งานวิจัยจุฬาฯ “ตะขาบน้ำตก” ติดท็อปเทนสปีชีส์ใหม่โลก
จุฬาฯ สร้างชื่อก้องโลกอีกครั้ง ส่ง “ตะขาบน้ำตก” ขึ้นแท่น 1 ใน 10 สปีชีส์ใหม่ของโลก 2017 ประกาศต่อยอดร่วมมือกับสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ในการสกัดและใช้ประโยชน์จากพิษตะขาบ อีกหนึ่งความสำเร็จฉลองการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบรอบหนึ่งศตวรรษ
นักวิจัย สกว.จากจุฬาฯ สร้างชื่อก้องโลกอีกครั้ง ส่ง “ตะขาบน้ำตก” ขึ้นแท่น 1 ใน 10 สปีชีส์ใหม่ของโลก 2017 Top ten new species award by IISE พร้อมประกาศต่อยอดร่วมมือกับสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ในการสกัดและใช้ประโยชน์จากพิษตะขาบ อีกหนึ่งความสำเร็จฉลองการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบรอบหนึ่งศตวรรษ
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ร่วมกันแถลงข่าว “การประกาศ 2017 TOP TEN NEW SPECIES AWARD หรือ 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่ของโลกประจำปี 2017 โดยสถาบัน IISE (International Institute for Species Exploration) ของมหาวิทยาลัยแอริโซน่า สหรัฐอเมริกา จากการค้นพบตะขาบชนิดใหม่ของโลก โดย ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมคณะนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หลังเคยได้รับการประกาศให้ กิ้งกือมังกรสีชมพู เป็น 1 ใน 10 การค้นพบสปีชีส์ใหม่มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ.2008) ถือเป็นโอกาสในการร่วมฉลองการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบรอบ 100 ปี จุฬาฯ อีกด้วย
ภายในงานเดียวกัน ยังได้ประกาศความร่วมมือในการวิจัยต่อยอดด้านการใช้ประโยชน์จากพิษตะขาบ กับนักวิจัยจากสถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยมี ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามร่วมกับ ศ. น.สพ.ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร รองผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย
ศ. ดร.สมศักดิ์กล่าวว่า คณะนักวิจัยซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตจากหน่วยปฏิบัติการซิสเทแมติกส์ของสัตว์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันค้นพบตะขาบชนิดใหม่ของโลก มีถิ่นกำเนิดที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย ลาว และ เวียดนาม ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็น 2017 TOP TEN NEW SPECIES AWARD หรือ 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่ประจำปี ค.ศ. 2017 จากสถาบันนานาชาติเพื่อการสำรวจสิ่งมีชีวิต (International Institute for Species Exploration) หรือ IISE หลังจากที่เคยค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพู และได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบประจำปี ค.ศ. 2008 เป็นเวลาเกือบสิบปีมาแล้ว
ตะขาบชนิดใหม่ของโลกที่ค้นพบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scolopendra cataracta Siriwut, Edgecombe and Panha, 2016 อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ลำธารและน้ำตก เฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อ สปีชีส์ “cataracta” มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินแปลว่า “น้ำตก” จึงมีการเรียกชื่อตะขาบชนิดนี้ว่า “ตะขาบน้ำตก” หรือ “ตะขาบว่ายน้ำ” เนื่องจากจะหากินใกล้แหล่งน้ำดังกล่าว และบ่อยครั้งพบว่าจะจับเหยื่อในน้ำกินเป็นอาหาร ซึ่งลักษณะนี้เป็นลักษณะทางพฤติกรรมและนิเวศวิทยาที่ทำให้ตะขาบชนิดใหม่นี้แยกจากตะขาบแดงใหญ่หรือตะขาบบ้านได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
นอกจากนี้การพิสูจน์ทางด้านชีวโมเลกุลโดยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของดีเอ็นเอ ได้ช่วยยืนยันว่าตะขาบชนิดใหม่นี้มีความแตกต่างทางพันธุกรรมชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับตะขาบชนิดอื่นๆ อีก 7 ชนิด จึงนำไปสู่การแยกกันของสปีชีส์ ทั้งนี้ตัวอย่างต้นแบบของตะขาบชนิดใหม่นี้ที่เรียกว่า “โฮโลไทป์” (Holotype) ได้เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย
ตะขาบชนิดใหม่นี้พบตัวอย่างต้นแบบที่เขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย ผศ. ดร.จิรศักดิ์ สุจริต เมื่อปี 2556 และที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ประเทศลาว โดยมี ดร.วรุฒ ศิริวุฒิ ร่วมศึกษาวิเคราะห์ ผลงานวิจัยจากการค้นพบได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ชื่อว่า “ZooKeys” ในปี 2016 เป็นบทความขนาดใหญ่ถึง 124 หน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด โดยนำเสนอผลการวิจัยเชิงอนุกรมวิธานของตะขาบสกุล Scolopendra เป็นตะขาบที่มีขนาดใหญ่ รวมทั้งตะขาบแดงใหญ่ที่พบตามบ้านเรือนทั่วไป จัดเป็นสัตว์มีพิษที่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ และมีรายงานการถูกพิษตะขาบอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การวิจัยพื้นฐานชนิดของตะขาบโดยนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้ได้รู้ความหลากสปีชีส์ของตะขาบที่มีถึง 47 สปีชีส์ ซึ่งถือเป็นการรายงานครั้งแรกในประเทศไทย และยังพบว่าพิษของแต่ละชนิดมีความหลากหลายในเชิงขององค์ประกอบทางชีวเคมีของน้ำพิษ จึงทำให้ตะขาบต่างชนิดกันมีความสามารถในการล่าเหยื่อที่แตกต่างกัน บางชนิดพิษทำลายระบบกล้ามเนื้อ บางชนิดพิษทำลายระบบประสาท บางชนิดทำลายระบบเลือดของเหยื่อ
ตะขาบเป็นสัตว์มีพิษที่ภูมิปัญญาในอดีตได้ใช้ประโยชน์จากตะขาบ ได้แก่การใช้เป็นส่วนผสมในยาแผนโบราณ หรือตำรับยาจีนมาเป็นเวลาช้านาน อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์และตรวจสอบสรรพคุณทางยาในเชิงวิทยาศาสตร์ยังไม่มีรายงานมากพอที่จะสามารถนำไปใช้ต่อยอดองค์ความรู้ได้ ด้วยเหตุนี้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย จึงได้ผนึกกำลังร่วมมือกันทำวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมี และชีวเคมีของพิษตะขาบ เพื่อนำไปสู่การเป็นฐานของ “ธุรกิจชีวภาพ” ตามแนวทางของรัฐบาลไทย
ศ. ดร.สมศักดิ์ ระบุว่า คณะนักวิจัยได้รับทุนวิจัยสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สกอ. และ สกว. ภายใต้ทุนวิจัย “เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สกอ. ปัจจุบันมีแผนความร่วมมือในงานวิจัยเชิงบูรณาการจากฐานสปีชีส์ ฐานพันธุกรรม และฐานชีวเคมี ไปสู่ฐานการสร้างนวัตกรรมกับสถาบันวิจัยภายในประเทศ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับสถาบันและองค์กรต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน อาทิ Flora Fauna International (FFI) แห่งประเทศสหราชอาณาจักร พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาหลายแห่งทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เหล่านี้จะนำไปสู่ก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของการอนุรักษ์ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของชาติ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนสืบต่อไป
“งานวิจัยต่อไปคือ การศึกษาโปรตีนที่เป็นพิษในตะขาบ เพื่อนำมาต่อยอดการใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งทางการแพทย์ เช่น ทำเซรุ่มแก้พิษ ในทางการเกษตร เช่น ทำยาฆ่าแมลงหรือฆ่าปลวกโดยใช้ฐานชีวภาพที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม”
ด้าน ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวย้ำว่า ผลงานการค้บพบของ ศ. ดร.สมศักดิ์และคณะเป็นหัวใจสำคัญของตัวอย่างงานวิจัยพื้นฐานที่ดีและมีศักยภาพในการต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ มีผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติ แปลงงานวิจัยไปเป็นเงินได้