซินแสโชกุน ชื่อ นางสาวทฤษนันท์ นาคฤทธิ์ เริ่มโด่งดัง ด้วยการสร้างโปรไฟล์ให้ตัวเอง โดยรับดูดวงฟรี ตามเวบบอร์ดต่าง ๆ และเก็บคนที่ตัวเองทายแม่นไว้ใช้อ้างอิง สร้างชื่อเสียง จากนั้นตั้งตนเป็นซินแส รับดูดวงครั้งละ 300 บาท ก่อนจะมีการเปลี่ยนชื่อ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยผันตัวเองมาธุรกิจแบบสมัครสมาชิก จ่ายเงิน แล้วได้รับสิทธิ์ ซึ่งจะมีการเติมเงินเข้าระบบของบริษัท เปลี่ยนเป็นแต้ม PPV โดยหากใครทำแต้มถึงกำหนดจะได้ไอโฟนบ้าง จนถึงสามารถไปเที่ยวต่างประเทศในราคาสุดพิเศษ จนมีผู้หลงเชื่อลงเงินสมัครและยอมจ่ายเพิ่มเพื่อความหวังที่จะได้ไปเที่ยวราคาประหยัดก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น 

นี่จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่มีผู้เสียหายถูกหลอกในลักษณะนี้ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า นางสาวพิสิษฐ์ ก่อเหตุในลักษณะนี้ซ้ำ ๆ แล้วหลายครั้ง มีการเปลี่ยนชื่อและนามสกุลมากถึง 10 ครั้ง ซึ่งเบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อหา ฉ้อโกงประชาชน เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์สินของ ซินแสโชกุน มาเฉลี่ยคืนผู้เสียหายทุกคนให้ได้ เบื้องต้นประเมินความเสียหายไว้ที่ประมาณ 20 ล้านบาท 

ประวัติต้องคดีของ “ซินแสโชกุน” ปี 2555-2559 
20 มิถุนายน 2555 คดีฉ้อโกงทรัพย์ สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 
25 มกราคม 2557 คดีความผิดเกี่ยวกับเช็ค สภ.เมืองนนทบุรี 
21 มิถุนายน 2557 คดีฉ้อโกงทรัพย์ สน.ปทุมวัน 
29 ตุลาคม 2557 คดียักยอกทรัพย์ สภ.เมืองนนทบุรี 
3 มิถุนายน 2558 คดีฉ้อโกงประชาชน บก.ปคบ. 
3 กันยายน 2559 คดีฉ้อโกงทรัพย์ สภ.เมืองนครราชสีมา 

นอกจากนี้ยังพบว่า “ซินแสโชกุน” เคยถูกแจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2555-2559 รวม 6 คดี เป็นคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์ทั้งหมด ประกอบด้วย คดีฉ้อโกงทรัพย์ พื่นที่ สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คดีความผิดเกี่ยวกับเช็ค พื้นที่ สภ.เมืองนนทบุรี คดีฉ้อโกงทรัพย์ พื้นที่ สน.ปทุมวัน คดียักยอกทรัพย์ พื้นที่ สภ.เมืองนนทบุรี คดีฉ้อโกงประชาชน ที่กองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. คดีฉ้อโกงทรัพย์ พื้นที่ สภ.เมืองนครราชสีมา 

หมายจับ “ซินแสโชกุน” รวม 3 ครั้ง 
20 มิถุนายน 2555 ศาลแขวงสมุทรปราการ คดีฉ้อโกงทรัพย์ 
3 พฤศจิกายน 2558 ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีฉ้อโกงประชาชน 
24 สิงหาคม 2559 ศาลแขวงนครราชสีมา คดีฉ้อโกงทรัพย์ 

โดยถูกศาลอนุมัติหมายจับกุมรวม 3 ครั้ง คือ คดีฉ้อโกงทรัพย์ 2 ครั้ง และ คดีฉ้อโกงประชาชน 1 ครั้ง และถูกดำเนินคดีมาแล้วทั้งหมด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้จอมลวงโลกเกิดความเข็ดหลาบ ซ้ำยังก่อเหตุหลอกลวงเหยื่อหนักขึ้นกว่าเดิม