จุดยืนและความกังวล ของกลุ่มผู้นำประเทศทั่วโลกใน COP29
ประเทศพัฒนาแล้วเสนอการระดมทุนจาก 2 แหล่ง ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้องให้จัดสรรเงินช่วยเหลือในสัดส่วน 50:50 ประเทศด้อยพัฒนาซึ่งเสีย GDP สูงสุดถึง 5% เรียกร้องการสนับสนุนเร่งด่วน
การประชุมใหญ่ร่วมกันของ COP29, CMP19 และ CMA6 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2024 เวลา 19.00 น.-21.30 น. (เวลาท้องถิ่น) ภายในงาน COP29 ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน โดยเป็นส่วนหนึ่งของเซ็กเมนต์ระดับสูง ซึ่งมีตัวแทนรัฐบาลจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด กลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ปี 1992 และส่วนใหญ่ก็ได้เข้าร่วมข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี 2015 อีกด้วย
กลุ่ม Umbrella เสนอหาทุน 2 แหล่ง
ตัวแทนจากกลุ่มประเทศ Umbrella ที่ประกอบด้วยประเทศพัฒนาแล้ว คือ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ คาซัคสถาน นอร์เวย์ สหพันธรัฐรัสเซีย ยูเครน และสหรัฐอเมริกา กล่าวถึง เงินทุนเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ควรมาจาก 2 แหล่ง คือ Relevant Sources (แหล่งที่เกี่ยวข้อง) แหล่งครอบคลุมทุกช่องทางการเงินที่เป็นไปได้ จากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เช่น การลงทุนจากภาคเอกชน การบริจาคจากองค์กรการกุศล สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
และ Public Sources (แหล่งที่มาจากภาครัฐ) แหล่งที่มุ่งเน้นจากหน่วยงานรัฐบาล โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น งบประมาณของรัฐบาล กองทุนสภาพภูมิอากาศสาธารณะ ความช่วยเหลือทวิภาคีและพหุภาคี
"เราสนับสนุนและเป็นแกนหลักของเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal : NCQG) โดยประเทศของกลุ่ม Umbrella ที่ให้การเงินด้านสภาพภูมิอากาศอยู่แล้วให้คำมั่นว่าจะทำเช่นนั้นต่อไป และประเทศใหม่ๆ ที่มีความสามารถ จะต้องก้าวขึ้นมาเพื่อสนับสนุน อย่างไรก็ตาม เราขอให้ NCQG อิงตามชุดนโยบายและองค์ประกอบเชิงคุณภาพที่ครอบคลุมรวมถึงการเข้าถึง ความยั่งยืนของหนี้สิน นโยบายและสิ่งจูงใจ และอื่นๆ"
BASIC กีดกันการดำเนินงานอย่างอิสระ
ตัวแทนของกลุ่มประเทศ BASIC ที่ประกอบไปด้วย บราซิล, แอฟริกาใต้, อินเดีย, และจีน กล่าวว่า COP จะครบรอบ 30 ปี การเดินทางร่วมกันในสามทศวรรษนี้มีทั้งขึ้นและลง เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นและการแบ่งแยก แต่กลุ่ม BASIC ก็มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เป็นกองกำลังที่สร้างเสถียรภาพของโลก โดยเฉพาะในประเทศทางใต้ของโลก เพื่อเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
NDCs (Nationally Determined Contributions) ซึ่งเป็นแผนการมีส่วนร่วมที่กำหนดระดับชาติของประเทศต่าง ๆ ควรทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กลุ่มประเทศ BASIC ขอย้ำว่าประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงสูงที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการปรับตัว เราขอเรียกร้องให้มีการจัดสรรทรัพยากรอย่างสมดุล โดยขอให้ประเทศที่พัฒนาแล้วเพิ่มการจัดสรรทรัพยากรให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาจากระดับปี 2019 ภายในปี 2024 และมีแผนที่ทางที่ชัดเจนไปสู่การจัดสรรเงิน 50:50 ระหว่างเงินสำหรับการปรับตัว และสำหรับการบรรเทาผลกระทบ
“เราขอย้ำว่ามาตรการที่ใช้ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมาตรการฝ่ายเดียว ไม่ควรเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่มีเหตุผลหรือข้อจำกัดที่ไม่มีความเป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ เราขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมมือกันในแนวหน้าเดียวเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราตั้งใจที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้รับผลกระทบในทางลบจากมาตรการฝ่ายเดียวที่ทำให้การพหุภาคีลดลงและคุกคามการพัฒนาที่ยั่งยืน”
กลุ่ม BASIC มีความกังวลไม่น้อยเกี่ยวกับการเกิด 3 แนวโน้มนี้ ได้แก่ Unilateralism (การกระทำฝ่ายเดียว) ที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะดำเนินการอย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องการความร่วมมือหรือการเห็นชอบจากประเทศอื่น ๆ, Trade Protectionism (การปกป้องการค้า) ที่ใช้เพื่อจำกัดการนำเข้าจากประเทศอื่น, และ Fragmentation (การแตกแยก) ขาดความร่วมมือระหว่างประเทศ
สิ่งดหล่านี้จะทำลายความไว้วางใจและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ดัวนั้น กลุ่ม BASIC ขอเรียกร้องให้เกิดความเป็นเอกภาพทั่วโลกเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีประเทศ พื้นที่ หรือบุคคลใดถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
EU ผลักดันความเท่าเทียม
ตัวแทนของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่มีสมาชิก 27 ประเทศ กล่าวว่า การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่มีประโยชน์หลากหลายต่อสังคม ความเป็นอยู่ และความมั่นคง
แต่นโยบายปัจจุบันกำลังนำพาเราไปสู่ภาวะโลกร้อนที่ 3.1°C และพวกเรากลัวผลกระทบจากการไม่ดำเนินการใดๆ หลังจาก COP28 ที่ดูไบ EU ทำหน้าที่ของตนเองด้วยการดำเนินการตาม Global Stocktake (GST) ภายในประเทศและระหว่างประเทศ ให้มีความก้าวหน้า น่าเชื่อถือ และสอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5°C
บทบาทของเศรษฐกิจหลักที่เข้าร่วมการประชุมผู้นำและ G20 เป็นสิ่งสำคัญ COP28 ได้เสริมสร้างความไว้วางใจของโลกในความร่วมมือพหุภาคี COP29 ต้องส่งสัญญาณว่าเราทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยตอบสนองร่วมกันต่อการดำเนินการ GST อย่างเต็มที่ วางรากฐานสำหรับรอบถัดไปของ NDCs เห็นพ้องกับผลลัพธ์ที่ทะเยอทะยานและเป็นจริงเกี่ยวกับการเงิน สรุปการเจรจาภายใต้มาตรา 6 และบรรลุความก้าวหน้าที่จำเป็นที่สุดในด้านการลดผลกระทบและการปรับตัว
“เราไม่อยากให้มีการละเลย เรื่องของการดำเนินงานทางด้านความเสมอภาคด้านเพศที่ COP29 ควรต้องทำให้เข้มแข็งขึ้นและมีแผนการดำเนินการด้านเพศที่ชัดเจน และต้องยอมรับการตัดสินใจเกี่ยวกับการทบทวนแพลตฟอร์มชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมือง EU จะยังคงเดินหน้าส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลก รวมถึงส่งเสริมสิทธิมนุษยชน”
อาหรับกังวลบางประเทศถอนตัว
ตัวแทนแถลงการณ์ในนามของ 22 ประเทศในสันนิบาตอาหรับ กล่าวว่า กลุ่มประเทศอาหรับยังคงยึดมั่นในหลักการของ UNFCCC ได้แก่ หลักการความรับผิดชอบร่วมแต่แตกต่างกัน (CBDR) และควรนำไปปฏิบัติตามมาตรการที่ตกลงกันไว้ นอกจากนั้น ขอให้ดูแบบอย่าง "UAE Consensus” ที่ริเริ่มที่ COP28 ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส
สันนิบาตอาหรับย้ำว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องแสดงความรับผิดชอบตามมาตรา 9 ของข้อตกลงปารีส ในการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อดำเนินแผนการของประเทศให้สำเร็จในเรื่องความมั่นคงด้านสภาพภูมิอากาศ กลุ่มประเทศอาหรับมอยึดหลักการความยุติธรรม
และหลัก CBDR ที่ประเทศต่าง ๆ ต้องแสดงความรับผิดชอบร่วมกันของประเทศต่างๆ แต่ก็ยอมรับการแสดงความรับผิดชอบที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับของการพัฒนาและศักยภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ รวมถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศและการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้พวกเขาสามารถบรรลุ NDCs ของตน
“เรารู้สึกกังวลที่เห็นบางประเทศถอนตัวจากความก้าวหน้าที่ได้รับใน COP28 ที่ดูไบ และเราสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ กลับมาอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องใน COP29 ที่บากู”
แอฟริกาสูญเสีย GDP 5%
ตัวแทนกลุ่มประเทศแอฟริกา ในนามของ 54 ประเทศ กล่าวว่า มีความกังวลหลายประการ โดยประการแรก คือกังวลกับความพยายามของบางฝ่ายในการเจรจาใหม่เกี่ยวกับพันธสัญญาที่เผยแพร่ภายใต้อนุสัญญาและข้อตกลงปารีสผ่านการอภิปรายที่แยกผู้ให้และผู้รับ ประการที่สอง ปี 2023 ประเทศในแอฟริกาสูญเสีย GDP สูงสุดถึง 5% โดยหลายประเทศทุ่มเทสูงสุดถึง 9% ของงบประมาณชาติในการแก้ไขผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ
ดังนั้น หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสมด้านเงินช่วยเหลือ ประชาชนที่ยากจนมากกว่า 118 ล้านคนในแอฟริกาอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงจากภัยแล้ง น้ำท่วม และความร้อนจัด ภายในปี 2030 ทั้งนี้ในปี 2023 เพียงปีเดียว ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศทำให้คนกว่า 5.7 ล้านคนต้องพลัดถิ่นทั่วทวีป นอกจากนั้น การเคลื่อนย้ายมนุษย์ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมภายในกระบวนการ UNFCCC
ในด้านการปรับตัว กลุ่มประเทศแอฟริกากังวลกับความก้าวหน้าที่ช้าของโครงการทำงาน Nairobi เรื่องตัวชี้วัด และเชื่อว่า COP29 ควรให้เกณฑ์และแนวทางเพิ่มเติมแก่ผู้เชี่ยวชาญในการให้กรอบการทำงานของตัวชี้วัด